สืบภูมิปัญญารักษ์ฝายพญาคำ
ที่มา : ข่าวสด
ภาพประกอบจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์ และแฟนเพจนักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)
Spark U Chiang Mai จัดกิจกรรม สืบภูมิปัญญารักษ์ฝายพญาคำ
Spark U Chiang Mai ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดกิจกรรม "ไหว้ผีเหมืองฝายพญาคำ" ตามโครงการปลุกใจ๋เมือง จุดประกายฝันการสร้างแหล่งเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในการจัดการความรู้เหมืองฝายพญาคำสู่อนาคต โดยมีสมาชิกเหมืองฝายและชุมชนโดยรอบร่วมงาน ที่ฝายพญาคำ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่
บรรยากาศช่วงเช้ามีการวางเครื่องเซ่นบูชา นำโดย นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ ร่วมด้วยผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 และรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมา พ่อมา ดวงแก้ว ตัวแทนแก่เหมืองฝายพญาคำ และตัวแทนผู้ใช้น้ำทั้ง 8 ตำบล ลุ่มน้ำเหมืองฝายพญาคำนำกล่าวฮ่ำ บอกกล่าวผีเหมืองฝายพญาคำ ตามด้วยพิธีฟ้อนรำถวายโดยคณะนักเรียนโรงเรียนสารภีพิทยาคม
ภายในงานจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เรื่องเหมืองฝาย รวมถึงนำเสนอกรณีศึกษาระบบนิเวศบริเวณฝายพญา โดยชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมเสนอแนวทางพัฒนาแหล่งเรียนรู้และร่วมกันปลูกต้นไม้
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จากโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา บอกเล่าว่า ฝายพญาคำเป็นฝายที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ สร้างสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พหลเทพยภักดี เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 นำโดย พญาคำ เรืองฤทธิ์ มีพื้นที่รับน้ำ 32,000 ไร่ ในพื้นที่ ต.หนองหอย ต.หนองผึ้ง ต.ยางเนิ้ง ต.สารภี ต.ไชยสถาน ต.ชมภู ต.หนองแฝก จนถึง ต.อุโมงค์ จ.ลำพูน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 8 แห่ง เทศบาลนครเชียงใหม่ จะพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยมี ผศ.ดร.ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมออกแบบให้พื้นที่นี้น่าเที่ยว น่ามอง น่าเข้ามาพักผ่อนเรียนรู้ พร้อมริเริ่มหลักสูตรฝายพญาคำโดยโรงเรียนสารภีพิทยาคม
พ่อมา ดวงแก้ว วัย 83 ปี เล่าว่า "ในปี 2549 น้ำท่วมเชียงใหม่ คนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำฝายได้ร้องเรียน นายกฯ ให้รื้อฝาย สุดท้ายแพ้ชาวนา ชาวบ้าน น้ำเป็นหัวใจของชาวบ้าน ถ้าขาดน้ำ ก็หมด เกษตรกรไม่มีแล้วจะทำอย่างไร ขอฝากฝังราชการและทุกภาคส่วนอย่าละทิ้งเรื่องน้ำ"
ด้าน ผศ.ดร.ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ เผยแนวคิดว่า จะปรับปรุงฝายพญาคำให้เป็นพื้นที่สีเขียว ให้ประชาชนเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ปลอดภัย เป็นตลาดชุมชน เกิดมิติความเคลื่อนไหวของชุมชน ปรับปรุงศาลพญาคำให้สง่างามด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ อาจมีศูนย์เรียนรู้จำลอง อย่างไรก็ตามต้องรับฟังความเห็นจากชุมชนในพื้นที่ต่อไป
น.ส.อริสา จุมปูติ๊บ หรือ มายด์ อายุ 16 ปี ชั้น ม.5 โรงเรียนสารภีพิทยาคม ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้สกปรก มีขยะลอยมา ปลาตาย มีขวด ของเน่าเสียทิ้งลงน้ำ อยากให้พื้นที่นี้เป็นสวนสาธารณะที่ให้ความรู้ สะอาดและปลอดภัย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งที่น่าสนใจเหมือนสวนพฤกษศาสตร์ ให้ความรู้เรื่องฝาย สามารถสัมผัสมองเห็นได้ทั้งของจริงและจำลอง จะทำให้เราซึมซับเรื่องเหมืองฝายมากขึ้น
มายด์เล่าด้วยว่า ครูพาพวกเรามาร่วมงานครั้งนี้ พร้อมแบ่งกลุ่มให้สังเกตขั้นตอนในงาน สอบถามผู้รู้ หลังเสร็จพิธีแล้วให้สรุปและนำมาบอกเล่าเพื่อนๆ ในโรงเรียนฟัง ตนเองได้โจทย์เกี่ยวกับของเซ่นไหว้ ถ่ายรูปเก็บไว้และถามคนที่จัดเตรียม นอกจากนี้ได้รู้ความเป็นมาของฝายว่าเกิดขึ้นเพราะความต้องการใช้น้ำด้านการเกษตร เด็กรุ่นหลังบางคนไม่รู้จักฝายพญาคำ ถ้าไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมสานฝันงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็คงไม่รู้จัก
"หนูโชคดีมากได้เห็นช่วงที่น้ำขึ้นและไหลลงมา ได้รับรู้ภูมิปัญญาการจัดการน้ำของคนสมัยก่อน การนำสิ่งของที่คาดไม่ถึงมาทำฝาย ทำให้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำที่ต้องประหยัดและรักษาควบคู่กันไป เชื่อว่าในพื้นที่อื่นๆ ยังมีเรื่องดีๆ ที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำอย่างเดียว แต่พวกหนูยังไม่รู้เท่านั้น" มายด์กล่าวทิ้งท้าย