สื่อพื้นบ้าน สร้างสายใยสมานฉันท์ สู่รุ่นลูกหลาน

รื้อฟื้น สร้างความเข้มแข็งสู่สังคม

 

สื่อพื้นบ้าน สร้างสายใยสมานฉันท์ สู่รุ่นลูกหลาน

 

มหกรรมสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชนคืองานที่สร้างความประทับใจและความภาคภูมิใจให้ผู้คนมาแล้วทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคกลาง นอกจากจะเป็นการสื่อสารระหว่างคนในชุมชน ก่อให้เกิดปัญญา ความรัก และมิตรภาพแล้ว ยังมุ่งรื้อฟื้นสื่อพื้นบ้านให้กลับมามีบทบาทในสังคมไทยอีกครั้ง ผ่านผู้ถ่ายทอดที่เป็นเด็กและเยาวชน

 

การขับเคลื่อนวิชาการจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนจากแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ช่วยเสริมสุขภาวะทางกาย ใจ สติปัญญา และสังคมได้ครบทั้ง 4 มิติ ทั้งยังทำให้เยาวชนได้เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจนำไปสู่การรักถิ่นฐานบ้านเกิดได้เป็นอย่างดี

 

นี่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการโยงใยความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน เกิดเป็นเครือข่ายระหว่างชุมชนกับชุมชน มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน

 

สื่อพื้นบ้าน สร้างสายใยสมานฉันท์ สู่รุ่นลูกหลาน

 

งานมหกรรมสื่อพื้นบ้านทั้ง 4 ภาคที่ผ่านมา การแสดงที่แต่ละชุมชนมานำเสนอล้วนน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การรำพราน การตีโพน รำมโนราห์ ลิเกฮูลู จากมหกรรมสื่อพื้นบ้านภาคใต้ หนังบักตื้อ-หนังตะลุงอีสาน ละครหุ่นเงาร่วมสมัยแรงบันดาลใจจากฮูปแต้ม การต่อเพลงโคราช หมอลำพันปีจากคนรุ่นปู่ การแสดงผญาอีสาน การแสดงกันตรึม จากมหกรรมสื่อพื้นบ้านภาคอีสาน รำเท่งตุ๊ก แคนม้ง รำตักได้ ฟ้อนดาบ ดนตรีเตหน่า ฟ้อนฝาง รำมองเซิง ฟ้อนแง้น มวยและฟ้อนดาบ ดนตรีหลากเผ่าพันธุ์ ลิเกตับเต่า จากมหกรรมสื่อพื้นบ้านภาคเหนือ และการแสดงรำทะแยมอญ ดนตรีอาใย ระบำป๊า ละครเพลงพื้นบ้านสานสุข รำเหย่ยและเพลงพวงมาลัย ละครชาตรี รำกลองยาว จากมหกรรมสื่อพื้นบ้านภาคกลาง

 

สื่อพื้นบ้าน สร้างสายใยสมานฉันท์ สู่รุ่นลูกหลาน

 

การแสดงทั้งหมดนี้ ล้วนมาจากฝีไม้ลายมือของเยาวชนที่ได้รับการถ่ายทอด และฝึกฝนมาเป็นอย่างดี จากปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ พี่เลี้ยงที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสื่อพื้นบ้านนั้นๆ โดยเฉพาะ อีกทั้ง มีการนำเอาความร่วมสมัยมาประยุกต์มาผสมผสาน ทำให้การแสดงมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงจะถอดแบบมาจากของดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเอกลักษณ์โดดเด่น ง่ายต่อการจดจำ อีกทั้ง เยาวชนทั้งหมดยังถ่ายทอดต่อได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

สื่อพื้นบ้าน สร้างสายใยสมานฉันท์ สู่รุ่นลูกหลาน

 

นอกจาก ความรักใคร่กลมเกลียวและมิตรภาพ จะเกิดขึ้นในกลุ่มเยาวชนแล้ว เด็กที่ร่วมแสดงทั้งหมด ยังได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ฝึกฝนตัวเองให้เป็นคนมีระเบียบวินัยไปในตัว อีกทั้ง ยังสามารถทำให้หนีห่างจากยาเสพติดได้ ที่สำคัญทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความสามารถของตนเอง และยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเอาไว้ได้ตราบนานเท่านานอีกด้วย

 

นี่เป็นเพียงบางส่วนเสี้ยวของงาน ที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้ในยามที่ประเทศกำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคที่เทคโนโลยีกำลังมาแรง และมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราอยู่รอบด้าน ยังมีสื่อพื้นบ้านที่ยังคงทำหน้าที่อย่างเงียบๆ เพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเอาไว้ให้คงอยู่สืบไป…

 

 

 

 

ที่มา : จุลสาร ร หัน แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์

 

 

update : 17-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย :  ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ