‘สื่อสารเชิงบวกในบ้าน’ ป้องกันปัญหาได้ทุกเรื่อง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
บ้านเป็นสถาบันเล็ก ๆ ที่ประกอบด้วย คนหลายคนในครอบครัว หากคนในครอบครัวได้รับการเติมเต็มความรัก ความเอาใจใส่ ความรู้ และทักษะการดำเนินชีวิตอย่างดีและรอบด้านจาก พื้นฐานที่เรียกว่าบ้านจนหนักแน่น เมื่อถึงเวลาต้องออกสู่โลกนอกบ้าน ก็ช่วยคลายความกังวลได้อยู่ไม่น้อย
เมื่อไม่นานมานี้ ภายในงานประชุมระดับชาติสุขภาวะทางเพศ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของบ้านที่เป็นพื้นฐาน ของการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ จึงได้เปิดเวทีเสวนาย่อยในประเด็น "การทำงานกับพ่อแม่ 3 Setting : โรงเรียน ชุมชน สถานประกอบการ สื่อสารเชิงบวกในบ้าน ป้องกันปัญหาได้ทุกเมื่อ" เพื่อแลกเปลี่ยนนำเสนอแนวทางการทำงานในประเด็นต่าง ๆ ที่มีเด็กและครอบครัวเป็นที่ตั้ง สู่การส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ และสุขภาวะทางเพศ
ดิเรก ตาเตียว เจ้าหน้าที่โครงการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวพนักงานของสถานประกอบการที่มีลูกเป็นเด็กและวัยรุ่น มูลนิธิแพธทูเฮลท์ เล่าว่า โครงการสื่อสารเชิงบวกฯ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างสุขในครอบครัว Happy Family ที่ช่วยสร้างทัศนคติบวกต่อการดำเนินชีวิต การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีต่อครอบครัว องค์กร และสังคม เพื่อขยายครอบครัวอบอุ่น และปลูกฝังนิสัยรักครอบครัว เกิดขึ้นมาจากโครงการสร้างสุขในที่ทำงานหรือ Happy Workplace ของ สสส. ที่เล็งเห็นว่า หากพนักงานในองค์กรมีความสุขทั้งจากการทำงานและชีวิตส่วนตัวก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพและคุณภาพการทำงาน รวมถึงลดอัตราการขาดลามาสายของพนักงานได้เป็นอย่างดี เช่น เมื่อวานทะเลาะกับภรรยา ตีลูก พูดจารุนแรงและใช้อารมณ์กับหลาน ในวันต่อมาเมื่อถึงเวลาทำงานปัญหาเหล่านี้อาจยังวนเวียนอยู่ในความคิดและจิตใจ ทำให้ไม่โฟกัสกับการทำงานได้อย่างเต็มที่
ดิเรก เล่าต่อว่า กิจกรรมหลัก ๆ ที่ใช้ในโครงการคือการเปิดห้องเรียนพ่อแม่ ที่มูลนิธิฯ ร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดชุมชน โรงเรียน โรงงาน สถานประกอบการ เพื่อจัดอบรม ให้เทคนิค คำแนะนำ คำปรึกษา และ Workshop ทั้งในบทบาทของเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อเชื่อมช่องว่างความสัมพันธ์ที่เกิดจาก สิ่งเล็ก ๆ ที่ถูกมองข้าม อย่างคำพูด การใช้น้ำเสียง ท่าทางที่แสดงออก และทัศนคติมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากพบว่าผลสำรวจของ เด็กไทยถึงร้อยละ 98 อยากคุยปรึกษา เรื่องราวปัญหากับพ่อแม่และคนในครอบครัว แม้หากมีเพียงหนึ่งคนที่เด็กสามารถแชร์ความรู้สึกและเรื่องราวเหล่านั้นได้ ก็ถือว่าบ้านหลังนั้นได้รู้มุมมองความคิดและปัญหาที่จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกันแก้ปัญหาหาทางออกของเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยที่สุด
สำหรับตัวแทนจากฝั่งของครอบครัว พันธุ์ศักดิ์ โรจน์วาธรรม วิทยากรเครือข่ายครอบครัว ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ในฐานะพ่อและนักขับเคลื่อนว่า การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนทุกเจเนอเรชั่น โดยตนรู้สึกโชคดีที่ได้ร่วมงานกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ที่ใช้หลักสูตรเพศวิถีมาจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้ครู ผู้ปกครอง โรงพยาบาล แกนนำอาสาสมัครจากหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชนได้ลงพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า ประเด็นการสื่อสารมีหลายมิติ ซึ่งนอกจากการสื่อสารด้วย คำพูดแล้ว การฟังก็เป็นหนึ่งในการสื่อสาร ที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
"เวลาฟังให้ฟังอย่างมีสติ คิดบวก พูดบวก ถามไถ่ และใช้ภาษากายบ้าง ก็จะทำให้ทุกความสัมพันธ์เดินหน้าต่อไปได้ดี จากหลักสูตรเพศวิถี ชวนให้กลับมาคิดที่ตัวเองก่อนนำไปสู่การพัฒนาตนเอง ส่วนหลักสูตรเส้นชีวิต ชวนให้กลับมาคิดถึงธรรมชาติของมนุษย์แต่ละช่วงวัย อย่างวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง ชอบความ ท้าทาย ยิ่งในปัจจุบันเด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว แน่นอนว่าผู้ใหญ่อย่างเราไม่สามารถห้ามได้ ดังนั้นเราจึงต้องหาวิธีเพื่อทำให้เด็กเข้าถึงข้อมูลอย่างเข้าใจ ถูกต้อง ปลอดภัย และป้องกันโรค" นายพันธุ์ศักดิ์ ฝากทิ้งท้าย
ส่วนตัวแทนจากฝั่งชุมชน ละไม เพ็งสวัสดิ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการสำนักงานสาธารณสุข อ.บางสะพาน แกนนำ 'บางสะพานโมเดล' จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสริมว่า ในพื้นที่ได้ใช้การสื่อสารเชิงบวกมาบูรณางานลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จากความร่วมมือของท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น ครู ครอบครัว และ อสม. โดยครั้งแรก เปิดห้องเรียนพ่อแม่ที่ ต.ร่อนทอง โดยแบ่งห้องอบรมเฉพาะผู้ปกครองและนักเรียน ก่อนที่จะมาละลายพฤติกรรม เปิดใจและความคิดร่วมกัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์พัฒนาครอบครัวท้องถิ่นมาร่วมเป็นวิทยากรเปิดมุมมอง มีครูช่วยจับประเด็นสะท้อนปัญหา แม้ในช่วงแรกชาวบ้านจะบอกว่าเหมือนการชี้โพรงให้กระรอกเพราะเน้นในนักเรียนชั้นประถม แต่เมื่อขับเคลื่อนมาเรื่อย ๆ ก็ทำให้ปี 2559 มีครอบครัวเข้าร่วมกว่า 700 ครอบครัว ขยายช่วงชั้นไปถึงมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปวช. และ กศน.
"พ่อแม่บางคนบอกว่าขอบคุณมาก ๆ ที่ทำให้ได้ลูกคนเดิมกลับคืนมา เพียงแค่ เปลี่ยนวิธีคิด วิธีพูดคุย ทำให้ทั้งสองฝ่าย เข้าใจและเชื่อมกันติดมากขึ้น ลูกไม่เกเร ผลการเรียนดีขึ้น พ่อแม่ก็กังวลน้อยลง ว่ากล่าวตักเตือนน้อยลง ที่สำคัญยังเป็นจุดสำคัญที่ลดสถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จนทำให้เกิดบางสะพานโมเดล มองว่าเรื่องการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวเหมือนกับการทำงานป้องกันท้องในวัยรุ่น เพราะหากผู้ใหญ่ไม่เปิดใจปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ไข เด็กก็จะไม่รู้จักวิธีป้องกัน เมื่อเด็กคุยกับผู้ใหญ่ไม่ได้เขาก็เลือกที่จะคุยกันเองแล้วอาจจะนำสู่หนทางที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องพลิกโอกาสที่ทำให้เด็กรู้จักวิธีมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย ปลอดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากเดิมที่เคยตีตราก็เป็นการทำงานในเชิงรุก เปิดจุดบริการแจกถุงยางอนามัยฟรี เปิดระบบบริการ One Stop Service ให้พ่อแม่พาลูกมาฟังยาคุมได้ที่โรงพยาบาลรับบริการจบในจุดเดียว" แกนนำบางสะพานโมเดล เล่า
ด้าน ว่าที่ร้อยเอกบุญเสริม หัตประสม รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 5 (วัดหัวป้อมนอก) อ.เมือง จ.สงขลา กล่าวถึงบทบาทการทำงานว่า ในระยะแรกโรงเรียนฯ ทำโครงการ สานสัมพันธ์บ้าน-โรงเรียน ให้ครูเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคน เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ ทราบปัญหาและพฤติกรรมเด็กจากทั้ง 2 ฝ่าย และการมีส่วนร่วมระหว่างครูกับผู้ปกครอง ในระยะต่อมาได้จัดกิจกรรมเปิดห้องเรียนพ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่แต่ละคนได้รู้จักกันและทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เล่าเรื่องราวย้อนรอยชีวิตของตนเอง เล่าวิธีลงโทษตักเตือนลูก รวมถึงส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวก ไม่ใช้น้ำเสียงรุนแรง การเลือกใช้คำพูด การกอด แตะบ่าลูก เป็นต้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม กล้าคุยกันในครอบครัวมากขึ้น เกิดเครือข่ายพ่อแม่ และนักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น นอกจากนี้ยังลดปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาชู้สาว และปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น
ประเด็นการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะเรื่องนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน แต่ยังเป็นพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับ เรื่องอื่นทั้งที่ดีและไม่ดีได้ เช่น เรื่องเพื่อน เรื่องแฟน ปัญหาการ ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การเลือกเรียนต่อ การเจ็บป่วยทางสุขภาพ เป็นต้น เพียงแค่คนในบ้านพร้อมที่จะคุยกันอย่างเปิดใจ พร้อมให้คำแนะนำที่ดี เชื่อว่าเด็กไทยจะต้องเติบโตอย่างมีภูมิคุ้มกันทางความคิดที่ดีแน่นอน