สิงห์บุรีคัดกรองผู้ป่วยในเรือนจำ ‘คืนคนดีสุขภาพดีปลอดวัณโรค’
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
จากข้อมูลทางระบาดวิทยาวัณโรคของไทย พบว่าสถานการณ์ในกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำมีขนาดปัญหาสูงกว่ากลุ่มประชากรทั่วไปประมาณ 10 เท่า ดังนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ในการเร่งรัดการดำเนินงานวัณโรคในเรือนจำอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ซึ่งผลการดำเนินงานควบคุมวัณโรคเป็นที่ประจักษ์ และเป็นแบบอย่างให้กับนานาชาติได้ อย่างไรก็ตามยังคงมีบทเรียนรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องพัฒนาให้การดำเนินงานไปสู่เป้าหมายการลดโรคจนวัณโรคไม่เป็นปัญหาในกลุ่มประชากรดังกล่าวในที่สุด
การจัดทำมาตรฐานการป้องกันและรักษาวัณโรคในเรือนจำ (Standards for TB Prevention and Care in Prisons: QTBP) เป็นความจำเป็นเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานวัณโรคในเรือนจำให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับซึ่งเป็นแนวทางสากลสำหรับการดำเนินงานในปัจจุบัน และผู้จัดทำหวังว่าแนวทางมาตรฐานนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติงานวัณโรคทุกระดับ หากมีข้อเสนอแนะใด ๆ คณะผู้จัดทำยินดีรับข้อเสนอ เพื่อการปรับปรุงให้คู่มือมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564 ประเทศไทยตั้งเป้าลดอัตราอุบัติการณ์ของวัณโรคลงร้อยละ 12 ต่อปี จากปัจจุบัน 171 ต่อประชากรแสนคน ให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2564 และให้เหลือ 10 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2578 ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่อาจป่วยเป็นวัณโรคสูง ได้แก่ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวาน แรงงานข้ามชาติ บุคลากร
สาธารณสุข และผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวอีกว่า สำหรับวัณโรคในเรือนจำมีอัตราป่วยสูงกว่าประชากรทั่วไป 7 – 10 เท่า โดยประชากรผู้ต้องขัง 100,000 คน จะมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 700 คน หากผู้ต้องขังไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา โอกาสที่จะแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่น ๆ ในเรือนนอนได้ง่ายและเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคดื้อยาเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั่วไป ทั้งนี้ การดำเนินงานวัณโรคในเรือนจำ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการค้นหาวัณโรคเชิงรุกโดยเอกซเรย์ปอด 100% มีการแยกเรือนนอนผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่กระจายเชื้อ การดูแลผู้ป่วยให้กินยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทุกวัน เพื่อเป็นการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้พบโดยเร็ว ลดการระบาดในเรือนจำ ซึ่งถือเป็นแนวทางร่วมกันที่จะ "คืนคนดี สุขภาพดี ปลอดวัณโรค สู่สังคม"
นายแพทย์มณเฑียร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี และเรือนจำจังหวัดสิงห์บุรี ได้ดำเนินการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำจังหวัดสิงห์บุรีด้วยการเอกซเรย์ปอดผู้ต้องขังทุกรายในวันนี้ ตามโครงการเร่งรัดการควบคุมวัณโรคจังหวัดสิงห์บุรี ปี 2561 และมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำจังหวัดสิงห์บุรี ระหว่าง 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี และเรือนจำจังหวัดสิงห์บุรี ที่จะประสานความร่วมมือระหว่างกัน และสนับ สนุนการดำเนินงาน ตลอดจนติดตามประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและต่อเนื่อง
"ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและดูแลรักษาวัณโรคและวัณโรคดื้อยาในเรือนจำ และให้ผู้ต้องขังปลอดภัยจากวัณโรคด้วยความเสมอภาคเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป จึงได้กำหนดมาตรการการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการตรวจวินิจฉัย และรักษาวัณโรคตามมาตรฐานที่เร็วขึ้น ดังนี้
1. เรือนจำจังหวัดสิงห์บุรี นำผู้ต้องขังแรกรับทุกรายทำการเอกซเรย์ปอดที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี หากผิดปกติให้เก็บเสมหะส่งตรวจ AFB และ Molecular testing ตามแนวทางการคัดกรองเพื่อค้นหาวัณโรคและวัณโรคดื้อยา กรมควบคุมโรค 2. โรงพยาบาลสิงห์บุรี จัดช่องทาง Green Channel สำหรับผู้ต้องขังเข้าเอกซเรย์ปอดในช่วงบ่ายของทุกวันในเวลาราชการ และช่วงวันหยุดยาว 3. เรือนจำจังหวัดสิงห์บุรี จัดห้องแยกสำหรับผู้ต้องขังใหม่ที่ยังไม่ได้ทำการเอกซเรย์ปอด 4. เจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดสิงห์บุรี ดูแลผู้ป่วยวัณโรค โดยให้ผู้ป่วยกินยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่(DOT) ทุกวัน 5. กรณีผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษที่เป็นผู้ป่วย ส่งข้อมูลให้คลินิกวัณโรค โรงพยาบาลสิงห์บุรีดำเนินการให้คำปรึกษา และตรวจสอบที่อยู่เพื่อทำการส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลปลายทาง 6. เรือนจำจังหวัดสิงห์บุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี จัดกิจกรรมการคัดกรองผู้ป่วย วัณโรคในเรือนจำจังหวัดสิงห์บุรี ปีละ 1 ครั้ง" นายแพทย์มณเฑียร กล่าว.