สื่อสร้างสรรค์ในศพด.ปลุกปัญญาให้ตื่นรู้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ในช่วงปฐมวัย (2-7 ขวบ) กล่าวได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ของเด็กเล็ก แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เรียกว่าเป็นช่วงเวลาทองก็ว่าได้ หน้าต่างแห่งโอกาสจะเปิดเต็มที่ การที่พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมไปถึงครูหยิบยื่นสิ่งดี ๆ ให้กับเด็กจะส่งผลให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
ล่าสุดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด "อบรมเชิงปฏิบัติการปฐมนิเทศครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปี 3" ระหว่างวันที่ 19-22 สิงหาคม 2559 เพื่อเสริมศักยภาพ เติมความรู้ให้ครูผู้ดูแลเด็ก ให้มีความรู้ความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้สื่อ กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้เติบโตอย่างมีสุขภาวะที่ดีครบทุกด้าน และเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม พร้อมกับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการฯ
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการปฐมนิเทศครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพครู ทำให้ครูมีความสามารถในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ของเด็กปฐมวัยที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก สร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตของเด็ก ให้มีความฉลาดรู้ด้านสื่อ มีความฉลาดรู้ทางสุขภาพ ความตื่นรู้ทางปัญญา โดยใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างพลเมืองเด็กที่มีจิตสำนึกและมีพัฒนาสมวัยในทุกด้าน ปัจจุบันเกิดเครือข่ายครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงาน ปรึกษาเรื่องการทำงาน และสร้างแรงบันดาลใจ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก มหัศจรรย์ ศพด. มีสมาชิก 834 คน และใช้แฟนเพจเฟซบุ๊ก ชื่อมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ เพื่อแบ่งปันข้อมูลเรื่องการทำงานทำให้กระบวนการทำงานเกิดการ ขยายผลและต่อยอดความคิดได้อย่างกว้างขวาง
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่เด็ก ๆ ถูกแวดล้อมด้วยสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ จากภูมิทัศน์สื่อในสังคมไทยที่เปลี่ยนไปอย่างมาก เนื่องจากการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ (new media) รวมทั้งการนำเสนอทั้งเนื้อหาและรูปแบบที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กของสื่อกระแสหลัก โครงการฯ ได้พัฒนาทักษะและความสามารถในการใช้สื่อของครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและสร้างโอกาสในการเข้าถึงสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ของเด็ก ๆ
โครงการนี้เกิดขึ้นจากการทำงานเชิงรุกของแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม และแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา โดย สสส. ได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะของเด็กปฐมวัยในศูนย์ฯ ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ การติดตามเสริมศักยภาพและสร้างแรงบันดาลใจในพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนทุนเพื่อการพัฒนาสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ในศูนย์ฯ โดยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ ตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 138 ศูนย์ และปี 2558 จำนวน 200 ศูนย์ รวมแล้ว 338 ศูนย์กระจายครอบคลุมทั้ง 4 ภาค ทั่วประเทศ มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ เป็นเด็ก 20,517 คน ครู 1,332 คน โดยในปีนี้มีการจัดอบรมเพิ่มอีกจำนวน 175 ศูนย์ โดยมี ศพด.ต้นแบบจำนวน 17 ศูนย์ ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพจนเป็นพี่เลี้ยงและแหล่งเรียนรู้ของ ศพด. อื่น ๆ
อย่างไรก็ตามพบว่า เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น 3 ลำดับแรก 1. ด้านวินัยและความรับผิดชอบ รู้จักถูกผิด เช่น เก็บของเล่น ไม่พูดปด ไม่ลักขโมย เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 75.51 จากเดิม ร้อยละ 34.88 2. ด้านความฉลาดรู้ทางด้านสุขภาพ ด้านกิจกรรมทางกาย เช่น มีการเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 75.34 จากเดิมร้อยละ 40.08 และ 3. ความสัมพันธ์ ความรู้จักผูกพัน การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีทักษะในการสื่อสาร อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73.57 จากเดิมร้อยละ 37.68 ดังนั้นผลลัพธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก คือ เด็กมีความสุขและมีสุขภาวะที่ดี มีพัฒนาการทางด้านร่างกายดีขึ้น เด็กได้เรียนรู้สังคมมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากขึ้น และมีทักษะด้านภาษามากขึ้น
นางสาวสายใจ คงทน กลุ่ม We are Happy แกนหลักในการติดตามเสริมศักยภาพโครงการ กล่าวว่า ตลอดช่วงระยะเวลาการดำเนินโครงการ ผลการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด จาก 2 ปีที่ผ่านมาคือ คุณครูเห็นคุณค่าและภูมิใจในงานที่ทำ พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์ฯให้มีความพร้อมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และสิ่งสำคัญคือเด็ก ๆ มีความสุขที่ได้มาศูนย์ฯและได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการที่คุณครูจัดขึ้นในทุกวัน
กลไกความสำเร็จของโครงการ นอกจากครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแล้ว ภาคสร้างการมีส่วนร่วมจากครอบครัว ชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญต่อโครงการนี้.