สื่อสิ่งพิมพ์-เน็ตกระตุ้นพนันบอล

การนำเสนอลักษณะนี้มีความสัมพันธ์ต่ออัตราการเติบโตของผู้เล่นพนันอย่างมาก  และจะเห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์สามารถนำเสนออย่างเปิดเผย  ขณะที่ไม่มีหน่วยงานใดควบคุมอย่างชัดเจน…

จากการประชุมวิชาการเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา “การพนันทายผลฟุตบอล” ในสังคมไทย จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้ศึกษาโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม กล่าวว่า จากการศึกษาเชิงข่าว คอลัมน์ บทความ โฆษณาจากหนังสือพิมพ์ระดับประเทศและหนังสือพิมพ์กีฬา พบมีการนำเสนอที่หลากหลาย บางฉบับนำเสนออัตราต่อรอง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กีฬา มีการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการพนัน โดยเขียนว่าทีมใดเป็นตัวเต็ง เสนอราคาต่อรอง การนำเสนอลักษณะนี้มีความสัมพันธ์ต่ออัตราการเติบโตของผู้เล่นพนันอย่างมาก และจะเห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์สามารถนำเสนออย่างเปิดเผย ขณะที่ไม่มีหน่วยงานใดควบคุมอย่างชัดเจน ส่วนสื่อโทรทัศน์ก็มีการวิเคราะห์เกม จับรางวัลทายผล นอกจากนี้ ยังมีการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ การพนันผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตก็ยังมีช่องโหว่ในการบังคับใช้กฎหมาย หากแบ่งเนื้อหาสื่อกีฬาจะพบ 4 กลุ่ม 1. กลุ่มที่ให้ข้อมูลโดยไม่สามารถใช้ในการพนันได้ 2. ต้องอาศัยตีความ 3. ข้อมูลใช้ในการพนันได้ เช่น ราคาต่อรอง และ 4. เว็บไซต์ พนันบอล นอกจากนี้ในปี 2008 ตนรวบรวมผู้มีชื่อเสียงทั้งผู้ประกาศข่าว นักพากย์กีฬา พบถึง 70 คนที่สื่อสารให้ทางส่งเสริมให้เกิดการพนัน

ผศ.ดร.กิตติ กันภัย อาจารย์ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากเสนอให้ปรับเปลี่ยนวาทกรรม เช่น วัฒนธรรมที่ใช้ในเชิงลบ ควรใช้คำว่าหายนะธรรม ส่วนคำว่าทาย ควรใช้ว่า พนัน เพื่อให้เกิดการรับรู้ว่าเป็นไปในเชิงลบ และทำอย่างไรให้สภาวิชาชีพมีความกล้าในการควบคุมสื่อด้านจริยธรรมมากกว่านี้ เช่น ออกแถลงการณ์ประณามสื่อที่ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างแท้จริง

นายชาญวิทย์ ผลชีวิน ผอ.สถาบันพัฒนาบุคลากรการพลศึกษาและการกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่กลุ่มที่ไม่ใช่สื่อ แต่อาศัยสื่อเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงการพนัน นอกจากนี้ที่น่าห่วงเยาวชนเกี่ยวข้องกับการพนันมากขึ้นทั้งเล่นเอง แทงเอง บางรายถึงขั้นล้มพนัน และไม่เฉพาะผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็เล่นพนันมากขึ้น รวมทั้งเว็บไซต์พนันบอลก็มาก แต่ควบคุมไม่ได้

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code