สำรวจปชช. 90% หนุนติดภาพเตือนพิษเหล้า
ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์
ศวส.เผยผลสำรวจ ปชช. 90% หนุนให้มีภาพเตือนพิษภัยบนขวดเหล้าคล้ายบนซองบุหรี่ พบฉลากเหล้าที่มีภาพดารา-นักร้อง-นักกีฬา ล้วนจูงใจให้ดื่ม
ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ศวส. ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ลงพื้นที่สำรวจการรับรู้และความคิดเห็นต่อฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากประชาชน 16 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 4,074 ตัวอย่าง พบว่า แม้จะมีประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บังคับใช้มาแล้ว 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558 แต่ยังพบการกระทำผิดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมากว่า 35% เคยพบเห็นลักษณะต้องห้ามในรูปแบบต่างๆ ปรากฏบนฉลากและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ภาพศิลปิน นักร้อง นักแสดง นักกีฬา รวมถึงการ์ตูน ซึ่งมีผลทำให้ผู้ที่เคยพบเห็นกว่า 30% อยากซื้อ และ 20% อยากดื่มเพิ่มขึ้น
“ฉลากสินค้าถือเป็นสื่อโฆษณาประเภทหนึ่ง ภาพหรือข้อความบนฉลากมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค สามารถชักจูงใจและกระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมข้อความ ภาพ หรือลักษณะบางประการบนฉลาก เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ถูกชักจูงได้ง่ายอย่างเข้มงวด และควรเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์ต่อมาตรการฉลาก ขณะเดียวกัน ด้านการรับรู้ของประชาชนยังพบปัญหาคือ ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเกี่ยวกับมาตรการฉลาก และกว่า 80% เห็นด้วยกับมาตรการกำหนดลักษณะต้องห้ามต่างๆ อาทิ การใช้ข้อความอันเป็นเท็จ เกินความจริง อวดอ้างสรรพคุณ การใช้ภาพศิลปิน นักร้อง นักแสดง นักกีฬา รวมถึงภาพการ์ตูน ปรากฏบนฉลาก” ศ.พญ.สาวิตรีกล่าว
ด้าน นายธน หาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านขายของชำ พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ทุกยี่ห้อ มีข้อความคำเตือนเหมือนกันคือ “ห้ามจำหน่ายสุราแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ไม่ควรดื่ม” ซึ่งผลสำรวจพบผู้ที่ดื่มกว่า 2 ใน 3 ระบุไม่มีผลให้ดื่มลดลงแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ส่วนใหญ่ 93.8% ระบุว่า เห็นด้วยหากจะมีภาพและข้อความคำเตือนบนฉลาก คล้ายกับที่มีภาพและข้อความคำเตือนบนซองบุหรี่ ซึ่งสนับสนุนให้มีการแก้ไขข้อความคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“การสำรวจครั้งนี้ยังพบประเด็นน่าสนใจอีกว่า กว่าครึ่งเห็นว่าโลโก้น้ำดื่ม โซดา คล้ายคลึงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นตราสินค้าเดียวกัน ทำให้คนกลุ่มดังกล่าว 59.2% นึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 16.9% ต้องการจะดื่ม เรื่องนี้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ ที่สามารถแสดงตราสัญลักษณ์ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ผิดกฎหมาย และยังมีผลต่อการชักจูงใจให้ดื่มอีกด้วย ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายในเชิงมาตรการของภาครัฐที่จะต้องก้าวให้ทัน” นายธนกล่าว