สำรวจพบโรคเรื้อรังมีอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3 เท่า
อ้วน เบาหวาน หลอดเลือดพุ่ง! ตายแล้วกว่าแสนราย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 (national health examination survey iv) เพื่อศึกษาแนวโน้มปัญหาสุขภาพ และเป็นข้อมูลกำหนดนโยบายป้องกันและดูแลสุขภาพระดับประเทศ
หลังจากสำรวจเมื่อปี 2534,2539 และ 2547 พบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โรคอ้วน เพิ่มจากร้อยละ 20 เป็น 25 และ 34 ตามลำดับ ส่วนโรคเบาหวาน เพิ่มจากร้อยละ 3.1 เป็น 8.1 และ 10.2
ส่วนการสำรวจครั้งล่าสุด พบโรคอ้วน 13 ล้านคน อ้วนลงพุง 12 ล้านคน เบาหวาน 3 ล้านคน ความดันโลหิตสูง 10 ล้านคน ไขมันในเลือดสูง 7 ล้านคน และพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ในผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้นด้วย
โรคเรื้อรังเป็นสาเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 30 นอกจากทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ จากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานและยังเป็นภาระด้านงบประมาณในการดูแลรักษาอย่างมาก
แต่ละปีไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดกว่า 1 แสนราย หรือร้อยละ 25 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ผู้ป่วยโรคหัวใจเสียค่าใช้จ่ายต่อปีเฉลี่ยคนละ 1 แสนบาท โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คนละประมาณ 7,000-19,000 บาท โรคหลอดเลือดสมองคนละประมาณ 10,000-200,000 บาท คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท” นพ.ศุภชัยกล่าว
รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ผู้อำนวยการสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สวรส. ระบุว่า ประเด็นสุขภาพที่ทำการสำรวจในกลุ่มเด็ก ได้แก่ พัฒนาการทางสมอง ทางอารมณ์ พฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกาย การตรวจสารไอโอดีนในปัสสาวะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
update: 30-05-51