สาเหตุของ ‘ไมเกรน’

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


สาเหตุของ 'ไมเกรน' thaihealth


แฟ้มภาพ


โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่าประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ที่เป็นไมเกรน มีประวัติว่าพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย 


สาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของระบบประสาทและหลอดเลือดในสมองเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองที่มีชื่อว่า ซีโรโทนิน หรือ serotonin (ซึ่งพบว่ามีปริมาณลดลงขณะที่มีอาการกำเริบ) และสารเคมีในสมองกลุ่มอื่นๆ ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นใยประสาทสมองเส้นที่ 5 ที่ เลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ รวมทั้งทำให้หลอดเลือดแดงทั้งในและนอกกะโหลกศีรษะมีการอักเสบ และมีการหดและขยายตัวผิดปกติ หลอดเลือดในกะโหลกจะมีการหดตัวทำให้เปลือกสมองมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ส่วนหลอดเลือดนอกกะโหลกศีรษะมีการขยายตัว ทั้งหมดนี้นำไปสู่อาการแสดงต่างๆ ของโรคไมเกรน


เหตุกำเริบ ผู้ป่วยมักบอกได้ว่า แต่ละครั้งที่มีอาการปวดศีรษะจะมีสิ่งกระตุ้นหรือเหตุกำเริบชัดเจน ซึ่งแต่ละคนอาจมีเหตุกำเริบที่แตกต่างกันไป และมักจะมีได้หลายๆ อย่าง เหตุกำเริบที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่


  • มีแสงสว่างจ้าเข้าตา เช่น ออกกลางแดดจ้าๆ แสงจ้า แสงไฟกะพริบ แสงสีระยิบระยับในโรงมหรสพหรือสถานเริงรมย์ เป็นต้น
  • การใช้สายตาเพ่งดูอะไรนานๆ เช่น ดูภาพยนตร์ หนังสือ หรือกล้องจุลทรรศน์ เย็บปักถักร้อย เป็นต้น
  • การอยู่ในที่ที่มีเสียงดังจอแจ เช่น ตลาดนัด หรือเสียงอึกทึก (เช่น เสียงกลอง เสียงระฆัง)
  • การสูดดมกลิ่นฉุนๆ เช่น กลิ่นสี กลิ่นน้ำมันรถ กลิ่นน้ำหอม กลิ่นสารเคมี ดีดีที ควันบุหรี่ เป็นต้น
  • การดื่มกาแฟมากๆ ก็อาจกระตุ้นให้ปวดได้
  • ยานอนหลับ เหล้า เบียร์ เหล้าองุ่น ถั่วต่างๆ กล้วย นมเปรี้ยว เนยแข็ง ช็อกโกแลต ตับไก่ ไส้กรอก อาหารทะเล อาหารทอดน้ำมัน ผงชูรส น้ำตาลเทียม สารกันบูด ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว (เช่น ส้ม มะนาว) ล้วนกระตุ้นทำให้ปวดได้
  • การอยู่ในที่ร้อนหรือเย็นเกินไป เช่น อากาศร้อน หรือหนาวจัด ห้องที่อบอ้าว ห้องปรับอากาศเย็นจัด เป็นต้น
  • การอดนอน (นอนไม่พอ) หรือนอนมากเกินไป การนอนตื่นสาย (เช่น ในวันหยุดสุดสัปดาห์)
  • การอดข้าว กินข้าวผิดเวลา หรือกินอิ่มจัด เชื่อว่าเกี่ยวกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งกระตุ้นให้ปวดศีรษะได้ บางครั้งพบว่า  ผู้ป่วยไมเกรนเมื่อเป็นโรคเบาหวาน (มีน้ำตาลในเลือดสูง) อาการปวดจะหายไป
  • การนั่งรถ นั่งเรือ หรือนั่งเครื่องบิน
  • อาการเจ็บปวดตามส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
  • การเป็นไข้ เช่น ตัวร้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
  • การออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป
  • ร่างกายเหนื่อยล้า
  • การถูกกระแทกแรงๆ ที่ศีรษะ (เช่น การใช้ศีรษะโหม่งฟุตบอลหรือตะกร้อ) ก็อาจทำให้ปวดศีรษะทันที
  • อิทธิพลของฮอร์โมนเพศสำหรับผู้ป่วยหญิง มีผลต่อการเกิดอาการไมเกรนอย่างมาก เช่น บางรายมีอาการปวดเฉพาะเวลาใกล้จะมีหรือมีประจำเดือน และมีไม่น้อยที่หายปวดไมเกรนขณะอุ้มท้อง ๙ เดือน (มีฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนสูง) บางรายกินยาเม็ดคุมกำเนิด (มีฮอร์โมนเอสโตรเจน) ทำให้ปวดบ่อยขึ้น พอหยุดกินยาก็ดีขึ้น
  • ความเครียดทางอารมณ์ คิดมาก อารมณ์ขุ่นมัว ตื่นเต้น ตกใจ

Shares:
QR Code :
QR Code