สื่อมวลชนเพื่อเด็ก ช่วยเด็กรู้เท่าทันสื่อ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.จัดโครงการสื่อมวลชนเพื่อเด็ก รณรงค์ช่วยเหลือเด็กให้รู้เท่าทันสื่อ มีวัตถุประสงค์ให้เยาวชนได้ผลิตสื่อที่เหมาะสมและปลอดภัยแก่เด็ก รูปแบบจะเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ดี มีส่วนร่วมในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ ตอนนี้มีโครงการสื่อสร้างสรรค์ในภาวะยากลำบาก จะแบ่งเด็กที่เข้าโครงการนี้ทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ กลุ่มแรงงานเด็กทั้งไทยและเด็กต่างชาติที่มีปัญหา
นางสาวทัตติยา ลิขิตวงษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวว่า จะส่งเสริมให้เด็กที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับสื่อ ได้ผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดเสียงของตัวเอง ว่าตอนนี้เขาเป็นอย่างไร สถานการณ์ของเขาเป็นอย่างไร และเขาต้องการอะไร เพื่อนำเสนอสิ่งเหล่านี้ที่เขาต้องการผ่านสู่สังคม รวมทั้ง ยังเป็นการเฝ้าระวังให้เด็กกลุ่มนี้ ให้เท่าทันสื่อที่มีลักษณะรุนแรงหรือเป็นสื่อลามก เป็นสื่อที่ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่เหมาะสม
“ตอนนี้เด็กได้ผลิตสื่อรณรงค์ เช่น การทำแผ่นป้าย หนังสั้น รายการวิทยุ เมื่อพวกเขามีรายการของตัวเอง หรือในชุมชน หรือเสียงตามสาย หรือผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ที่เขาอยากได้ความรู้เรื่องอะไร เขาก็มีส่วนร่วมในการผลิตและเผยแพร่ และช่วงหลังจะพบว่า เด็กบางคนที่มาจากประเทศลาว ที่ดูโทรทัศน์ไทย แล้วเห็นว่า มาประเทศไทยได้กินดีอยู่ดี อยู่สบาย ทำให้เด็กตัดสินใจเข้ามา เพราะได้รับภาพและมุมมองจากสื่อ จากการบริโภคนิยม จึงอยากทำให้เด็กเหล่านี้ได้เท่าทันในเรื่องนี้ด้วย” น.ส.ทัตติยา กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีโครงการครอบครัวและชุมชนพัฒนา เพื่อช่วยเหลือเด็กในชุมชนแออัด ให้เด็กและครอบครัวมีพื้นที่สร้างสรรค์ มีการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม แม้จะอยู่ในพื้นที่ชุมชนแออัด มีพื้นที่น้อย แต่เด็กกลุ่มนี้จะต้องได้รับการพัฒนาเช่นเดียวกับเด็กกลุ่มอื่น ทางมูลนิธิฯ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็กในชุมชนแออัด ขจัดเรื่องยาเสพติด เด็กติดเกม หรือการเลียนแบบสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น การตีกัน และใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น
ลักษณะของการทำงานจะเป็นพื้นที่ทางกายภาพ จะมีสนามเด็กเล่น มีศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กในชุมชน พื้นที่ทางความคิด พื้นที่ทางสื่อ และพื้นที่ทางการพัฒนาเด็ก ขณะนี้กำลังขยายแนวคิดไปทั่วประเทศ และรัฐบาล โดยรัฐมนตรี ได้ขานรับเรื่องดังกล่าวว่าเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องการผลักดันให้แก่เด็กทุกกลุ่ม แม้จะอยู่ในชุมชนแออัดหรือสถานพินิจให้มีพื้นที่สร้างสรรค์
ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวต่อว่า จากการสำรวจของมูลนิธิฯ พบว่า เด็กเดินเพียง 7 ก้าวก็ถึงร้านเกม ถึงยาเสพติด ถึงสิ่งไม่เหมาะสม แต่พื้นที่สร้างสรรค์เด็กอยู่ไกลขึ้นทุกที จะทำอย่างไรให้ทุกหน่วยงานร่วมกันพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการบริเวณพื้นที่ย่านหัวลำโพงที่รองรับครอบครัวอพยพมาจากชนบท เป็นกลุ่มครอบครัวที่พ่อแม่มีปัญหายาเสพติดและใช้ความรุนแรง เด็กพูดจาเหมือนกับผู้ชุมนุม ใครไม่เห็นด้วยก็จะเอาไม้ไปตี โดยระบุว่าจะตีหัวให้แตก เพราะไม่ใช่พวกเรา โดยลักษณะเป็นความรุนแรงทั้งคำพูด ความคิด การกระทำเพิ่มมากขึ้น
“สำหรับปัญหาของเด็กในสมัยนี้คือ เด็กอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบกลุ่มเด็กไม่มีโอกาสทางการศึกษา คือไปเรียนบ้าง ไม่ได้ไปเรียนบ้าง เนื่องจากห่วงเรื่องความปลอดภัย โดยเด็กกลุ่มนี้จะเห็นความรุนแรงที่รอบตัวเขา ทั้งการยิงกัน เหตุระเบิด ทำให้พวกเขาซึมซับกับเรื่องพวกนี้ บางคนได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องเข้าไปสู่กระบวนการก่อการร้าย ถือเป็นปัญหาที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือมีจำนวนน้อยมาก การทำงานของเขาก็ยาก เพราะความไม่ปลอดภัยและความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน จากหน่วยงานรัฐและชาวบ้าน เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี บางคนก็ไม่มีห้องน้ำใช้ หรือเสื้อผ้า ยารักษาโรคก็ไม่เพียงพอ หากเราไม่ช่วยกัน ก็จะทำให้สถานการณ์ลักษณะนี้รุนแรงมากขึ้น” น.ส.ทัตติยากล่าวสรุป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 22-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน