สิทธิเยาวชน เรียนรู้เรื่องเพศ
ประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ วันที่สองเข้มข้น ถกประเด็นสิทธิเยาวชน เรียนรู้เรื่องเพศ เข้าถึงบริการคุมกำเนิดที่ถูกวิธี กุญแจป้องกันปัญหาท้องวัยรุ่นได้ผล ยกอังกฤษตัวอย่างที่ดี 12 ปี ลดวัยรุ่นท้อง 50% ด้าน สธ. เตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์ เพิ่มสิทธิเยาวชนเรียนรู้เรื่องเพศ รับบริการสุขภาพทางเพศ สิทธิเรียนต่อแม้ท้อง หวังแก้ปัญหาท้องวัยรุ่นอย่างครบวงจร
วันที่ 9 กันยายน ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร ร่วมกันจัด “การประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 1”ประเด็น “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น”
โดย ศ.โรเจอร์ อิงแฮม ศูนย์วิจัยด้านสุขภาพทางเพศ มหาวิทยาลัยเซาท์แธมตัน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า จากประสบการณ์แก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศอังกฤษ สามารถลดอัตราการตั้งครรภในวัยรุ่นลง 50% ในช่วงเวลา 12 ปี พบว่า ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ 2 ประการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิของเด็กและเยาวชน คือ 1.สิทธิที่จะได้เรียนรู้เรื่องสัมพันธภาพและเพศศึกษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็กเล็กในครอบครัว จนถึงในสถานศึกษา และ 2.สิทธิการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดได้โดยง่าย ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนโยบายชัดเจน และมีการฝึกอบรมปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วน ทุกระดับ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ รวมถึงตัวผู้ปกครองด้วย ให้เข้าใจเรื่องสุขภาวะทางเพศและมีทักษะการสื่อสารทางบวกกับวัยรุ่นในเรื่องเพศ ทั้งนี้ ผลงานวิจัยทั้งในอังกฤษและหลายประเทศ ยืนยันว่า การได้เรียนรู้เรื่องเพศ และการเข้าถึงบริการคุมกำเนิด ไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ในทางตรงข้าม วัยรุ่นที่เข้าถึงสิทธิ์ดังกล่าวกลับมีแนวโน้มลดการมีเพศสัมพันธ์ลงด้วย
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันกรมอนามัย ร่วมกับหลายภาคส่วน พัฒนาร่าง พ.ร.บ.อนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อให้เป็นหลักการพื้นฐานในการดูแลและคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศของคนทุกกลุ่มทุกวัย สำหรับประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญ อาทิ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้เรื่องสัมพันธภาพและเพศศึกษา เช่นเดียวกับในประเทศอังกฤษ สิทธิที่จะเข้าถึงบริการคุมกำเนิดที่ปลอดภัยและเหมาะสม สิทธิที่จะได้เรียนอย่างต่อเนื่องแม้จะตั้งครรภ์ เพื่อไม่เสียโอกาสพัฒนาศักยภาพตัวเองให้เต็มความสามารถ สิทธิที่จะเข้ารับบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศได้ง่ายโดยไม่ถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงสิทธิดังกล่าวต้องเป็นไปโดยง่ายในวัยรุ่นทุกคน ทุกกลุ่ม ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อย่างได้ผล
“แม้ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จะอยู่ระหว่างการดำเนินการยกร่าง แต่หากผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนโดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านสวัสดิการสังคม ตระหนัก เข้าใจ และผ่านกระบวนการฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนให้มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อเรื่องนี้ ก็จะมีส่วนช่วยลดและป้องกันปัญหานี้ลงได้มาก”นพ.กิตติพงศ์ กล่าว
นส.ชุลีพร ถาบุญ สภาเด็กและเยาวชน ต.หนองผึ้ง อ.สารภี เชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นอีกทางคือ การสนับสนุนให้เยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ได้สร้างสรรค์กิจกรรมในแบบที่มีส่วนร่วมและได้คิดด้วยตนเอง ซึ่งควรเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ไม่ใช่งานที่จัดเป็นครั้งคราว เพื่อให้ใช้เวลาที่เป็นประโยชน์ เพราะการที่วัยรุ่นได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องศิลปะ กีฬา งานจิตอาสา หรืออื่นๆ จะช่วยพัฒนาตัววัยรุ่นเอง และมีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และยังช่วยให้เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นเกราะป้องกันการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด รวมถึงอบายมุขต่างๆ และเรื่องเพศ ได้เป็นอย่างดี
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข