สิงห์อมควันเมินบุหรี่มวนเอง หันมาสูบแบบซอง

          สิงห์อมควันเมินบุหรี่มวนเอง หันมาสูบแบบซอง

/data/content/19714/cms/bcilnqrtwz36.jpg

          น.ส.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การดำเนินงานของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ และภาคีเครือข่ายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระดับพื้นที่ สามารถลดจำนวนคนที่สูบบุหรี่มวนเอง จาก 5.3 ล้านคน ในปี 2554 เหลือ ไม่ถึง 4 ล้านคนในปี 2556 นอกจากนี้ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จำนวนคนที่สูบบุหรี่ซองเพิ่มจาก 6.1 ล้านคน ในปี 2554 เพิ่มเป็น 6.5 ล้านคน ในปี 2556 มีผลให้อัตราการสูบบุหรี่ในภาพรวมในปี 2556 เท่ากับ 20% ลดลงเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ในขณะที่ภาคใต้ยังคงครองแชมป์อัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดคือ 24.65% รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22.76%

          น.ส.ศิริวรรณ ยังชี้อีกว่า มาตรการสำคัญในการควบคุมกลยุทธ์การตลาดของบุหรี่ราคาถูกคือ ด้านราคาและด้านการควบคุมสารพิษ ที่ควรเร่งทำมี 2 เรื่องคือ 1.การเพิ่มอัตราภาษีตามสภาพ ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 1 บาทต่อกรัม จึงสามารถเพิ่มได้ถึง 3 บาทต่อกรัม ตามที่ พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการออกกฎกระทรวงไว้ โดยในแต่ละปีมีจำนวนบุหรี่ที่เสียภาษีกว่า 40,000 ล้านมวน หากเพิ่มภาษีจากมวนละ 1 บาทเป็น 3 บาท รัฐจะมีรายได้เพิ่มกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องออกประกาศลดจำนวนการถือเข้ามาในประเทศโดยไม่เสียภาษีอย่างเข็มงวดด้วย และ 2.การควบคุมระดับสารพิษและสารก่อมะเร็งในมวนบุหรี่และควันบุหรี่ เช่น สารไนโตรเซมีน และสารกลุ่มโพลีอโรมาติกไฮโครคาร์บอน เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ให้ส่งรายงานแค่ปริมาณ ทาร์ นิโคตินและคาร์บอนมอนออกไซด์ โดยในขั้นแรกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสามารถออกกฎกระทรวงได้ โดยกำหนดให้บริษัทบุหรี่รายงานปริมาณสารสารพิษและสารก่อมะเร็งในมวนบุหรี่และควันบุหรี่ แล้วนำข้อมูลมาใช้กำกับระดับสารพิษในขั้นต่อไป

          ด้าน น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ ศจย. สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดทำแผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักด้านยาสูบ จึงขอเชิญภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และหน่วยงานทั่วไปส่งแนวคิด “นวัตกรรมควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิผล” เพื่อที่ สสส.จะได้บรรจุไว้ในกรอบแผนการดำเนินงานในระยะ 3 ปีของ สสส. ในการสนับสนุนภาคีสร้างเสริมสุขภาพในการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบด้วย สามารถส่งไอเดียมาได้ที่ [email protected] หรือ sms มาที่ โทร.08-5668-0421 ภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code