สื่อสาธารณะตัวแปรทิศทางสื่อไทย
ที่มา : สยามรัฐ
ภาพโดย สสส.
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับองค์กรInternational Public Television (INPUT),สถาบันเกอเธ่, ไทยพีบีเอส, สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจกรรมโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมนานาชาติ "International Public Television Conference2019 (INPUT 2019)" เพื่อให้ผู้ผลิตสื่อสาธารณะจากทั่วโลกมาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และกำหนดทิศทางของสื่อสาธารณะในอนาคต
นพ.ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าสสส.เข้ามาร่วมในการประชุมครั้งนี้ในฐานะองค์กรที่ให้การส่งเสริมด้านสุขภาพในปัจจุบันสื่อโทรทัศน์มีบทบาทและอิทธิพลมาก การนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพให้เข้าถึงประชาชนจะต้องอาศัยผู้ผลิตสื่อที่เข้าใจบริบทแวดล้อม ปัญหาสังคม และสุขภาวะจึงจะผลิตเนื้อหาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะ ที่มีทั้งความคิดสร้างสรรค์ไม่น่าเบื่อ และสอดแทรกสาระ
นพ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวว่า INPUT เป็นองค์กรที่ส่งเสริมด้านสื่อโทรทัศน์สาธารณะ การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทำให้ผู้ผลิตต้องทำความเข้าใจกับผู้ชมในยุคนี้ ทั้งเนื้อหาวิชาการและบริบทที่เปลี่ยนไป ซึ่งประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมในครั้งนี้จะเป็นการหาทางออกร่วมกันในการกำหนดทิศทางของสื่อในอนาคต
ทางด้านนางสาวจูดี้ แทมผู้อำนวยการการจัดการประชุม INPUT2019 กล่าวถึงความรับผิดชอบของผู้ผลิตสื่อสาธารณะที่จะต้องตระหนักถึงว่า ในปัจจุบันมีช่องทางการนำเสนอสื่อหลากหลายทำให้ผู้ผลิตจะต้องปรับกลยุทธ์ในการนำเสนอให้สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป้าหมายหลักของ INPUT คือการพัฒนาศักยภาพ ขีดความสามารถในการเล่าเรื่องของผู้ผลิต และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองต่อสื่อของแต่ละประเทศ
"การจัดงาน INPUT 2019อยู่ภายใต้แนวคิด'Storytelling in Public Interest' การเล่าเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย ที่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการรับชมภาพยนตร์กว่า 85 เรื่อง จาก 34 ประเทศ โดยการจัดงานที่หมุนเวียนไปยังประเทศต่าง ๆ จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานมีประสบการณ์ที่หลากหลายและเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพมากขึ้น ทั้งนี้การเล่าเรื่อง ผ่านสื่อสาธารณะในประเทศที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ผู้ผลิตสื่อจะต้องตระหนักถึงประโยชน์ที่มีต่อสังคมหรือส่วนรวมในบริบทที่แตกต่างกันด้วย" นางสาวจูดี้กล่าว
ทางด้านรศ.วิลาสินี พิพิธกุลผู้อำนวยการไทยพีบีเอส กล่าวถึง หัวใจสำคัญของการจัดงาน INPUT 2019 คือ การเป็นศูนย์รวมของผู้ผลิตเนื้อหา โปรดิวเซอร์ และครีเอทีฟจากนานาประเทศมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงการหาวิธีรับมือกับพฤติกรรมของผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะผู้ชมมีความสนใจที่หลากหลายแต่รับชมสื่อผ่านโทรทัศน์น้อยลงและหันไปสนใจกับช่องทางอื่นมากขึ้น อย่างไรก็ตามสื่อสาธารณะต้องผลิตเนื้อหาที่เป็นสาระอยู่ในกรอบจริยธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่แข่งขันทางด้านการตลาดกับสื่อเชิงพาณิชย์ จึงจะต้องออกแบบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และทำความเข้าใจกับผู้ชมให้มากที่สุด
รศ.วิลาสินี อธิบายเพิ่มเติมว่า "ตัวอย่างของสื่อที่กำลังพัฒนาคือ สารคดีเรื่อง'สูญ หา เจอ รอด ฟื้น'ที่บอกเล่าเรื่องราวของ 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง นอกจากนี้ยังมีรายการสารคดีอื่นๆ ที่กำลังพัฒนา โดยมุ่งประเด็นที่สะท้อนคุณค่าของวัฒนธรรมไทย เช่น เรื่องอาหาร ความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม เป็นต้น"
ขณะที่นางสาวมาเร็น นีไมเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย กล่าวว่า "เกอเธ่" เป็นสถาบันด้านวัฒนธรรมที่มีอยู่ทั่วโลก และมีการติดต่อสื่อสารกับสถานีโทรทัศน์สาธารณะมาโดยตลอด ซึ่งการเลือกประเทศไทยในการจัดงาน INPUT 2019 เป็นความตั้งใจตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์กลางของสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อมโยงสื่อจากประเทศต่างๆ เช่น ไต้หวัน เวียดนาม เมียนมา ศรีลังกา สามารถเดินทางมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ร่วมกันได้
"สื่อสาธารณะถือเป็นหนึ่งในเสาหลักของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นองค์กรที่ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลดังนั้นการดำรงไว้ซึ่งสื่อสาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง" นางสาวมาเร็น กล่าวทิ้งท้าย
การจัดงานINPUT 2019ในครั้งนี้นับว่าเป็นการรวมตัวของผู้ผลิตสื่อครั้งสำคัญที่จะเป็นตัวกระตุ้นแรงบันดาลใจศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และยกระดับผู้ผลิตสื่อทุกคนโดยสาระสำคัญของงานในครั้งนี้มีส่วนในการกำหนดทิศทางเพื่อสื่อสารกับประชาชนในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย