สาเหตุที่พบบ่อยของ “อาการหน้ามืดเป็นลม”
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
อาการหน้ามืด หมายถึงอาการวิงเวียนหัว ตามัวจนมองอะไรพร่าไปหมด หรือวูบไปคล้ายจะไม่รู้สึกตัว (หมดสติ) แต่ยังรู้สึกตัวอยู่ (ยังไม่หมดสติ) อาการเวียนหัวในที่นี้ไม่ใช่อาการวิงเวียนที่เกิดจากความรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่รอบตัว (บ้าน) หมุน หรือตัวเองหมุน
อาการเป็นลม หมายถึง อาการหมดสติไปชั่วขณะ จากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงทันที ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลงทันที (ปริมาณเลือดจากหัวใจลดลงทันที) ทำให้สมองโดยทั่วไปขาดแคลนเลือดไปเลี้ยงฉับพลัน จึงทำให้หมดสติไปชั่วครู่ (ในเวลาพริบตาเดียว ไม่กี่วินาที หรืออาจเป็นเวลาหลายนาที แต่ไม่ถึงชั่วโมง)
โดยทั่วไปจะวินิจฉัยอาการหน้ามืดเป็นลมได้ จากการที่คนไข้ล้มลง ทรุดลง หรือฟุบลง ไม่รู้สึกตัวหรือไม่ค่อยรู้สึกตัว แต่ยังหายใจได้ และคลำชีพจรได้ ส่วนคนไข้ที่มีอาการหน้ามืด จะยังรู้สึกตัวอยู่ แต่อาจจะมึนงง รู้สึกหวิวหรือวูบและอ่อนแรงลงเท่านั้น
1. เป็นลมธรรมดา
เป็นอาการหน้ามืดเป็นลมที่พบบ่อยที่สุด มักเกิดในคนที่ร่างกายและ/หรือจิตใจอ่อนแอ เช่น ไม่สบาย เพิ่งฟื้นไข้ อดนอน หิวข้าว หิวน้ำ แล้วต้องอยู่ในที่ร้อนและอบอ้าวหรือแออัด โดยเฉพาะถ้าเครียด กังวล หงุดหงิด โกรธ หรือกลัว จะเกิดอาการง่ายขึ้น คนที่ออกกำลังในที่ร้อน ก็อาจเป็นลมเพราะร้อนได้
อาการมักจะเกิดขึ้นเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะแรก คนไข้มักจะมีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย ใจเต้นเร็วขึ้น หรือแรงขึ้น(ใจสั่น) หายใจ แรงขึ้น ถ้าวัดความดันเลือดจะพบว่า ความดันเลือดสูงขึ้น น้ำลายสอ หาวบ่อย เมื่อมีอาการเช่นนี้แล้ว ถ้าคนไข้ได้นั่งพักหรือนอนพักในที่เย็น ๆ ดมยาดมหรือโบกพัดลมให้ชุ่มชื่นขึ้น คนไข้ก็จะเป็นลมและกลับหายเป็นปกติ แต่ถ้าคนไข้ยังอยู่ในสภาพเหมือนเดิม อาการจะเข้าสู่ระยะที่ 2
ระยะที่สอง อาการในระยะนี้ อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการในระยะแรกก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการในระยะแรกนำมาก่อน แล้วต่อมาจะรู้สึกหัวเบา ตัวเบาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้ ขนลุก หน้าซีด มือเท้าเย็นซีด เหงื่อแตก อยากปัสสาวะ หรือกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยไหว ตาพร่ามัว สิ่งรอบตัวมืดลงแล้วหมดสติ(ไม่รู้ตัว) คนไข้มักจะค่อย ๆ ฟุบหรือทรุดลงกับพื้น แต่ในบางครั้ง ถ้าระยะที่สองนี้เกิดขึ้นฉับพลัน คนไข้อาจจะล้มฟาดทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ร่างกายส่วนต่าง ๆ ได้ และในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถฟุบหรือทรุดลงกับพื้น หรือในกรณีที่เป็นมาก คนไข้อาจมีอาการชักเกร็งจากสมองขาดเลือดได้
ถ้าตรวจคนไข้ในระยะที่สองนี้ มักจะพบว่าหัวใจเต้นช้าลง อาจจะเต้นช้ามาก และอาจจะเต้นไม่สม่ำเสมอด้วย ความดันเลือดจะตกมาก จนอาจวัดได้ยาก แต่เมื่อคนไข้ล้มลง หรือทรุดลงจนนอนราบกับพื้นได้แล้ว คนไข้จะฟื้นคืนสติในเวลาไม่กี่นาที (ภายใน 5-10 นาทีเป็นส่วนใหญ่) แต่อาจจะรู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ไม่มีแรง และรู้สึกไม่ค่อยสบายอยู่เป็นเวลาอีก 1-2 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นได้
การป้องกัน : ไม่ให้เกิดอาการเป็นลมแบบนี้ขึ้นบ่อย ๆ คือ การบำรุงรักษาสุขภาพทั้งกายและใจให้แข็งแรง อย่าเข้าไปอยู่ในที่ร้อน อบอ้าว หรือแออัด ในขณะที่ร่างกายอ่อนแอ จิตใจเครียด กังวล หงุดหงิด หรือไม่สบาย และเมื่อรู้สึกกระสับกระส่าย น้ำลายสอ หาวบ่อย ๆ มึนงง หรืออื่น ๆ รีบนั่งลง โดยเฉพาะท่านั่งหรือฟุบศีรษะ ลงกับเข่าหรือโต๊ะ หรือถ้ามีที่ที่สามารนอนลงได้ให้นอนลงทันที อาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าปล่อยจนเป็นลมแล้ว อาการจะดีขึ้นอย่างช้า และจนมีอาการอื่น ๆ หลงเหลืออยู่แม้จะฟื้นสติแล้ว
2. เป็นลมเมื่อเปลี่ยนท่า
คืออาการหน้ามืด เป็นลมเป็นเมื่อเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่ง หรือท่ายืน โดยเฉพาะถ้าลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วจากท่านอนหรือท่านั่ง หรือการยืนอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานาน มักเกิดกับคนไข้ที่
-
- สูงอายุ ร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะคนที่นอนอยู่กับเตียงเป็นเวลานาน ๆ (หลายวันขึ้นไป) จนกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงและไม่ตึงตัว ทำให้เวลาลุกขึ้น เลือดจะตกไปกองอยู่ที่ขา ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง
-
- ได้รับยาที่ทำให้ความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่า เช่น ยาลดความดันเลือดหลายชนิด, ยาขับปัสสาวะ ยาแก้อาการซึมเศร้า ยานอนหลับ เป็นต้น
-
- ปริมาตรพร่อง (ปริมาตรเลือด หรือปริมาตรน้ำในร่างกายพร่อง) เช่น คนไข้ตกเลือด คนไข้ท้องเดินมาก คนไข้อาเจียนมาก คนไข้ปัสสาวะมาก เป็นต้น
-
- ระบบประสาทผิดปกติ เช่น ปลายประสาทพิการ จากเบาหวาน จากโรคซิฟิลิส (กามโรคชนิดหนึ่ง) หรืออื่น ๆ ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ สมองพิการบางชนิด เป็นต้น
-
- ขามีหลอดโป่งขดมาก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาก ทำให้เลือดไปคั่งอยู่ในบริเวณขาโดยเฉพาะในท่ายืน
อาการมักจะเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็วกว่าอาการเป็นลมธรรมดา คนไข้อาจเกิดอาการทันทีที่ลุกขึ้นยืน หรือหลังจากนั้นไม่กี่นาที(หลังลุกขึ้น และเดินไปแล้วสักครู่) โดยจะรู้สึกมึนงง โซเซ วิงเวียน และต้องรีบนั่งลง แต่บางครั้งก็ทำให้หน้ามืดเป็นลม จนหมดสติล้มฟาดลงจนเกิดการบาดเจ็บตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้
การป้องกัน : คนไข้ที่มีอาการหน้ามืดเป็นลมเวลาเปลี่ยนท่า จะต้องเปลี่ยนท่าช้า ๆ เช่น ลุกจากที่นอน แล้วนั่งอยู่สักพัก (อย่างน้อย 2-3 นาที) ก่อนจะลุกขึ้นยืน เมื่อลุกขึ้นยืนใหม่ ๆ ควรจะเกาะผนังหรือหัวเตียงไว้ก่อน (ถ้ารู้สึกผิดปกติจะได้รีบนั่งใหม่) ยืนสัก 1-2 นาที แล้วถ้ารู้สึกปกติดี จึงออกเดิน ก็จะลดอันตรายจากอาการหน้ามืดเป็นลมเวลาเปลี่ยนท่าได้
นอกจากนั้นจะต้องออกกำลังบริหารขาโดยการเดินหรือการย่อตัว วันละหลาย ๆ ครั้ง ๆ ละหลาย ๆ นาที ในระยะแรกควรมีคนอยู่ข้าง ๆ หรือใช้ไม้เท้า หรือโต๊ะไว้สำหรับเกาะ หรือพยุงตัวถ้าหน้ามืด ถ้ามีโรค เช่น เบาหวาน ท้องเดิน หรืออื่น ๆ ต้องควบคุมหรือรักษาโรคเหล่านั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ อาการหน้ามืดเป็นลมจะได้ดีขึ้น ถ้ากินยาอะไร แล้วทำให้หน้ามืดเป็นลมขณะเปลี่ยนท่า จะต้องลดขนาดยานั้นลง และถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้หยุดยาเสีย ถ้าขามีหลอดเลือดโป่งขดมาก หรือกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ควรใส่ถุงเท้ายาวที่สวมได้ถึงเข่าหรือเหนือเข่า และยืดหดใต้ (ถุงน่องอย่าหนา) หรือใช้แถบผ้ายืดหดพันขาจากเท้าหรือข้อเท้าขึ้นมาจนถึงต้นขา เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไปคั่งอยู่ที่ขาหรือตกลงไปกองอยู่ที่ขาเวลาเปลี่ยนท่า เป็นต้น
3. เป็นลมเพราะเบ่ง
คืออาการหน้ามืด เป็นลมที่เกิดขึ้นหลังการกลั้นหายใจแล้วเบ่ง เช่น เวลาเบ่งอุจจาระในขณะท้องผูกมาก ๆ ขณะที่กำลังจะยกของหนัก ๆ หรือผลักดันของหนัก ๆ ให้เคลื่อนที่ เป็นต้น หรือในเด็กเล็ก ๆ ที่ร้องไห้อย่างมาก ก็จะเกิดการกลั้นหายใจแล้วเบ่ง ทำให้เป็นลมได้
อาการเป็นลมเพราะเบ่ง เกิดจากเลือดเข้าสู่หัวใจน้อยลง ในขณะที่กลั้นหายใจแล้วเบ่ง ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย รวมทั้งสมองน้อยลง
การป้องกัน : อย่ากลั้นหายใจแล้วเบ่งอย่างรุนแรง จะทำให้หน้ามืด เป็นลมได้
4. เป็นลมเพราะไอ
คืออาการหน้ามืดเป็นลมที่เกิดจากการไออย่างรุนแรงติด ๆ กัน เช่น จากโรคไอกรน (pertussis) ซึ่งเป็นในเด็ก, ส่วนในผู้ใหญ่ มักเกิดในผู้ชายที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) หรือโรคถุงลมพอง (pulmonary emphysema) ซึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่
อาการเป็นลมเพราะไอ เกิดขึ้นด้วยกลไกเช่นเดียวกับอาหารเป็นลมเพราะเบ่ง เพราะมีการหายใจเข้า กลั้นหายใจ แล้วเบ่ง (เพื่อไอ) เช่นเดียวกัน
การป้องกัน : อย่าไอรุนแรง อย่าไอติด ๆ กัน และรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นโดยเร็ว
5. เป็นลมเพราะปัสสาวะ
เป็นลมเพราะปัสสาวะ (micturition syncope) : คืออาการหน้ามืดเป็นลมในขณะหรือหลังปัสสาวะท อาการเป็นลมเพราะปัสสาวะ อาจเกิดจาก
-
- เป็นลมเพราะเบ่งปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากกลไกเดียวกับอาการเป็นลมเพราะเบ่ง (ข้อ 3) ป้องกันโดย อย่ากลั้นหายใจแล้วเบ่งมาก
-
- เป็นลมหลังปัสสาวะ ซึ่งมากจะเกเพราะการกลั้นปัสสาวะไว้นาน ๆ แล้วจนสุดอาการหน้ามืดเป็นลมจะเกอดขึ้นในขณะปัสสาวะ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย อาการมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนหลายครั้งคนไข้ทรุดตัวลงไม่ทัน ทำให้ล้มฟาดลง และเกิดการบาดเจ็บจาการที่ศีรษะ หรือร่างกายส่วนอื่นฟาดกับพื้น โถส้วม อ่างล้างมือ หรือสิ่งอื่น
อาการเป็นลมหลังปัสสาวะ มักเกิดในผู้ชาย โดยเฉพาะหลังดื่มสุราเป็นจำนวนมาก และมักเกิดในเวลากลางคืน โดยเฉพาะเมื่อตื่นขึ้น ปัสสาวะกลางดึก เข้าใจว่าอาการเป็นลมหลังปัสสาวะ เกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะโป่ง (เพราะไม่ได้ปัสสาวะเป็นเวลานาน หรือเพราะดื่มสุรา หรือน้ำ ทำให้มีปัสสาวะมาก) พอพอถ่ายปัสสาวะจนสุด กระเพาะปัสสาวะที่โป่งแล้วแฟบลงทันที ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายขยายตัว ทำให้ความดันเลือดตก เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ จึงเกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้
การป้องกัน : อย่ากลั้นปัสสาวะนาน ๆ ถ้าจำเป็นต้องกลั้นปัสสาวะนาน ๆ เมื่อเวลาจะถ่ายปัสสาวะ ให้นั่งถ่าย (อย่ายืนถ่าย) และอย่าถ่ายจนสุด รอไว้อีกสัก 5-10 นาที แล้วค่อยถ่ายใหม่ ถ้ามันเกิดอาการนี้ หลังดื่มสุรา ควรหยุดหรือลดการดื่มลง
6. เป็นลมเพราะจิตใจ
คืออาการหน้ามืดเป็นลมที่เกิดจากจิตใจ อาจแบ่งเป็น
-
- เป็นลมธรรมดา (ดูข้อ 1) ซึ่งเกิดจากภาวะเครียด หงุดหงิด กังวล โกรธ ตื่นเต้น กลัว จนทำให้เกิดอาการหน้ามือเป็นลมขึ้น ป้องกันโดยพยายามหันเหความสนใจไปสู่สิ่งอื่น หรือนับ 1 ถึง 100 เพื่อให้จิตใจสงบลง นั่งพัก นอนพัก เพื่อป้องกันอาการหน้ามืดเป็นลม เป็นต้น
-
- เป็นลมเพราะอุปาทาน (hysterical syncope หรือ conversion reaction syncope) เกิดจากการที่คนไข้ผิดหวังในบางสิ่งบางอย่าง แล้วความผิดหวังนั้นแสดงออกมาเป็นอาการทางกาย เช่น เป็นลม ชัก ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องรุนแรง หรืออื่น ๆ นอกจากข้อ 1 และ ข้อ 6.1 ได้เพราะคนไข้ที่เป็นลมเพราะอุปาทานจะยังรู้สึกตัวเป็นปกติ (ไม่หมดสติ) ไม่มีอาการหน้าซีด มือเท้าซีด ตัวเย็น หรือเหงื่อแตก ไม่ดีขึ้นแม้จะนอนราบลงแล้ว แต่อาการจะดีขึ้นหรือหายไปถ้าอยู่คนเดียว หรือเกิดความรู้สึกว่าจะถูกทอดทิ้ง หรือจะเป็นอันตราย ถ้ายังเป็นลมอยู่ต่อไปอีก หรือถ้าได้รับคำแนะนำที่แข็งขันว่า อาการเป็นลมที่เกิดขึ้นจะรักษาได้ ข้อควรปฏิบัติอย่างอื่นคือ ให้ดมยาดม และหายใจเข้าออกช้า ๆ แล้วสักครู่จะดีขึ้น
การป้องกัน : ต้องพยายามแก้ไขความผิดหวังที่เป็นสาเหตุให้เบาบางลง หรือหมดไป ห้ามไม่ให้ดุ หรือด่าว่าคนไข้แกล้งทำ (แกล้งเป็นลม) เพราะที่จริงแล้ว คนไข้ไม่ได้แกล้ง แต่ความผิดหวังนั้นถูกเปลี่ยนเป็นอาการทางกาย ครอบครัวควรให้ความใกล้ชิด ความอบอุ่น และความช่วยเหลือแก่คนไข้ จะป้องกันไม่ให้คนไข้เป็นลมเพราะอุปาทานอีก
-
- เป็นลมเพราะแกล้ง หรือแกล้งเป็นลม (malingering syncope) คือ การแกล้งเป็นลม อาการคล้าย ข้อ 6.2 มาก และอาจแยกจากข้อ 6.2 ได้ยากมาก ต้องอาศัยประวัติที่เป็นคนชอบแกล้งป่วย แกล้งเจ็บ และประวัติการทะเลาะเบาะแว้ง หรือความต้องการแกล้งใครสักคน (ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด)
การป้องกัน : คล้ายข้อ 6.2 แต่อาจต้องใช้ “ไม้แข็ง” มากกว่า “ไม้นวม” และอาจต้องมีการลงโทษถ้าชอบแกล้งทำบ่อย ๆ
-
- เป็นลมเพราะหายใจเกิน (hyperventilation syncope) : คืออาการหน้ามืดเป็นลมหลังหายใจเร็วและลึกเป็นเวลานาน คนไข้มักมีอาการแน่นอึดอัด รู้สึกหายใจไม่สะดวก จึงหายใจเร็วและแรง ต่อมาจะมีอาการมึนงง ตัวเบา หัวเบา รู้สึกริมฝีปากและมือเท้าคล้ายเป็นเหน็บชา และแข็งเกร็ง ต่อมาจะหน้ามืดเป็นลม และชักได้
การรักษา : ให้ใช้ถุงใหญ่ ๆ ครอบปากและจมูก ให้คนไข้หายใจในถุงสักพัก (5-10 นาที) แล้วจะดีขึ้น
การป้องกัน : คล้ายข้อ 1 และข้อ 6.2
7. เป็นลมเพราะหัวใจ
คือ อาการเป็นลมที่เกิดขึ้นเพราะหัวใจผิดปกติ (ไม่ใช่เพราะจิตใจผิดปกติ ดังในข้อ 6) อาจแบ่งออกเป็น
-
- เป็นลมเพราะหัวใจเต้นผิดปกติ (syncope from cardiac arrhythmia) เช่น
-
- หัวใจหยุดเต้น คนไข้จะหมดสติทันที และคลำชีพจรที่คอ และขาหนีบไม่ได้ ต้องรีบทำการฟื้นชีวิตทันที (ดู วิธีรักษา คนไข้ฉุกเฉินและเจ็บหนัก ในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64-65) อย่าไปรอว่าคนไข้ล้มฟุบ ลงนอนราบแล้ว จะหายจากอาการเป็นลม เพราะการที่คลำชีพจรที่คอ และขาหนีบไม่ได้ ให้ถือว่า หัวใจหยุดเต้นแล้ว ต้องฟื้นชีวิตทันที มิฉะนั้น คนไข้จะตาย
การป้องกัน : รักษาโรคที่เป็นอยู่ที่ทำให้หัวใจหยุด
-
- หัวใจเต้นช้ามาก คือ หัวใจเต้นช้ากว่า 30-40 ครั้ง/นาที คนไข้อาจจะหมดสติทันทีได้ ถ้าหัวใจเต้นช้าลงอย่างกะทันหัน (Morgagni Adams-Stroke syncope) แต่ถ้าหัวใจค่อย ๆ เต้นช้าลง หรือเต้นช้าเป็นประจำอยู่แล้ว คนไข้อาจจะไม่มีอาการอะไร แม้หัวใจจะเต้นเพียง 30-40 ครั้ง/นาที ถ้าคนไข้เป็นลมหมดสติ เพราะหัวใจเต้นช้ามาก ให้กระตุ้น โดยการทุบหน้าอก การเขย่าตัว หรืออื่น ๆ เพื่อทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้ฉีดยาอะโทรพีน (atropine) หรืออะครีนาลีน (adrenaline) เข้าเส้นครั้งละ 0.1-0.2 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ทุก 1-2 นาที จนหัวใจเต้น 50-60 ครั้ง/นาที ให้หยุดฉีดทันที
การป้องกัน : หลีกเลี่ยงจากชนวนที่ทำให้หัวใจเต้นช้าจนเป็นลม เช่น ยาบางชนิด การเบ่งเป็นต้น ถ้ามักเป็นลมหมดสติเพราะหัวใจเต้นช้าบ่อย ๆ อาจกินยาอีฟิดรีน (ephedrine) ครั้งละ 1/2-1 เม็ดทุก 3-6 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ถ้ากินยาแล้วยังมีอาการเป็นลมหมดสติบ่อย ๆ ควรใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ โดยให้แพทย์หัวใจใส่ให้
-
- หัวใจเต้นเร็วมาก คือหัวใจเต้นเร็วกว่า 160-180 ครั้ง/นาทีในผู้ใหญ่ คนไข้อาจจะหน้ามือเป็นลมได้ ถ้าหัวใจ (ชีพจร) เต้นสม่ำเสมอ อาจลองล้วงคอให้คนไข้อาเจียน และถ้าคนไข้เพียงแต่หน้ามืด แต่ยังไม่หมดสติ ให้คนไข้หายใจเข้าเต็มที่ กลั้นหายใจแล้วเบ่งอย่างรุนแรง จนกระทั่งกลั้นหายใจต่อไปไม่ได้ อาจทำให้หัวใจเต้นช้าลงได้ ถ้าไม่สำเร็จหรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ ให้ส่งโรงพยาบาล
การป้องกัน : ให้รักษาโรคที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
-
- เป็นลมเพราะหัวใจผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจถูกบีบอัด หลอดเลือดปอดถูกอุด หลอดเลือดเอออร์ตาแยก เป็นต้น
การวินิจฉัย : รู้ว่าคนไข้เป็นลม เพราะหัวใจผิดปกติ โดยตรวจพบว่า หัวใจของคนไข้โต หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เสียงหัวใจผิดปกติ ความดันเลือดสูงมาก หรือต่ำมากหรือแคบมาก และคนไข้ มักมีอาการอื่น ๆ ของโรคหัวใจด้วย เช่น หอบเหนื่อย บวม เจ็บอกมาก เป็นต้น
การรักษาและป้องกัน : ต้องตรวจให้รู้ว่า คนไข้เป็นโรคหัวใจชนิดใด จึงจะทำการรักษาและป้องกันได้ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าพบว่า คนไข้เป็นลมเพราะหัวใจผิดปกติ ต้องส่งคนไข้ไปโรงพยาบาล หลังให้การปฐมพยาบาลแล้ว
8. เป็นลมเพราะสมองหรือระบบประสาท
คือ อาการหน้ามืดเป็นลมจากความผิดปกติของสมอง หรือระบบประสาท เช่น
-
- โรคหลอดเลือดสมอง : ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการเป็นลม แต่จะทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หลง เลอะเลือน วิงเวียน โซเซ ชัก หรือหมดสติเป็นเวลานาน ๆ มีเพียงส่วนน้อยที่ทำให้เกิดอาการเป็นลมเพียงชั่วครู่ได้ เช่น
-
- กลุ่มอาการแขนลักเลือด ซึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากหลอดเลือดแดงไหปลาร้า อุดตันตรงส่วนต้นก่อนถึงแยกหลอดเลือดแดงเวอร์ติบรัล ทำให้เลือดจากส่วนต้นของหลอดเลือดแดงไหปลาร้าไม่สามารถไหลมาลี้ยงแขนข้างนั้นได้ เมื่อคนไข้ใช้แขนข้างนั้น แขนข้างนั้นจะดึงเลือดจากหลอดเลือดแดงเวอร์ติบรัล (ซึ่งจะต้องไปเลี้ยงสมอง) ไปเลี้ยงแขนข้างนั้นแทน ทำให้ก้านสมองขาดแคลนเลือดไปชั่วครู่ ทำให้วิงเวียน หรือเป็นลม ในขณะใช้แขนข้างนั้น รักษาโดยการผ่าตัด
-
- ภาวะอ่อนฟุบ ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดเบสิลาร์ ตีบตันไปชั่วขณะ ทำให้ขาอ่อนลงทันที วิ่งล้มฟุบลง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงครู่เดียว จนบางครั้งทั้งคนไข้ และผู้ใกล้ชิดบอกไม่ได้ว่าคนไข้หมดสติในช่วงนั้นหรือไม่
-
- โรคลมชัก : โรคลมชักบางชนิด จะไม่มีอาการชัก มีแต่อาการไม่รู้สึกตัว หรือลืมตัวไปเพียงชั่วครู่เดียว ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ถ้ากำลังขับรถ หรือทำงานที่เกิดอันตรายได้ คนไข้จะไม่รู้ตนว่าลืมตัวไปชั่วครู่ จะรู้ว่าคนไข้เป็นโรคนี้ก็จากความช่างสังเกตของคนใกล้ชิด ที่เห็นคนไข้หยุดกระทำในสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ และมีอาการเหม่อลอยชั่วขณะ จึงกลับรู้สึกตัวและทำต่อในสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ก่อนหน้านั้น เช่น กำลังจะตักอาหารเข้าปาก จะยกช้อนค้างอยู่อย่างนั้นสักครู่ เหม่อลอย ไม่รู้สึกตัว จนรู้สึกตัวแล้วจึงนำช้อนเข้าปากของตน กำลังพูดคุยอยู่ หยุดชะงักกลางประโยค เหม่อลอย ไม่รู้สึกตัว จนรู้สึกตัวแล้วจึงพูดต่อได้
โรคลมชักนี้อาจทำให้เป็นลม ล้มฟุบลงหรือไม่ก็ได้ พวกที่ทำให้เป็นลมล้มฟุบลง มักมีอาการกระตุกของแขนขา ใบหน้า หรือมีอาการชักเกร็งร่วมด้วย
การรักษาและป้องกัน : ให้กินยาแก้ลมชัก เช่น ยาฟีโนบาร์บิตาล แต่ถ้าสามารถไปโรงพยาบาลได้ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจให้แน่นอนก่อนว่าเป็นโรคนี้ และจะได้รับคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติรักษาตนอื่น ๆ ให้ตรงกับชนิดของโรคลมชัก ที่เป็นอยู่ด้วย
-
- แรงดันในกะโหลกศีรษะสูงทันที เช่น ในกรณีที่เส้นเลือดในสมองแตก หรือช่องสมอง ถูกอุดตันทันที คนไข้มักจะมีอาการปวดศีรษะ ชัก อัมพฤกษ์ หรืออัมพาตร่วมด้วย และมักจะหมดสติเป็นช่วงเวลานาน ๆ น้อยครั้งมากที่จะมีอาการคล้ายอาการเป็นลม คนไข้ที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวควรส่งโรงพยาบาลทันที
-
- ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ ปลายประสาทพิการ ที่ทำให้เกิดอาการ เป็นลมธรรมดา หรืออาการเป็นลม เมื่อเปลี่ยนท่า
-
- อาการหลงลืม : ส่วนใหญ่แล้วไม่ทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมอย่างที่พบกันทั่วไป แต่อาจจะทำให้ไม่รู้สึกตัว ลืมตัว หรือลืมทุกสิ่งทุกอย่างไปชั่วขณะ เช่น
-
- เป็นลมเพราะยาหรือสุรา คือ อาการเป็นลม หมดสติ หรือหลงลืม ที่เกิดจากการกินยา หรือการดื่มสุราเกินขนาด มักจะร่วมกับการนอนหลับ แบบปลุกไม่ตื่น และเมื่อตื่นขึ้นแล้ว จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้
การรักษาและป้องกัน : ให้เลิกกินยาโดยไม่จำเป็นและเลิกดื่มสุราเสีย
-
- ลืมหมดชั่วขณะ : ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมอย่างที่พบกันทั่วไป แต่เป็นภาวะที่คนไข้ลืมทุกสิ่งทุกอย่างในขณะนั้น และในระยะเวลาใกล้ ๆ กันกับขณะนั้น แต่ยังรักษาตัวเอง จำเรื่องในอดีตไกล ๆ ได้ และยังมีพฤติกรรมเหมือนคนปกติ ตรวจไม่พบความผิดปกติทางระบบประสาทอย่างอื่น ช่วงที่คนไข้ลืมก็จะลืมตลอดไป เพราะคนไข้ไม่ได้หมดสติหรือเป็นลมในขณะที่เกิดอาการลืมหมดนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับคนวัยกลาคนหรืออายุมาก และมักจะเกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิต แต่ในบางคนก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำแล้วอีกได้ คนที่มีอาการเช่นนี้ควรไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจให้แน่นอนว่าเป็นภาวะนี้หรือไม่ มีโรคอะไรร่วมด้วยหรือไม่ จะได้ให้การรักษาและป้องกันได้ถูกต้อง
-
- หลงลืมเป็นครั้งคราว : ส่วนใหญ่ไม่ทำให้หน้ามืดเป็นลม แต่อาการหลงลืมเหตุการณ์ปัจจุบันเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่เกิดในคนสูงอายุ ควรรักษา และป้องกันเช่นเดียวกับอาการลืมหมดชั่วขณะ
-
- หลงลืมเพราะศีรษะถูกกระแทก : อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้ ถ้าศีรษะถูกกระแทกแรง ๆ หรือเกหิดอาการเจ็บปวดมาก แต่อาการที่สำคัญคือ การหลงลืมเกี่ยวกับอุบัติเหตุ หรือ เหตุการณ์ในขณะนั้น ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจให้ละเอียดว่าสมองไม่มีความผิดปกติอย่างอื่น
-
- สมองขาดออกซิเจน น้ำตาล หรือสิ่งอื่น : ทำให้เกิดอาการหน้ามืด และเป็นลมได้ เช่น คนที่หายใจไม่ออก จะเป็นลมหมดสติได้ คนไข้เบาหวานที่ฉีดยาหรือกินยาแก้เบาหวานมากเกินไป จนน้ำตาลในเลือดต่ำมาก จะเป็นลมหมดสติได้
การรักษาและป้องกัน : ให้รักษาและป้องกันตามสาเหตุ
9. เป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ
มีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่มีอาการหน้ามืดเป็นลมแล้ว ตรวจหาสาเหตุไม่พบ (ประมาณร้อยละ 30-40) ในกรณีเช่นนี้ ให้รักษาและป้องกันเช่นเดียวกับอาการเป็นลมธรรมดา (ข้อ 1) ไปก่อน จนกว่าจะพบสาเหตุ จึงค่อยให้การรักษา และป้องกันสาเหตุไปด้วย
อาการหน้ามืดเป็นลม ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อย จึงเป็นอาการที่อาจให้การรักษาได้โดยไม่ยากเย็นนัก ถ้าคนไข้มีอาการฉุกเฉิน หรือเจ็บหนัก ให้รักษาอาการฉุกเฉินหรือเจ็บหนักก่อน โดยไม่ต้องพะวงกับอาการหน้ามืด เป็นลมนี้ เพราะอาการหน้ามืดเป็นลมจะดีขึ้นเอง เมื่ออาการฉุกเฉินหรือเจ็บหนักดีขึ้น หรือเมื่อคนไข้ล้มนอนลงกับพื้นได้