สิทธิของเด็กที่ต้องได้รับความคุ้มครอง
ที่มา : แนวหน้า
ภาพประกอบจาก สสส.
องค์การสหประชาชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องเด็ก โดยระบุว่า เด็กควรได้รับการคุ้มครองตามแนวคิด 3p ได้แก่ protection ปกป้องคุ้มครองprevention ป้องกันไม่ให้ถูกกระทำ และ promotion การพัฒนาและส่งเสริมให้เติบโตในสังคมอย่างมีคุณค่า เช่นเดียวกับประเทศไทย ก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 มาตรา 26 (4) ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ใช้สื่อในการโฆษณาที่ส่งผล กระทบต่อเด็ก เพราะหากเป็นข่าวเด็กที่นำเสนอออกไปในด้านลบ อาจเป็นการละเมิดและลิดรอนสิทธิที่เด็กควรจะได้รับความคุ้มครอง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมกับ คณะทำงานปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้าน กาญจนาภิเษก ได้จัดเวทีสัมมนา หัวข้อ "สื่อ" ข่าวเด็กอย่างไร? ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิ เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงความสำคัญในการนำเสนอข่าวเด็ก คัดกรองและตีกรอบเนื้อหา ก่อนเผยแพร่ เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว ซึ่งได้รับความชื่นชอบจากผู้เข้าฟังเป็นอย่างมาก
นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (พม.) กล่าวว่า ด้วยสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กมีข้อจำกัด การปกป้องเด็กที่แท้จริงจึงขาดหายไป กลไกการสื่อสารของสื่อและกลไกการช่วยเด็กที่จะไม่เกิดการละเมิดนั้น เจ้าหน้าที่พนักงานคุ้มครองเด็ก มีสหวิชาชีพในการช่วยเหลือ ปกป้องเด็กในการที่จะแสดงออก มีหน้าที่เชื่อมโยง พัฒนาคุ้มครองเด็ก เพราะในการ สื่อสารจำเป็นต้องมีนักสังคม นักจิตวิทยาเด็ก เข้ามาเชื่อมประสาน บุคคลเหล่านี้จะเข้าใจ ข้อมูล ความละเอียดอ่อน อารมณ์ จิต ปัญญา สังคมของเด็กแต่ละกรณี ซึ่งในการนำเสนอข่าวเด็กนั้น สื่ออาจใช้ภาพจำลอง และเลือกสื่อข่าวอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเด็กน้อยที่สุด
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบทางด้านจิตใจของเด็กและครอบครัว และการฟื้นฟูเยียวยา ว่า ประเทศไทยมีปัญหาความรุนแรงในสังคมสูงมาก ในขณะที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวออกไป เด็กและเยาวชนจะเป็น กลุ่มที่ได้รับความเสี่ยงเยอะ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็ก จนนำมาสู่อาการ เครียด วิตกกังวลอย่างรุนแรง มีอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ท้องเสีย คลื่นไส้ หรือบางราย เด็กอาจฝันร้าย นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และอาจจบด้วยการหนีโลกด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว การฟื้นฟูเยียวยาเด็กเป็นเรื่องที่ยากมาก เด็กจะไม่ปกติ และการจะลบตราบาปนั้นยากยิ่งกว่าโดยกระบวนการเยียวยามี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นจิตบำบัด เป็นการปรับสภาพความคิด ให้กลบความเครียด โดยใช้ระยะเวลานานมาก ขั้นต่อมา คือ การใช้ยา และขั้นสุดท้าย คือการเยียวยาด้วยกระบวนการทางสังคม โดยไม่ไปตอกย้ำและกระทำซ้ำอีก
นายเตชาติ์ มีชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงกรณีศึกษาสิทธิเด็กที่ไม่ควรถูกละเมิดกับความตระหนักร่วมของสังคมไทย ว่า ในอดีตความรุนแรงเกี่ยวกับเด็กค่อนข้างน้อย เพราะยังไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ แต่ในปัจจุบันทุกคนเป็นสื่อได้หมด สิ่งที่น่ากลัวคือ สื่อกระแสหลักจับข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์ มาเผยแพร่ แชร์ต่อ
ผลกระทบต่อเด็ก คือ เด็กกลัวการเปิดเผยตัวตน เปิดเผยใบหน้าและข้อมูลที่อยู่อาศัย ที่สามารถระบุถึงตัวตนได้ เพราะผลกระทบค่อนข้างเยอะ เป็นอันตรายต่อทั้งตัวเด็กและครอบครัว และบางเรื่อง สื่อกลับเป็นผู้สร้างและขยายความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ซึ่งการนำเสนอข่าวเด็กเป็นประเด็นที่ต้องคิดรอบด้าน ระมัดระวัง ดังนั้น ให้คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง
นายมานะชัย บุญเอก นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึง บทบาทหน่วยงานในสื่อออนไลน์และสิทธิเด็ก ว่า กระบวนการทำงานที่นำมาปฏิบัติในการป้องกันและปราบปรามนั้น ต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและคำสั่งศาลในการปิดการแสดง เพราะฉะนั้น หลักสำคัญในการนำเสนอข่าวเด็ก หรือการแชร์ต่อ ต้องใช้หลักจริยธรรม ความเมตตากรุณา และหลักการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งต้องอาศัย ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ และการสร้างพลังบวก นี่คือพื้นฐานในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนและพลเมืองผู้ใช้สื่อและสร้างสื่อต้องคิดสักนิดก่อนตัดสินใจแชร์
ถึงเวลาแล้ว ที่การนำเสนอข่าวเด็กต้องถือเป็นวาระสำคัญ ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว เพราะเรื่องการปกป้องเด็กต้องอาศัยความร่วมมือของทุก ภาคส่วนในการบูรณาการร่วมกัน ทั้ง สื่อมวลชนและประชาชนผู้รับข่าวสาร และผู้ส่งต่อข่าวสารนั่นเอง