สำรวจสุขภาพจิตของคนทำงาน
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร สสส.เผยสุขภาพจิตของคนทำงานอาชีพต่างๆ ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาพบ กลุ่มคนทำงานรับจ้างมีคะแนนต่ำสุด เหตุจากไม่มีความมั่นคง และมีรายได้ไม่แน่นอน ส่วนกลุ่มที่มีความมั่นคงทางอาชีพเช่นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ มีคะแนนสูงสุด
น.ส.ศิริพร เค้าภูไทย นักวิชาการสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดทางด้านสุขภาพจิตของคนทำงานอาชีพต่างๆ ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต และสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า อาชีพข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้คะแนนสุขภาพจิตมากที่สุด โดยได้ 33.8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 45 คะแนน
เนื่องจากมีความมั่นคงทางอาชีพการงานส่งผลต่อความมั่นคงทางจิตใจของคนทำงานด้วยกลุ่มที่ได้คะแนนรองลงมา คือ นักเรียน 32.6 คะแนน ธุรกิจส่วนตัว 32.2 คะแนน เกษตรกร32.1 คะแนน
สำหรับกลุ่มที่มีคะแนนสุขภาพจิตต่ำที่สุดคือ คนทำงานรับจ้าง 30.1 คะแนน เนื่องจากเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคงและมีรายได้ไม่แน่นอนส่งผลต่อสภาพจิตใจเป็นไปในทางลบ ส่วนกลุ่มที่ได้คะแนนสุขภาพจิตต่ำใกล้เคียงกันคือ แม่บ้านและลูกจ้างเอกชน ได้ 31.1 คะแนนเท่ากัน นอกจากนี้ยังพบว่าความเคร่งครัดทางศาสนา การปฏิบัติตามหลักคำสอน และการมีเวลาให้แก่กันอย่างเพียงพอของสมาชิกในครอบครัว เป็นปัจจัยที่ช่วยให้สุขภาพจิตของคนดีขึ้น
“สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ประชากรในวัยต่างๆ มีความเครียด เป็นโรคซึมเศร้าและตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยสถิติตั้งแต่ปี 2548-2553 พบว่า วัยทำงานอายุระหว่าง 15-59 ปี เป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด 7.1 คนต่อแสนคน ในจำนวนนี้กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 25-59 ปีมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 4.6 ต่อแสนประชากรมากกว่ากลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง15-29 ปี ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 2.2 ต่อแสนประชากร
สาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ ผิดหวังในเรื่องความรักประสบ กับปัญหาการเล่าเรียน และปัญหาทางด้านครอบครัว ผู้ที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 4 เท่าตัวของการฆ่าตัวตายของทุกปี ขณะที่แรงงานไทยเกือบ 1 ใน 10 ตั้งแต่ระดับกรรมกรจนถึงคนทำงานบริษัท คิดจะฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากคุณภาพชีวิตไม่ดีพอโดยเฉพาะผู้มีอาชีพรับจ้างทั่วไปมีสุขภาพจิตต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ และมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายสูงตรงกันข้ามกับอาชีพข้าราชการที่มีสุขภาพจิตดีทำให้มีอัตราฆ่าตัวตายต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ” น.ส.สิริกร กล่าว
น.ส.สิริกร กล่าวอีกว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในวัยทำงานถือเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิต ควรมีนโยบายแก้ปัญหาสังคมและสุขภาพจิตให้ตรงจุดพร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและทักษะในการแก้ปัญหาชีวิตแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ อาชีพรับจ้างรายวัน ซึ่งมีความบีบคั้นและความยากลำบากในการดำรงชีวิตมากที่สุด อีกทั้งยังต้องร่วมมือกับชุมชนในการเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย รวมทั้งการให้คำปรึกษาจากจิตแพทย์ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย