สำรวจพบ! เด็กที่ให้ปู่-ย่า-ตา-ยายเลี้ยง มักก้าวร้าว

ชี้เสี่ยงป่วยโรคทางเดินหายใจสูงถึง 83.4 %

สำรวจพบ! เด็กที่ให้ปู่-ย่า-ตา-ยายเลี้ยง มักก้าวร้าว 

          ผลสำรวจพบ เด็กที่พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงเอง ถูกตามใจมาก เอาแต่ใจตัวเอง เสี่ยงเป็นโรคทางเดินหายใจสูง

 

          นางนิภา ศรีมนตรี ศูนย์สุขภาพชุมชนหัวนาคำ จ.มหาสารคาม เปิดเผยผลการเก็บตัวอย่างการสำรวจคุณภาพชีวิตเด็กอายุ 0-6 ปี โดยที่ผู้เลี้ยงไม่ใช่พ่อแม่ ใน ต.หนองปลิง ซึ่งในชุมชนมีเด็กอยู่ทั้งหมด 368 คน ได้รับการเลี้ยงดูโดย ปู่ ย่า ตา ยาย โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์รายบุคคล พบว่า ในชุมชนมีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม อาชีพรอง คือ รับจ้าง รายได้เฉลี่ย 4,000-6,000 บาท ส่วนใหญ่พ่อ แม่ อยู่ในวัยแรงงาน และส่งเด็กให้ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นผู้เลี้ยงโดยส่งเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายให้เป็นค่าเลี้ยงดู ซึ่งวิธีการเลี้ยงและดูแลเรื่องอาหาร จะทำตามพัฒนาการภูมิปัญญาชาวบ้าน

 

          นางนิภา กล่าวต่อว่า จากข้อมูลผู้มารับบริการในศูนย์สุขภาพชุมชน พบว่า เด็ก อายุ 0-6 ปี ที่ปู่ ย่า ตา ยาย เลี้ยงดู เจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ร้อยละ 83.4 โรคระบบทางเดินอาหาร ร้อยละ 63.2 โรคผิวหนัง ผื่นคัน พุพอง ร้อยละ 33.7 และมีเด็กส่วนหนึ่งที่ถูกทอดทิ้งไม่มีใครใส่ใจดูแล เมื่อสำรวจในเรื่องทัศนคติการเลี้ยงนั้น พบว่า ปู่ ย่า ตา ยาย จะคิดว่าตนเลี้ยงเด็กได้ดีกว่าพ่อแม่เด็ก ส่วนชุมชนและกลุ่มเพื่อนบ้าน มีทัศนคติในการเลี้ยงหลาน ว่า อยากให้เด็กอยู่กับพ่อแม่มากกว่า เพราะปู่ ย่า ตา ยาย จะเลี้ยงแบบรักและตามใจเด็กมาก ทำให้เกิดปัญหาเด็กก้าวร้าว เอาแต่ใจตนเอง นอกจากนี้ ผลของการต้องเลี้ยงหลาน ยังพบว่า ผู้สูงอายุในชุมชน มีความเจ็บป่วย ในเรื่องการปวดหลัง ปวดเอว วิงเวียน และวิถีชีวิตเปลี่ยนไป

 

          การเลี้ยงดูเด็กอายุ 0-6 ปี โดยผู้ที่ไม่ใช่พ่อแม่ ทำให้เกิดทั้งผลดี ผลเสีย โดยผลดี คือ เด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ทดแทนส่วนที่ขาดจากพ่อแม่ ผลเสีย คือ เด็กได้รับการตามใจมากเกินไป ทำให้เด็กก้าวร้าวเอาแต่ใจตัวเอง ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นปัญหาสังคมในอนาคต นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุในชุมชนด้วย ซึ่งชุมชนอื่นๆ เชื่อว่า มีลักษณะคล้ายกัน จึงจำเป็นต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุในชุมชนด้วยนางนิภา กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

 

 

update 09-06-51

 

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code