สำรวจพบ สิงห์อมควันแห่ดูดบุหรี่มวนเอง
เตือนกระดาษตัวก่อมะเร็งปาก
พบหลังรัฐบาลออกมาตรการเพิ่มภาษีบุหรี่แบบซอง ทำให้มีราคาแพงขึ้น ส่งผลสูบลดลง แต่บางส่วนหันมาสูบบุหรี่แบบมวนเองเพราะราคาถูก วิจัยชี้บุหรี่มวนเองเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในช่องปาก
รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องเส้นทางยาเส้น กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ของพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือของผู้สูบบุหรี่และผู้ค้าทั้งแบบซองและแบบมวนเอง โดยแยกเป็นเกษตรกรจำนวน 400 ราย กลุ่มโรงงานทั้งหมด 61 โรงงาน ร้านค้าในชุมชนจำนวน 200 ร้านค้า และผู้สูบบุหรี่มวนเองจำนวน 400 ราย โดยเริ่มทำการสำรวจตั้งแต่เดือน พ.ย.2551 ถึงปัจจุบัน พบว่าหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการเพิ่มภาษีบุหรี่แบบซองเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ ทำให้บุหรี่แบบซองมีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้การสูบบุหรี่ลดลง แต่มีนักสูบบางส่วนที่เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาสูบบุหรี่แบบมวนเองมากขึ้นเนื่องจากมีราคาถูก
รศ.ดร.บัวพันธ์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า อัตราการสูบบุหรี่แบบมวนเองของนักสูบเพิ่มสูงขึ้น ต่อเดือนจะมีจำนวนผู้สูบบุหรี่แบบมวนเองสูงถึงร้อยละ27.6 ขณะที่จำนวนผู้สูบบุหรี่แบบซองอยู่ที่ร้อยละ 9 หากเปรียบเทียบการสูบต่อวัน มีจำนวนผู้สูบบุหรี่แบบมวนเองร้อยละ16.30 บุหรี่แบบซองร้อยละ 4.83 ซึ่ง นักสูบต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่ต่อสัปดาห์เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด แบ่งเป็นบุหรี่แบบมวนเอง ร้อยละ 16.89 ส่วนบุหรี่แบบซอง ร้อยละ 35 สะท้อนว่าบุหรี่แบบมวนเองเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมของนักสูบอีกครั้ง เพราะมีราคาถูกเมื่อเทียบกับบุหรี่แบบซอง อีกทั้งปัจจุบันผู้ผลิตมีการปรับปรุงรสชาติยาเส้นให้มีความใกล้เคียงกับบุหรี่แบบซองให้สามารถทดแทนกันได้ส่ งผลให้ร้านขายของชำในหมู่บ้านจำหน่ายบุหรี่แบบมวนเองแทบทุกร้าน
ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)กล่าวว่า บุหรี่มวนเองเป็นเพียง1 ในปัญหาของการบริโภคยาสูบที่ยังขยายตัว งานวิจัยชี้ชัดว่านักสูบส่วนใหญ่เข้าใจผิด ว่าบุหรี่มวนเองมีพิษภัยน้อยกว่าบุหรี่ซองทั้งที่ความจริง ทำให้เกิด มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ได้เช่นกัน ส่วนกระดาษที่ใช้มวนหากเป็นกระดาษที่มีสีสัน อาจมีสารเคมีเคลือบปน เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในช่องปาก
ซึ่งการสนับสนุนให้มีนักวิจัยมาศึกษาปัญหาบุหรี่จะทำให้ได้ข้อเท็จจริง รู้เท่าทันสภาพปัญหา ศจย. จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเครือข่ายนักวิจัยด้านบุหรี่ 4 ภาคทั่วประเทศ โดยจะนำร่องในภาคอีสานที่คณะวิศวกรรมศาสตร์จ.ขอนแก่น วันที่ 27-29 ต.ค. นี้นอกจากนี้ มีตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจ คือ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าสมุนไพรหญ้าดอกขาว ช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ได้ สอดคล้องกับผลวิจัยสถาบันธัญลักษณ์ ศจย.จึงร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ นำผลการศึกษาไปต่อยอด นำสมุนไพรหญ้าดอกขาวไปสกัดเป็นสารเลิกบุหรี่ ในรูปแบบของลูกอมคาดว่าจะผลิตออกมาให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ได้ใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ที่มา: หนังสือพิมพ์astvผู้จัดการรายวัน
update: 26-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย