สำนึกพระบารมี ร.๙ ผู้ทรงขับเคลื่อนคุมยาสูบของไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ในวันที่ 4 ธันวาคม 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตรัสแสดงความห่วงใยปัญหาการสูบบุหรี่ในหมู่เยาวชนและพิษภัยของบุหรี่ กับคณะรัฐมนตรีและคณะบุคคลภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันลงมือแก้ไข ดังความตอนหนึ่งว่า
"…เด็กๆ จะต้องสามารถเรียนรู้ เรียนให้ทำงาน เพื่อช่วยบ้านเมือง ถ้าเด็กไม่มีความรู้ ช่วยบ้านเมืองไม่ได้ บ้านเมืองไปไม่รอด เพราะเด็กมัวแต่ไปเสพยาเสพติด สูบบุหรี่ ไม่ดี เสพยาไม่ต้องบอกหรอกว่าเสียหายยังไง แต่บุหรี่นี่หูเสีย ตาเสีย สมองเสีย เส้นเลือดเสีย…"
"…คนที่สูบบุหรี่สมองก็ทึบ ทำไปทำมาก็ทึบขึ้นทุกที เพราะว่าทึบเพราะว่าเส้นเลือดในสมองมันตีบ มันเล็ก คิดอะไรไม่ออก ตอนแรกนึกว่าคิดออก แต่ทีหลังมันก็คิดไม่ออก ทีแรกนึกว่า คนเราสูบบุหรี่ทำให้กระฉับกระเฉง ตรงข้าม ไม่กระฉับกระเฉง ทำให้รู้สึกว่าทึบ สมอง มันทึบ สมองมันตัน ก็เลยเห็นว่าเลิกสูบบุหรี่ดีกว่า เห็นมีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ แล้วก็ห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ที่จริงเด็กอายุ 50 ก็ควรจะห้าม…" พระราชดำรัสนี้ ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องต่างตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบริโภคยาสูบ และดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดเผยว่า ตลอด 25 ปี การป้องกันและแก้ไขปัญหาการบริโภคยาสูบในประเทศไทย เกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยการปกครอง ปีที่ 46-70 หรือปี 2535-2559 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประเทศไทยได้ผ่านกฎหมายควบคุมการบริโภค ยาสูบที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535
โดยมีสาระสำคัญ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯนั้น ห้ามไม่ให้มีการโฆษณายาสูบในสื่อต่างๆ โดยสิ้นเชิง และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเพื่อปกป้อง ไม่ให้ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ต้องได้รับควันบุหรี่มือสองจากผู้ที่สูบบุหรี่ กฎหมาย 2 ฉบับนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมที่เห็นการสูบบุหรี่เป็น เรื่องเท่จากการโฆษณาและจากการเห็นผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ในสถานที่ต่างๆ ทั่วไปหมด กลายเป็นค่านิยมที่เห็นว่า การสูบบุหรี่เป็นที่น่ารังเกียจ จากการเห็นว่าผู้สูบบุหรี่ไม่สามารถสูบบุหรี่ตามสถานที่สาธารณะได้อย่างเปิดเผย จนกลายเป็นเหมือนต้องหาที่สูบแบบหลบๆ ซ่อนๆ ตลอดจนไม่มีการโฆษณาจูงใจมอมเมาให้เห็นว่าการสูบบุหรี่เป็น เรื่องดีอีกต่อไปในประเทศไทย
ในช่วงปี 2536-2555 รัฐบาลไทยยังขึ้นภาษีบุหรี่รวม 10 ครั้ง คิดเป็นขึ้นภาษีบุหรี่เฉลี่ยทุก 2 ปี นอกจากนั้น ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีมาตรการเตือนพิษภัยของการบริโภคยาสูบด้วยภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นประเทศที่ 4 ของโลก โดยเริ่มต้นในปี 2547 และต่อมา ปี 2556 มีการขยายขนาดภาพคำเตือนเป็นร้อยละ 85 ของซองบุหรี่ ซึ่งเป็นขนาดภาพคำเตือนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น
และล่าสุด ปี 2559 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เครือข่ายหมออนามัย และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตลอดจนภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันจัดโครงการรณรงค์เชิญชวนท้าชวนให้เกิดผู้เลิกสูบบุหรี่สำเร็จจำนวน 3 ล้านคน 3 ปี ทั่วประเทศไทย เพื่อเทิดไท้องค์ราชัน
"ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทั้งทางตรงและทางอ้อม และมาตรการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น พร้อมด้วยการดำเนินการรณรงค์ให้ความรู้ถึงโทษพิษภัยของยาสูบแก่ประชาชน ตลอดจนการเชิญชวนและท้าชวนให้ผู้สูบเลิกสูบบุหรี่ ส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 32 ในปี 2534 เหลือร้อยละ 20 ในปี 2558 พร้อมกับการเปลี่ยนค่านิยมจากการเห็นการสูบเป็นเรื่องเท่ กลายเป็นเห็นการสูบเป็นเรื่องไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม นี่คือความสำเร็จของการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาสูบ" นพ.บัณฑิตกล่าว
องค์การอนามัยโลกพิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยประสบความคืบหน้าอย่างมากในการควบคุมยาสูบ เป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศต่างๆ ในโลกได้ จึงจัดให้มีการ ถวายโล่เกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นกรณีพิเศษในงานวันงดสูบบุหรี่โลกที่จัดขึ้นเป็นพิเศษที่กรุงเทพมหานคร ในปี 2543 โดยระบุคำประกาศเกียรติคุณบนโล่ที่ถวายพระองค์ ดังนี้
"ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแห่งประเทศไทย เพื่อเชิดชู พระเกียรติในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำทางจิตใจที่มุ่งมั่นและกอปรด้วยพลัง ทรงเป็นแบบอย่างทางสาธารณสุข ได้ทรงสร้างแนวทางตลอดจนบริบททางวัฒนธรรม ที่สนับสนุนกิจกรรมต่อต้านบุหรี่ที่โดดเด่นที่สุดในเอเชีย อีกทั้งได้พระราชทานแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่แก่ราษฎรของพระองค์ ประชาชนในภูมิภาคและในโลก"
นพ.บัณฑิต กล่าวทิ้งท้ายว่า นี่คือประจักษ์พยานที่โลกมองเห็นพระบารมีของพระองค์ที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย