สื่อพื้นบ้านสานรอยยิ้ม
พลังสุขจากสื่อพื้นบ้านปักษ์ใต้
“มอแกนตำนานของคนท้องถิ่น ที่กลายเป็นคนเร่ร่อน ถูกรุกถิ่น วิถีที่เดือดร้อนดังคลื่นทะเลโถม มรสุมชีวิตอยู่อย่างคนผิดไม่มีสิทธิ์คิดครอบครอง ผ่านไปร้อยปี ลูกหลานมีความรู้ มอแกนทั้งผองจะส่องสว่างอีกทาง มอแกนวันวานของคนล่องแพ”
เสียงเพลงของเด็กชาวมอแกน ที่สะท้อนวิถีชีวิตได้จับใจ ในมหกรรมเครือข่ายสื่อพื้นบ้านภาคใต้ “ชมบัว รัวโพน จาโปตาแง สานพลังสุขจากสื่อพื้นบ้านปักษ์ใต้” จัดโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนการดำเนินงานสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชนที่โรงเรียนวัดทะเลน้อย (ลอยประชาคาร)อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
ที่มาของชื่อโครงการ เริ่มจาก“ชมบัว” สื่อถึงจังหวัดพัทลุง มีสถานที่ท่องเที่ยวและขึ้นชื่อ เรื่องบัว ทะเลน้อยมีทะเลบัวที่สวยงาม “รัวโพน” บอกเล่าถึง โพน เครื่องดนตรีสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง และยังมีประเพณีการแข่งขันโพนหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่สืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน
ส่วน “จาโปตาแง” เป็นภาษาถิ่นมลายู ของจ.ปัตตานี หมายถึง การร่วมไม้ร่วมมือกัน สะท้อนให้เห็นว่างานนี้เกิดขึ้นเพราะความร่วมมือร่วมใจของทุกเครือข่ายที่ทำงานสื่อพื้นบ้านนั่นเอง โดยมี 7 โครงการ ที่สร้างเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง
บรรยากาศในงานคึกคักแม้จะมีสายฝนกระหน่ำมาทั้งวัน จนต้องย้ายเวทีกลางแจ้งหลบหนีฝนเข้าไปในโรงอาหารแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ
ชาวบ้านต่างทยอยมาชมการแสดงพื้นบ้านฝีมือลูกหลานชาวปักษ์ใต้จากหลายจังหวัดที่มารวมตัวกันพร้อมงัดทีเด็ด การแสดงพื้นบ้านออกมาโชว์อย่างภาคภูมิใจ อย่างเช่น ระบำพรานที่มีท่วงท่าขบขันเป็นเอกลักษณ์ หรือภาพขึงขังของสามหนุ่มวัยโจ๋นุ่งผ้าเตี่ยวรัวโพนเสียงดังก้อง ตามด้วยท่วงท่าลีลาอ่อนช้อยแฝงไว้ซึ่งความสง่างามของเหล่าโนราตัวน้อย
ตามด้วยการแสดง รองเง็ง จ.พังงา รวมถึงการขับร้องเพลงอานาซีด ของกลุ่มเยาวชนบ้านบูเก๊ะยูแย จ.นราธิวาส ก่อนตื่นตากับหนังตะลุงคนฝีมือเด็กชั้นประถม เพลงบอกและการว่ากลอนหนังตะลุง รวมถึงการแสดงลิเกฮูลู ที่สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะและความเบิกบานใจให้คนหลากวัย
รศ.ดวงพร คำนูญวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานนี้เป็นงานทำทั่วประเทศซึ่งเป็นปีที่ 2 ชุมชนที่เราทำกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ตอนนี้ทุกโครงการมีความพร้อมที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน เสริมความมั่นใจว่าเรื่องสื่อพื้นบ้านเป็นเรื่องดีๆไม่ใช่เรื่องเชยหรือไม่มีประโยชน์
“ด้วยภาพของสังคมไทยใหญ่ๆ เวลานึกถึงภาพสื่อพื้นบ้านจะนึกไม่ค่อยออกหรือนึกได้ก็บางสื่อเท่านั้น เช่น การแสดงฟ้อน ลำตัด ลิเก ซึ่งจริงๆ สื่อพื้นบ้านมีความหมายที่ลึกซึ้งและกว้างกว่านั้น และมีคุณค่าอยู่ในตัวแต่คนไทยเรากลับหลงลืม เรื่องสื่อพื้นบ้านไปนานพอสมควร ถ้าชุมชนๆ หนึ่งหยิบเรื่องสื่อพื้นบ้านมาพูดคุยกัน เท่ากับการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ และเมื่อมีความเข้าใจ พูดคุยฝึกสอน ให้เข้าใจถึงรากเหง้าของตัวเอง เด็กๆจะมั่นใจในตัวเองที่จะเผชิญกับกระแสสังคมซึ่งจะไม่ทำให้เขาเป๋หรือหลงไปง่ายๆ เพราะมีหลักยึดอยู่และพร้อมเผชิญกับเรื่องราวข้างนอกด้วยตัวเองอย่างมีสติ เพราะรู้ว่าเราคือใคร”
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวต่อว่า นอกจากเยาวชนจะเข้าใจตัวเองแล้ว ยังเป็นการหลอมชุมชนให้เข้มแข็ง สิ่งที่ตามมาคือทำให้ชุมชนมีชีวิต ซึ่งเรื่องนี้คนเดียวทำไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน ทั้งชุมชนต้องลุกขึ้นมาช่วยกันทำ เหมือนกับการฟื้นการพูดคุยเรื่องดีๆ ทุกครั้งที่ทำเรื่องสื่อพื้นบ้านในชุมชนจะได้ยินเสียงหัวเราะ มีความสุขกับการทำงาน การทะเลาะกันแทบจะไม่เห็นภาพนี้
ที่สำคัญคนเฒ่าคนแก่ คนที่เป็นครู ศิลปินที่สอนสื่อพื้นบ้าน แต่เดิมเขาอยู่อย่างโดดเดี่ยวและไม่รู้ว่าสื่อพื้นบ้านจะตายไปกับเขา แต่พอเด็กลุกขึ้นมาสนใจ ลุกขึ้นมาเรียนรู้ เขาก็จะมีชีวิตชีวาขึ้นมา และจะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ากับชุมชน สื่อพื้นบ้านจึงเป็นการเชื่อมระหว่างคนสองวัยให้เรื่องที่จะพูดคุยกันและความสามัคคีของชุมชนกลับคืนมา
โนราตัวน้อย ด.ญ.พรหมสร คำคง หรือ น้องโม อายุ 12 ปี ชั้นม.1 โรงเรียนสตรีพัทลุง ซึ่งคุณครูการันตีว่า นอกจากจะรำโนราได้สวยงามแล้ว ยังเล่นไวโอลิน ร้องเพลงเก่ง ทั้งยังเป็นสมาชิกชมรมการละเล่นพื้นบ้าน และสนุกกับการเดินทองโย่ง เดินกะลา วิ่งเปี้ยว วิ่งกระสอบ
โมในชุดโนรา บอกเล่าที่มาของการมาเรียนรำโนราว่า เริ่มจากการตามไปดูเพื่อนรำก่อน แล้วช่วงนั้นคนขาดพอดี ครูก็เลยให้หนูเข้ามารำด้วย ตอนนั้นอยู่ชั้นป.4 พอมีโครงการมโนราเรียนร้องร้อยรำ สื่อสานสร้างสุข หนูก็ขอสมัครเข้าร่วมด้วย เพราะได้สืบสานวัฒนธรรมของชาวพัทลุง
ด้าน น้องนิว ด.ช.ณัฐพล หนูนุ่ม ชั้นม.2 เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านั้นสนใจรำโนราเพราะเคยไปดูในงานวัด เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้นจึงสมัครเข้ามา เสน่ห์โนราอยู่ที่ศิลปะการร่ายรำที่อ่อนช้อย มีชุดลูกปัดที่ละเอียดสวยงาม มีหลายท่ารำที่อลังการมาก ส่วนตัวชอบท่าเขาควายที่สุด
นอกจากการรำโนราแล้ว นิวยังสนใจและอยากร่ำเรียนการเล่นหนังตะลุง เพลงบอก และลิเกฮูลู เด็กชายวัย 14 ปี เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเองว่า การแสดงทำให้รู้จักเพื่อนมากขึ้น ฝึกระเบียบ และกล้าแสดงออก ไม่ขี้อายเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังเกิดความภูมิใจที่ได้แสดงความสามารถของเราให้คนอื่นได้ชื่นชม เสียงปรบมือทำให้เรารู้สึกยินดีมาก เดี๋ยวนี้มีสื่อต่างๆ เข้ามามากมาย บางคนลืมวัฒนธรรมไทยของเราไปแล้ว ถ้าไม่อนุรักษ์ไว้สิ่งเหล่านี้จะสูญหาย
ท่วงท่าร่ายรำจากเรียวมือและวงแขนเล็กๆ บทเพลงจากเสียงใสๆ รอยยิ้มและความภาคภูมิใจของคนสองวัยบ่งบอกว่า สื่อพื้นบ้าน จะยังคงมีลมหายใจต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update: 16-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน