สื่อมวลชนกับความปลอดภัยทางถนน
อุบัติเหตุเป็นปัญหาสำคัญมากกับการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน จำนวนผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยตามรายงานขององค์การอนามัยโลกปี ค.ศ. 2013 สูงถึง 26,000 คน ยังไม่รวมผู้ที่พิการจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีมากเกือบ 6,000 คน องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติจึงกำหนดให้ทุกประเทศทั่วโลกลดจำนวนผู้ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายใน 10 ปี ตั้งแต่ ปี 2554-2563 หรือเรียกว่าเป็น "ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน" ซึ่งประเทศไทยได้มีการประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติและเข้าร่วมดำเนินการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2554
ในขณะที่สถานการณ์ต่อกรณีดังกล่าวจากการสำรวจล่าสุดขององค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางและประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
แม้ทุกวันนี้สื่อมวลชนจะมีการนำเสนอข่าวเรื่องอุบัติเหตุทางถนน ขยับไปในเชิงลึก มีการติดตามค้นคว้า เจาะหาสาเหตุ มีการสัมภาษณ์คุยกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น จนเกิดผลต่อมาตรการหลาย ๆ มาตรการของกรมการขนส่งทางบก เช่น ประกาศให้รถโดยสารสาธารณะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในรถ และบังคับให้ผู้โดยสารคาดด้วย หรือกรณีตำรวจออกมาตรการบังคับใช้การสวมหมวกนิรภัย การตรวจจับกรณีฝ่าไฟแดง ขับด้วยความเร็ว เมาแล้วขับ รวมถึงโครงการใหม่ ๆ ทั้งติดจีพีเอสควบคุมความเร็ว ติดตั้งกล่องดำบันทึกพฤติกรรมพนักงานขับรถ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของคนไทย ยังเป็นแบบ "ดื้อยา"เพราะเราไม่เคยมี "สำนึกวัฒนธรรมความปลอดภัยของคนในชาติ" อุบัติเหตุทางถนนจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับรถทุกประเภท มีทั้งผู้บาดเจ็บ พิการและเสียชีวิต
ล่าสุดช่วงต้นเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ทั้งคณะทำงานสนับสนุนแผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิไทยโรดส์ และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จึงได้มีการจัดสัมมนาสื่อมวลชนกับความปลอดภัยทางถนนของไทยขึ้นอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำการ ทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและเล็งเห็นถึงบท บาทของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารสู่สาธารณชน รวมถึงเป็นอีกหนทางที่จะระดม กำลังช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ผลักดันกรณีดังกล่าวผ่าน โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและเผยแพร่ข่าวด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนผ่านสื่อมวลชนการดำเนินงานประกอบด้วย 5 กิจกรรม ได้แก่ 1.กิจกรรมจัดทำคู่มือประกอบการทำข่าวสืบ สวน 2.กิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาทักษะการ ทำข่าวสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนใน 4 ภูมิภาค 3.กิจกรรมประกวดผลิตข่าวสารคดีวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ 4.จัดเวทีสัมมนาสื่อมวลชนในงานสัมมนาระดับชาติ และ 5.จัดทำทำเนียบสื่อมวลชนที่สนใจทำข่าวเชิงสืบสวนด้านอุบัติเหตุ
โดยมี นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนทางบก ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโส หัวหน้าคณะวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนักวิชาการอีกหลายท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวอุบัติเหตุของสื่อที่มักเน้นไปในเรื่องอาถรรพณ์เป็นการตอกย้ำว่าอุบัติเหตุเกิดจากความผิดพลาดของเหยื่อนั้น ในภาพรวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการพาดหัวข่าวด้วยคำบางคำของสื่อที่ยัด เยียดความผิดให้เหยื่อซึ่งอาจส่งผลกระทบ ต่อมุมมองของประชาชนส่วนนี้ยังคงมีอยู่ อีกทั้งการเขียนข่าวที่ทำให้การเกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุสุดวิสัยป้องกันไม่ได้ เช่น ฝนตกถนนลื่น อยากให้เป็นการนำเสนอข่าวแบบเจาะลึกมากกว่าเป็นเพียงแค่เหตุสุดวิสัยเพื่อที่หน่วย งานที่เกี่ยวข้องจะนำไปแก้ไขปรับปรุงให้ดี ขึ้นต่อไป อยากเห็นความร่วมมือกันระหว่างภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและสื่อมวลชนทุกแขนงที่จะสามารถทำให้ภารกิจการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ประสบความสำเร็จ โดยมุ่งเน้นการสื่อสารสาธารณะที่เจาะลึกเป็นหลัก
ในขณะที่ ดร.สุเมธ เปิดเผยว่า ต้อง การให้สื่อแสดงให้มองเห็นภาพว่าสิ่งที่ก่อ ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนนั้น เกิดได้อย่างไร ยกตัวอย่างในบางกรณี เช่น เรื่องการไม่คาดเข็มขัด ถ้ามีความเสี่ยงแบบนี้อยากให้มีการนำเสนอขึ้นมาจะถือเป็นเรื่องดี ที่จะสามารถกระตุ้นเตือนรัฐบาลได้ให้มีการป้องกัน การ นำเสนอเรื่องนี้จะเป็นที่ได้ประโยชน์กับประชาชนมากกว่าการนำเสนอเรื่องอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียวแต่ให้ระบุถึงสาเหตุที่เกิดด้วย หน่วยงานต่าง ๆ จะได้รับการกระตุ้นด้วยว่ามีตรงจุดไหนที่จะต้องได้รับการแก้ไขบ้างเพื่อนำไปพัฒนาและแก้ไขต่อไปได้
จากนี้สื่อคงต้องแสดงบทบาทให้ชัดเจนมากขึ้น และนำเสนอข่าวแบบเจาะลึกเรื่องอุบัติเหตุทางถนนมากกว่านี้ เพื่อแสดง ให้เห็นว่าสื่อมวลชนเองไม่ได้มีความนิ่งนอนใจต่อกรณีดังกล่าว รวมถึงต้องมีการจับตาดูโครงการต่าง ๆ ของกรมการขนส่งทางบกให้ใกล้ชิดมากกว่าเก่า ขณะเดียวกันสิ่งที่สื่อมวลชนนำเสนอเรื่องอุบัติเหตุบางครั้งเป็นแนวทางอาถรรพณ์นั้นไม่ได้มีเจตนาให้เข้าใจผิดว่าเป็นความผิดพลาดของเหยื่อแต่การนำเสนอเป็นไปตามครรลองของชาวบ้านเท่านั้น แต่ในอนาคตสิ่งที่สำคัญคือสื่อมวลชนเข้าใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือและนำเสนอข่าวสารโดยมีจิตสาธารณะเป็นหลักเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารนั้นด้วยความเต็มใจ
ที่สำคัญในห้วงเวลาใกล้ส่งท้ายปี เก่าต้อนรับปีใหม่จะมาถึงนี้ ระยะหลังจะมีข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุเกิดขึ้นตลอด เพราะเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ประชาชนทยอย เดินทางออกต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก จึงมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็ต้องจับตาดูว่าทั้งหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมไปถึงสื่อมวลชน จะร่วมกันรณรงค์หาแนวทางลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้ลดน้อยลงได้มากน้อยเพียงใด.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย นันทนา เสนา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต