สื่อสารเชิงบวก สร้างสัมพันธ์ดีในครอบครัว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
หลายปัญหาที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ อาจมาจากการสื่อสารที่ไม่ดีพอ ซึ่งการสื่อสารเชิงบวกเป็นการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ สร้างความรู้สึกที่ดี สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเด็กและเยาวชนได้อย่างสร้างสรรค์
"สร้างสรรค์สังคม ด้วยการสื่อสาร" เป็นแนวคิดในการทำงานของ ของ Toolmorrow แพลตฟอร์มด้านสังคมที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ การใช้สารเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ นำเสนองานผ่านรูปแบบการทดลองทางสังคม (Social Experiment) โดยหยิบเอาความเชื่อผิด ๆ ของเยาวชนมาทดลองเพื่อสร้างการตระหนักรู้และปรับทัศนคติ อันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวกในอนาคต
"สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์" ผู้ก่อตั้งบริษัท ทูลมอโร จำกัด (Toolmorrow ) ผู้อยู่เบื้องหลังไอเดีย และความสำเร็จของไวรัลคลิปเพื่อสังคมมากมาย ระบุว่า เพราะ Toolmorrow มีแนวทาง เป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน เริ่มต้นจากการวิจัย วางกลยุทธ์ ออกแบบสื่อ หรือ ออกแบบกิจกรรมเพื่อทำลายความเชื่อผิด ๆ และปรับความคิด "ชุดใหม่" อย่างมีมิติผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ให้กับกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ พฤติกรรม และสังคมให้ดีขึ้น
โดยเริ่มต้นร่วมขบวนการสุขภาพด้วยการเป็นหนึ่งภาคีเครือข่ายด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยแนวคิดที่อยากจะทำโครงการในรูปแบบที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้ และเกิด "รอลูกเลิกเรียน" เป็นการเรียนรู้ร่วมกันผ่านออนไลน์ หวังให้เกิดการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว
ย้อนไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน ได้ร่วมงานกับ สสส. ครั้งแรกในการทำคลิปรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องเพศ ท้อง กฎหมายต่าง ๆ ผ่านโครงการเกี่ยวกับสร้างครอบครัวให้มีความสุข "Happy Family" โดย Toolmorrow เป็นผู้ทำคลิปสร้างการตระหนักรู้ ซึ่งคลิปดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จ มีผู้ที่ติดตามส่งข้อความเข้ามาในเพจ Toolmorrow ว่าอยากให้พ่อ แม่ เหมือนในคลิปดังกล่าว แต่ Toolmorrow ยังมองการทำคลิปอย่างเดียวมันยังไปไม่ "สุด" ถ้าให้ดีต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ด้วย
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการนำเสนอแนวคิดในการทำโครงการที่เป็นช่องทางให้พ่อแม่สามารถฝึกฝนตัวเอง ผ่านออนไลน์ เทรนนิ่ง "คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน" ลดความยุ่งยากในการเข้าอบรม แบบออนไซต์ ที่ต้องเดินทาง ต้องลางานลงได้ ซึ่งทำต่อเนื่องมาถึง 3 ปี ร่วมกับกิจกรรมอื่นเช่น เรื่องเพศ เรื่องบุหรี่ เป็นต้น
"สุรเสกข์" เล่าว่า โครงการ "คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน" ของ Toolmorrow จะเป็น "Group Sharing" ในโลกออนไลน์ กลุ่มเล็ก ๆ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีการแบ่งปันประสบการณ์ สนับสนุนเครื่องมือให้ มีการวัดผลการเปลี่ยนแปลง โดยนำประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครองมาเป็นโจทย์ในการจัดการอบรม กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ รับฟังกัน เข้าใจกัน เรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน มีระบบให้ผู้ที่ผ่านปัญหาได้แล้วมาเป็นผู้แชร์ประสบการณ์ และเป็นผู้นำกลุ่ม ให้พ่อแม่ได้ช่วยเหลือกันจริง ซึ่งจากการทำงานพบว่าปัญหาอันดับ 1 ที่พ่อแม่สนใจ คือ เรื่อง "มือถือ" และการ "ติดออนไลน์" ของลูก จึงได้เน้นปัญหาเหล่านี้เป็นสำคัญ และดำเนินการต่อไปอีกสักระยะ
'สิ่งที่เกิดขึ้น และสร้างความภูมิใจให้กับคนทำงานอย่างมาก คือ แม้พ่อแม่จะเข้ามาด้วยปัญหาของลูกว่าไม่เชื่อฟัง ลูกไม่น่ารักเหมือนเดิม ซึ่งเดิมผู้ปกครองอาจจะมีการดุด่าว่ากล่าว แต่ไม่ได้ผล สัมพันธภาพในครอบครัวก็ไม่ดี แต่เมื่อผ่านการเรียนรู้กลุ่มแล้ว พ่อแม่สามารถมีวิธีการหรือทักษะแบบใหม่ที่จะเข้ากับลูก สัมพันธภาพในบ้านดีขึ้น บ้านกลับมีความสุขมากขึ้น" สุรเสกข์ กล่าวอย่างภูมิใจ
สำหรับในห้วงเวลาของการระบาดโควิด-19 นั้น สุรเสกข์ มองว่า ส่งผลกระทบต่อทุกคนแน่ ๆ ในส่วนของครอบครัวส่งผลกระทบต่อรายได้ เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตเรื่อย ๆ และเมื่อชีวิตไม่มีความมั่นคง เกิดการสั่นคลอน ความกลัว ความวิตกกังวล ความเครียดเกิดขึ้น จึงต้องการใครสักคนที่จะสามารถระบายหรือสนับสนุนเขา ซึ่งบางครอบครัวสามารถเติมเต็มตรงนี้ให้กันได้ แต่ยังมีอีกหลายครอบครัวที่เล่า หรือระบายให้คนในครอบครัวฟังไม่ได้ เพราะอาจจะถูกคนในบ้านซ้ำเติม หรือพูดแล้ว ลูกไม่คุยด้วย
ดังนั้นการมีพื้นที่ "Group Sharing Online" จึงมาถูกที่ถูกเวลาพอดี หากมีปัญหาที่ไม่สามารถปรึกษาใครได้ ทาง Toolmorrow ก็มีแคมเปญเพื่อสื่อสารว่าหากต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีรูปแบบการอบรมผ่านออนไลน์แบบ Support Group ซึ่งยังถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคม เพราะเดิมเมื่อคนมีปัญหาจะนึกถึงไม่กี่อย่าง เช่น ไปวัด ไปหาหมอดู ไปเที่ยว ไม่ได้นึกถึงนักจิตวิทยา การบำบัดกลุ่มหรือการแชร์ประสบการณ์ร่วมกันกับผู้อื่น เพื่อสร้างการเรียนรู้
"เป้าหมายของการดำเนินการโครงการร่วมกับ สสส. ในประเด็นเรื่องเด็กและครอบครัวนั้น ปลายทางสูงสุดที่ร่วมกันอยากให้สัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น อยากเปลี่ยนบรรยากาศในบ้านที่มีแต่เสียงด่ากัน ทะเลาะกัน พูดจาแย่ ๆ ใส่กัน มาเป็นการสื่อสารด้วยวิธีการเชิงบวกที่สร้างสรรค์มากขึ้น" สุรเสกข์ กล่าว
ท้ายที่สุด สุรเสกข์ บอกว่า การได้ทำงานร่วมกับ สสส. ต้องชื่นชมในวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร สสส. ที่ให้โอกาสโครงการในเชิงนวัตกรรมแบบนี้ เพราะว่าในช่วงแรกมีแต่คนมองว่าโครงการไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ สสส. มีความพยายามผลักดัน และเห็นว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม และขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตได้