สื่อสร้างสรรค์ ใช้วิธีบำบัด
แนวคิด “ใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย”
ท่ามกลางวิกฤตการเมืองร้ายแรง สังคมไทยกำลังเดินเข้ามาใกล้ปากเหวแห่งสงครามกลางเมืองรอมร่อ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งของสถานการณ์มี “สื่อ” เข้าไปเกี่ยวข้อง มีทั้งสื่อนำเสนอแบบเลือกข้าง บ้างก็ทำหน้าที่เหมือนท่อประปาที่คอยส่งน้ำทั้งดีและเสีย โดยปราศจากเครื่องกรอง น้ำที่ส่งไปจึงมีเชื้อโรคอยู่เต็มไปหมด ขณะเดียวกันประชาชนก็บริโภคสื่อแบบผูกขาด เสพเฉพาะสื่อที่ตนเองสังกัด โดยไม่เปิดรับเสียงรอบข้าง
วันนี้หลายฝ่ายจึงอยากเห็น การสื่อสารที่ทำให้เกิด “ปัญญา” ขึ้นในสังคมไทย
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิด “สื่อดี สื่อสร้างสรรค์ เพื่อสังคม” เปิดโอกาสให้ ทีมข่าวศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฎิรูปประเทศไทย สัมภาษณ์พิเศษ เพื่อให้เห็นมุมมอง สื่อสร้างสรรค์ จะนำไปสู่สังคมที่ใช้ปัญญา ได้อย่างไร
ขณะนี้มีการกระตุ้นให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ในประเทศไทยอย่างไรบ้าง
รศ.ดร.วิลาสินี: มีการสนับสนุนให้มีผู้ผลิตสื่อที่ดี พัฒนาบุคลากรผู้ผลิตสื่อ เพื่อให้มีแนวคิดในการผลิตสื่อที่ดี เพราะเราเชื่อว่า หากผู้ผลิตมีคุณภาพ ก็จะทำให้เกิดเนื้อหาที่ดีมากขึ้น ผู้บริโภคสื่อก็จะได้บริโภคสื่อดี หลังจากนั้นแล้ว ก็ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายผู้บริโภคสื่อ เกิดเป็นมุมมองที่ว่า ผู้บริโภคจะไม่โง่ และเรียนรู้ว่าจะบริโภคสื่อแบบใด เพื่อเป็นประโยชน์ และจากนี้ต่อไป ก็จะได้ผู้ผลิตสื่อที่ผลิตสื่อที่ดีและสร้างสรรค์ออกมาเพื่อผู้ชมตามต้องการมากมาย
แนวคิด “ใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย” เกิดสื่อที่ดีในสังคม ได้อย่างไร
รศ.ดร.วิลาสินี : ให้สื่อน้ำดี ค่อยๆ ถูกนำเสนอ และพัฒนาสื่อต้นแบบที่ดีๆ ให้คนได้เริ่มรู้จัก ขั้นแรก อาจจะสร้างความแปลกแยก ไม่เข้าใจเนื้อหาและไม่มีคนดูมาก เช่น ช่องทีวีไทย ที่เป็นสื่อสาธารณะอย่างเต็มตัว ที่ไม่ค่อยมีคนดู เพราะเข้าใจว่าไม่น่าดู ทั้งๆที่เป็นสื่อที่มีคุณภาพ ขณะที่ช่องอื่นเป็นละคร แต่มีคนติดตามชมมากมายแต่ถ้าไม่รีบทำ ไม่รีบเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย สื่อดีก็จะไม่เริ่ม เชื่อว่า ต่อจากนี้ไป รสนิยมของการบริโภคสื่อ ก็จะกำลังปรับทีละนิด อาจไม่ได้มีการปรับอย่างรวดเร็ว แต่จะมีการปรับตัวเอง ส่วนนี้คือ น้ำดีที่จะคอยปรับน้ำเสียไปเรื่อยๆ พื้นที่น้ำเสีย ก็จะหายไป เป็นเพียงส่วนหนึ่งมีตัวอย่าง สื่อต่างประเทศ ที่เป็นสื่อเน้นดูแลสังคม อย่าง ช่องบีบีซี ให้หลักคิดข้อหนึ่ง ว่า ต้องทำให้ประชาชนมีประสบการณ์การของการบริโภคสื่อที่มีความเป็น good test (สื่อที่มีรสนิยมที่ดี) เสียก่อน เพราะถ้าหากไปเรียกร้องว่า อยากให้เกิดสื่อดีเกิดขึ้น แต่คนในสังคมก็ยังไม่รู้ว่า สื่อดี หมายถึงอะไร สื่อที่ผลิตขึ้นมานั้น ก็ไม่มีประโยชน์ ผู้ชมหรือผู้บริโภคยังบริโภคสื่อที่เคยบริโภคแต่เดิม เช่น ดูละครน้ำเน่า ชื่นชมกับละครตบจูบเช่นเดิม เพราะมีเนื้อหาสนุกสนาน แต่ถ้าค่อยๆให้ผู้ชมค่อยได้รับทราบถึง ความเป็นสื่อที่ดี รสนิยมที่ดี เมื่อได้รับทราบว่าเป็นแบบใด ก็จะทำให้ผู้ชมเริ่มที่จะเลือกที่จะบริโภคสื่อดีได้เอง
สื่อน้ำดี หรือสื่อสร้างสรรค์ ที่เราได้เห็นแล้ว มีอะไรบ้าง
รศ.ดร.วิลาสินี : สื่อน้ำดีที่เห็นชัดๆ ก็ ช่องทีวีไทย ที่เป็นสื่อสาธารณะ แต่นั่นก็เป็นเพียงบางส่วน ที่ได้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ที่เน้นการเกิดข่าวสารเพื่อมวลชนอย่างแท้จริง หรือ รายการทีวีสำหรับเด็ก สื่อเด็ก แม้กระทั่ง คลื่น fm 105 ที่เป็นคลื่นสีขาวสำหรับเด็กทั้งคลื่น ขณะนี้ก็มีกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีมาก ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ ในการจะผลักดันให้เกิดสื่อสร้างสรรค์อื่นๆ เพิ่มเติม
ในส่วนของหนังสือพิมพ์ ก็ต้องออกมาตระหนัก และกระตือรือร้นพัฒนาสื่อของตนเอง ในส่วนนี้ สถาบันที่ควบคุมดูแล อย่างสมาคมวิชาชีพ ก็ต้องออกมาช่วยกระตุ้นอีกแรงหนึ่ง เพื่อให้เกิดความร่วมมือ โดยเฉพาะภาคนโยบาย หรือในส่วนของสื่อท้องถิ่นก็ต้องออกมาช่วยกัน
งานขับเคลื่อนการเปิดพื้นที่เพื่อสื่อดี มีความก้าวหน้าระดับใด
รศ.ดร.วิลาสินี : เดินมาได้ครึ่งทาง ตอนนี้ได้เกิดเป็นระบบขึ้นมา เกิดทีวีสาธารณะ เกิดการขับเคลื่อนของมติ ครม.ที่จะเข้ามารองรับเรื่องนี้ เกิดเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ ทำเรื่องนี้กันทั่วประเทศ เกิดการกระตุ้นสติคนในสังคม และเกิดกระแสผู้บริโภคสื่อที่แอคทีฟถ้าลองย้อนกลับไป 10 ปีก่อนหน้านี้ ยังไม่ค่อยจะมีคนตื่นตัว พื้นที่สื่อสร้างสรรค์สักเท่าไร แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะมาก ซึ่งยังไม่จบ งานนี้ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่า การทำสื่อดี ต้องทำเชิงระบบ ควบคู่กันไป
ควรที่จะมีองค์กรคล้ายๆกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในภาคการปฏิรูปสื่อ ได้หรือไม่
รศ.ดร.วิลาสินี : ความตั้งใจเดิม คือ การตั้งแยกออกมา แต่มาถึงตอนนี้ ไม่ใช่ยังไม่มีการแยกส่วน โดยให้ทำควบคู่ไป ในแนวการทำงานของสถาบันอิศรา เพื่อการทำงานเดินไปได้อย่างพร้อมๆกัน ให้เนื้องานต้องเดิน ให้เห็น มีความสำเร็จแล้ว และเข้าไปประกบดูแลอย่างมีส่วนร่วมร่วมกัน
สำหรับความหวังที่เป็นไปได้ในการเกิดการขับเคลื่อนสื่อที่ดีในประเทศไทย ทางสมาคมวิชาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน จะต้องเข้ามามีบทบาทช่วยอย่างเต็มที่ ในการเปลี่ยนตัวเองให้มากขึ้น ทำอย่างไรที่จะมี healthy media (สื่อเพื่อสุขภาวะ) เพราะ media (สื่อมวลชน) การผลิตที่ต้องเน้นในเรื่องที่ดีทุกสื่อ ต้องทำตัวให้ดีด้วย เพราะถ้าหากคิดว่าเป็นเพียงช่องทางที่จะเอาสื่อลงไปเพื่อใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร นำเสนอและจบไป คงไม่พอ แต่ตัวเนื้อหาของสื่อต้อง ดี และสร้างสุขภาวะ ต้องไปหนุนทุกระบบ รวมทั้งกฎหมายสื่อด้วย
การปฏิรูปสื่อต้องเริ่มเน้นไปทางด้านสื่อเด็กก่อน เนื่องจากสื่อไทยไม่มีเรื่องของสื่อเด็กเลย และสื่อสำหรับเด็กเป็นเรื่องต่ำสุดกว่าสื่ออื่นๆ เทียบไม่ได้กับสื่อของผู้ใหญ่ หรือร้อนแรงอย่างสื่อการเมือง ทั้งนี้เชื่อว่า เมื่อเราปรับเนื้อหาของสื่อเด็กเกิดประโยชน์ แล้วก็จะเป็นประโยชน์ กับทุกส่วน
ท้ายที่สุดระบบการสื่อสารที่สร้างสรรค์จะช่วยพัฒนาเป็นประเทศน่าอยู่ที่สุดในโลกได้อย่างไร
รศ.ดร.วิลาสินี: สื่อมีหน้าที่สร้างสังคม เปรียบเสมือนกระจกที่มีหน้าที่สะท้อนความจริง และยังเปรียบได้กับตะเกียงที่มีหน้าที่ส่องทางให้คนเดิน แต่สื่อก็ต้องหลีกสังคมได้ด้วย เพื่อการสร้างและกำหนดทิศทางของสังคมว่าจะเดินไปตรงไหน ขณะเดียวกัน สังคมก็ต้องไม่อยู่นิ่งเฉย จะต้องใช้สื่อ สนองทิศทางในสังคมขณะนั้นด้วย เกิดเป็นการกระตุ้นสติแก่คนในสังคม
การสร้างจิตสำนึกในการใช้สื่อ จะสร้างกระแสปลูกจิตสำนึกในการเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เริ่มจากการสร้างรายการทีวีหลากหลายรูปแบบ อาจจะไม่จำเป็นต้องสร้างกระแสผ่านสื่ออย่างเดียว แต่สนับสนุนให้เห็นตัวแบบที่ดีของสื่อก่อน และให้ผู้ผลิตที่ดี ทำไปด้วยกัน อาจจะเริ่มจากแผนของ สสส. มาให้เห็นว่า เรื่องสื่อดี ทำได้ อาจจะเริ่มจาก องค์กรที่ดี เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี บุคคลต้นแบบที่กำลังทำอยู่ มาชี้ให้เห็น โดยมีเรื่องของกองทุนสื่อสร้างสรรค์ เป็นตัวที่ใหญ่ที่สุด
เราทุกคนเสพติดสื่อในทุกรูปแบบมากในแต่ละวัน ถ้าไม่ทำตรงนี้ เรายิ่งจะเป็นสังคมที่แย่ลงไปทุกที ให้เชื่อในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการสร้างสื่อที่ดี แต่อาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ตรงไปตรงมา เหมือนกับการที่ฉีดยาลงไปแล้วจะเห็นผลทันที แล้วหายโรค แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงการสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ให้กับสังคม
ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
update:01-05-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่