สาเหตุของอาการล้าขณะทำงาน
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
อาการล้าเป็นอาการอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยในเวลาทำงาน เกิดขึ้นได้ทั้งงานที่ต้องใช้แรงงานหนักเช่น
งานยกของ งานดึงและดัน และงานเบาที่ต้องอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ หรือต้องทำงานเบานั้นซ้ำซาก
ยกตัวอย่างเช่น การนั่งทำงานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกิน 2 ชั่วโมงต่อเนื่องขึ้นไปอาจทำให้เกิดการล้าขึ้นได้ที่กล้ามเนื้อคอบ่า หลัง ข้อศอกและมือ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อต่อได้ แต่อย่างไรก็ตาม การล้ามิใช่จะมีแต่โทษอย่างเดียว ยังเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนต่างๆของร่างกายได้อีกด้วย
ล้าเกิดขึ้นได้อย่างไร
การล้าที่เกิดขึ้นในร่างกายแบ่งได้ 2 แบบ คือการล้าของกล้ามเนื้อ และการล้าทั่วไป เช่น การล้าของสายตา อาการล้าจากความเครียด เป็นต้น
การล้าของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อสามารถทำงานได้ 2 แบบ และเกี่ยวข้องกับการล้าดังนี้
- การหดตัวของกล้ามเนื้อแบบเป็นจังหวะ คือมีการหดตัวและคลายตัวสลับกันไป เช่น การยกวัตถุขึ้นวางบนชั้น ผู้ยกจะใช้กล้ามเนื้อแขน ขา และลำตัวในระยะเวลาสั้น และจะมีการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ ในช่วงที่หยุดยก การทำงานของกล้ามเนื้อในลักษณะนี้ จะมีช่วงพักให้เลือดไหลเข้าไปในกล้ามเนื้อ ถ้างานไม่หนักมากนัก (น้อยกว่าร้อยละ 15 ของความสามารถสูงสุด) จะต้องทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงจะเกิดการล้าได้
- การหดตัวแบบคงค้าง คือมีการหดตัวค้างไว้ตลอดเวลา เช่น การนั่งอยู่ในท่าก้มหลังและก้มคอพิมพ์คอมพิวเตอร์อยู่นานๆ การหดตัวแบบนี้จะทำให้เลือดไหลไปสู่กล้ามเนื้อไม่สะดวก เนื่องจากหลอดเลือดที่เข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อถูกบีบจากการหดตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการคลายตัวเหมือนการหดตัวกล้ามเนื้อแบบเป็นจังหวะ การหดตัวแบบคงค้างเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อเนื่องจากมีกรดและของเสียสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวและมีอาการกล้ามเนื้ออักเสบจากการทำงานได้การหดตัวแบบคงค้างนี้จะทำให้กล้ามเนื้อล้าอย่างรวดเร็ว ถ้าต้องออกแรงเพียงร้อยละ 8 ของความสามารถกล้ามเนื้อสูงสุด
การหดตัวของกล้ามเนื้อแบบคงค้างนี้จะพบได้ใน กล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงท่า เช่น กล้ามเนื้อคอและหลังขณะนั่งหรือยืน กล้ามเนื้อจะต้องหดตัวแบบคงค้างอยู่ตลอดเวลา ถ้ายิ่งมีท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ก้มคอหรือหลังมากเกินไป จะทำให้ล้าง่ายขึ้น ให้ลองยืนตรงแล้วก้มไปข้างหน้าเอามือแตะเข่าค้างไว้ ท่านจะรู้สึกเมื่อยที่กล้ามเนื้อหลังภายในเวลาไม่ถึงนาที หรือลองก้มคอแล้ว ค้างไว้สัก 3 นาที ท่านจะรู้สึกล้าที่กล้ามเนื้อคอด้านหลัง
นอกจากท่าทางที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อแล้วส่วนของเอ็นและส่วนที่อยู่ใกล้จะถูกยืดมากกว่าปกติทำให้เกิดอาการอักเสบของเอ็นต่างๆ ได้
การล้าต่างกับอาการปวดระบมอย่างไร
อาการปวดระบมเกิดจากการทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อนเช่น ไม่เคยวิ่งมาก่อน แล้วไปวิ่ง หลังจากนั้น จะรู้สึกสบายดีไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งล่วงเข้าวันที่ 2 หลังวิ่ง จะมีความรู้สึกปวดระบมที่หน้าขาจนก้าวขึ้นบันไดได้ลำบากอาการปวดระบมเป็นอาการปกติที่พบได้ บ่อยในคนงานที่เพิ่งเริ่มเข้าทำงาน อาการนี้ไม่มีอันตราย ใดๆ คือจะปวดระบมสูงสุดในวันที่ 2 หลังจากทำงานและอาการจะหายไปได้เองภายใน 5-7 วัน โดยไม่ต้องทำการรักษาอาการดังกล่าวมีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Delayed Onset Muscle Soreness" หรือ "DOMS"
การล้าของกล้ามเนื้อจะเกิดจากการใช้งานที่มากเกินไป ซึ่งจะเกิดขึ้นขณะหรือหลังจากทำงาน ถ้าได้พักผ่อนเพียงพอการล้าจะหายไปเองได้ แต่ถ้าพักผ่อนไม่เพียงพออาการที่สะสมในแต่ละวันหรือในแต่ละช่วงของการทำงานจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บเรื้อรังของกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้
การล้าทั่วไป
การล้าทั่วไปได้แก่ อาการรู้สึกเหนื่อยอ่อน การตัดสินใจช้าลง การเรียงขั้นตอนการทำงานที่ผิดไป
อาการปวดตาและไม่อยากทำงานต่อ เป็นต้น ซึ่งอาการ ล้าประเภทนี้เกิดเนื่องจาก
- ทำงานต่อเนื่องในแต่ละวันนานเกินไป
- การนอนหลับไม่เพียงพอ
- ความเครียดจากทำงานหรือครอบครัว
- การทำงานโดยไม่มีวันพักผ่อน
- อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป
- เสียงที่ดังเกินไป แสงที่ไม่พอเพียงหรือจ้าเกินไป การระบายอากาศที่ไม่เพียงพอ
- กินอาหารที่ไม่ให้พลังงานในการทำงานอย่างเพียงพอโดยเฉพาะในงานที่ต้องใช้แรงงานมาก
- ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
- ทำงานหนักเกินความสามารถของตนเอง
- มีไข้ มีความเจ็บป่วย
- ทำงานหลายช่วงเวลา เช่น งานที่ต้องเปลี่ยนเวลาเข้างานตลอดเวลา หรือต้องเปลี่ยนเวลาบ่อย เช่น งานพยาบาล หรืองานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน