สืบทอดภูมิปัญญาไทย สร้างอาชีพ
เพราะทักษะที่เด็กนักเรียนได้รับในชั้นเรียนอาจไม่เพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน และตลาดแรงงานในท้องถิ่น โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างระนองที่มีจุดเด่นและจุดขายในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สร้างรายได้มหาศาลในแต่ละปีให้กับจังหวัด
ในกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและมีฐานะยากจน ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับก็จะออกไปสู่ภาคแรงงาน โดยขาดโอกาสและทักษะที่จะได้เรียนรู้ในสาขาอาชีพที่ตัวเองสนใจ กลายเป็นแรงงานราคาถูก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัด
คณะครูและผู้บริหาร โรงเรียนเทศบาลบ้านเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ได้เล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้น จึงได้จัดทำ “โครงการนวดเพื่อสุขภาพ” ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ภายใต้ “โครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ” เพราะเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสและอาชีพอิสระที่สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของจังหวัดในการพัฒนาสู่เมืองแห่งสุขภาพ เพื่อสร้างทักษะความรู้ความใจในเรื่องของ “การนวดแผนไทย” ที่นอกจากจะปูทางสร้างอาชีพในอนาคตแล้ว ยังช่วยสืบทอดภูมิปัญญาไทย และเป็นการสร้างรายได้ในระหว่างเรียนได้อีกด้วย
นางสาวกชพร ขวัญทอง ครูผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า เนื่องจากศาสตร์ของการนวดแผนไทยนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จึงหันมามองว่าเด็กๆ จะสามารถเรียนรู้และฝึกทักษะในเรื่องใดได้บ้าง จึงได้นำในสิ่งเขาสามารถทำได้ง่ายๆ มาพัฒนาให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ โดยเด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ ในเรื่องของสมุนไพร รวมไปถึงทักษะและวิธีการนวดแผนไทย ที่เรียกว่า การนวดโค้ง คอ บ่า ไหล่ ศีรษะ การนวดฝ่า และการใช้ลูกประคบ มาเป็นตัวช่วยในการนวดเพื่อผ่อนคลาย โดยมี ศูนย์สุขภาพเจ้าเรือนสปา โรงพยาบาลระนอง ช่วยสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และ เทศบาลเมืองระนอง ช่วยเปิดพื้นที่สำหรับฝึกทักษะอาชีพสร้างรายได้เสริมให้กับเด็กๆ เป็นประจำเมื่อทางจังหวัดจัดงานหรือกิจกรรมสำคัญต่างๆ นอกเหนือไปจาก“ห้องนวดเพื่อสุขภาพ” ที่ตั้งอยู่ภายในโรงเรียน
“ในการดำเนินงานเด็กจะเป็นคนจัดการเองทั้งหมด โดยมีแบ่งจัดสายแบ่งเวรประจำแต่ละวัน ซึ่งหัวหน้าในแต่ละสายก็จะเป็นคนบริหารจัดการทั้งหมดเกี่ยวกับการให้บริการ หรือแม้แต่เวลาที่เราออกไปข้างนอกเด็กก็จะได้ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนั้น และทักษะที่เด็กได้อีกตัวหนึ่งก็คือทักษะการสื่อสาร เมื่อเขาได้ออกไปเขาได้พูดคุยกับผู้รับบริการก็ถือว่าเขาได้มีการสื่อสารมีการปฏิสัมพันธ์ โดยหวังว่าเด็กจะสามารถนำความรู้และทักษะได้รับจากพี่ๆ วิทยากร จากการได้รับโอกาสจากหน่วยงานต่างๆ นำไปเป็นตัวเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพ เป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ให้กับเขา เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ไม่ต้องไปขึ้นตรงกับใคร ขอแค่อบรมผ่านได้รับใบรับรองจากศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานก็สามารถมาประกอบอาชีพส่วนตัวได้เลย ตรงส่วนนี้มากกว่าที่เราคาดหวังว่าเด็กสามารถนำความรู้ที่ได้
รับจากโครงการไปต่อยอดการเรียนรู้ในอนาคตให้กับตัวเอง” คุณครูกชพรกล่าว
นางสาวนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ หัวหน้าทีมติดตาม โครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ กล่าวว่าโครงการนวดเพื่อสุขภาพเป็นโครงการที่น่าสนใจมาก เนื่องจากเราพบว่าโครงการที่คุณครูคิดขึ้นมาและกระบวนการทำงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน แล้วก็ส่งผลไปที่ตัวเด็กและส่งผลไปที่ครอบครัว โดย สสค. และ สสส. ได้สนับสนุนงบประมาณในส่วนของการสนับสนุนกิจกรรมกระบวนการพัฒนาความรู้ให้กับเด็ก ทางคณะกรรมการสถานศึกษาเองก็เห็นความสำคัญเข้ามาช่วยสนับสนุนสร้างห้องนวดและเครื่องไม้เครื่องมือให้อีกส่วนหนึ่ง ส่วนเรื่ององค์ความรู้ของการนวดต่างๆ ก็มีศูนย์เจ้าเรือนสปา โรงพยาบาลระนอง ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้ามาให้ความรู้แล้วก็ตัวครูเองก็เข้าไปเรียนรู้ร่วมกับเด็กๆ
“การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพให้กับเด็ก บางคนที่สนใจจริงๆ ก็อาจจะไปเรียนต่อทางด้านแพทย์แผนไทยได้ ถ้าเขาไม่ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เด็กๆ ก็จะเริ่มรู้จักอาชีพ รู้ว่าเขาจะทำอะไรได้ถ้าเรียนจอบออกไปหรือไม่ได้เรียนต่อ และในขณะเดียวกันทางเทศบาลเมืองระนอง ก็ให้ความสำคัญโดยเปิดพื้นที่อีกให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะประสบการณ์ สร้างงานและอาชีพ โครงการนี้ สสค. จึงเปรียบเสมือนผู้ที่จุดไฟจุดประกายให้เกิดการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนจนเกิดขึ้นเป็นพลัง เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการทำงานอย่างเป็นระบบ ทุกภาคส่วนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกันทั้งหมด ก็สามารถส่งผลดีถึงสังคม ส่งผลดีถึงชุมชนได้ และเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก” อาจารย์นราทิพย์ระบุ
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)