สาวออฟฟิศ ระวัง ‘เนื้องอกในมดลูก’
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
เมื่อได้ยินชื่อ "เนื้องอกในมดลูก" ก็อาจทำให้สาวๆ ทั้งหลายตกใจหรือมีความกังวลอยู่มิใช่น้อย แต่จริงๆ แล้วโรคนี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะการตรวจพบตั้งแต่แรก ย่อมรักษาได้เร็วกว่าและปลอดภัยกว่า
แพทย์หญิงจิติมา ติยายน นายแพทย์ชำนาญการงานมะเร็งนรีเวช กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาล ราชวิถี ให้ข้อมูลว่า เนื้องอกในมดลูก เป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้าย (มะเร็ง) ส่วนใหญ่เนื้องอกมดลูกจะมีขนาดเล็ก ไม่มีอาการแสดง ไม่มีอันตรายใดๆ ซึ่งโรคเนื้องอกในมดลูก เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจน เกิดขี้นโดยไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่ จะพบมากในผู้หญิงวัยทำงานอายุระหว่าง 30-40 ปี หรือ ประมาณ 20-25% คิดเป็น 1 ใน 4 ที่ต้องเจออย่างแน่นอน อาทิ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีบุตร ผู้หญิงที่น้ำหนักตัวมาก เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่พบว่าเป็นโรคเนื้องอกในมดลูก คือ 1.กรรมพันธุ์ ถ้าคนในครอบครัวเคยเป็น เนื้องอกในมดลูกอยู่ก็มักจะมีโอกาสเสี่ยงในการเป็น เพิ่มมากขึ้น 2.การรับประทานอาหารจำพวกเนื้อ หรือ เนื้อแดง (ตัวเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดเนื้องอกในมดลูกได้สูงขึ้น) โดยโรคเนื้องอกในมดลูกมีอาการเด่นๆ คือ ปวดท้อง ประจำเดือนมากกว่าปกติ, มีเลือดออกมากระหว่างรอบเดือน, ปัสสาวะบ่อยขึ้นแต่ออกไม่มาก และมีอาการท้องผูกผิดปกติ
ความรุนแรงของอาการเนื้องอกในมดลูกนั้น ไม่ส่ง ผลถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็จะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะทำให้ เช่น การเลือดออกมากผิดปกติตอน มีประจำเดือน หรือถ้ามีการกดเบียดของก้อนเนื้อก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้องขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิต ประจำวัน หรือรบกวนการทำงานได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของผู้ป่วยโรคเนื้องอก ในมดลูกนั้น ก็คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ใส่ใจไปตรวจ เพราะคิดว่าเป็นแค่อาการปวดประจำเดือนธรรมดา และบางส่วนมีความเขินอายที่จะมาพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน ถึงแม้ว่าอาการโรคเนื้องอกในมดลูก ไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่จาก สถิติแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคเนื้องอกในมดลูก 1,000 คน จะพบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งได้ 1 คน ซึ่งส่วนมากมักพบในผู้หญิงอายุ 50-60 ปีขึ้นไป ดังนั้นสาวๆ ควรสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง ควรตรวจสุขภาพ และตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ หรือเมื่อพบว่ามีความผิดปกติควรไปพบแพทย์ทันที
การรักษาโรคเนื้องอกในมดลูกนั้น อันดับแรกจะรักษาตามอาการ อาจจะด้วยการให้ฮอร์โมน แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ก็จะทำการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถีมีการพัฒนาเทคโนโลยีจากการผ่าตัดใหญ่ที่จะต้องเปิดแผลหน้าท้อง ซึ่งต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน 7-10 วัน มาเป็นการผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางช่องคลอด ทำให้คนไข้ไม่มีแผลหน้าท้องเลย แล้วก็เอาก้อนออกหรือมดลูกออกทางช่องคลอด จะเจ็บแผลน้อยกว่า การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยกว่า ใช้เวลาพักฟื้น 2-3 วันก็สามารถกลับไป ทำงานได้แล้ว สำหรับการดูแลตัวเองหลังการรักษา ควรงดกิจกรรมหนัก 2 สัปดาห์ ดูแลแผลผ่าตัด และกลับมาตรวจติดตามอาการตามนัดของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลการรักษา
สำหรับการดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลโรคเนื้องอกในมดลูก สามารถทำได้โดยสร้างภูมิคุ้มกันให้ดี คือ 1.การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 2.พักผ่อนให้เพียงพอ 3.ลดความเครียด 4.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จำพวกผัก ผลไม้ เนื้อปลาให้มากขึ้น และลดอาหารจำพวก เนื้อแดง (ซึ่งมีพวกสารเคมี ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคได้)
ทั้งนี้ หน่วยนรีเวชโรงพยาบาลราชวิถี ได้เปิดทำ การตรวจรักษาโรคเกี่ยวกับนรีเวชมามากกว่า 60 ปี ซึ่ง ในแต่ละปีมีผู้ป่วยเข้าทำการรักษา กว่า 50,000 คน และต้องรักษาด้วยการผ่าตัดกว่า 1,500 คน โดย 80% เป็นผู้ป่วยส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถี มีพื้นที่ในการอำนวยความสะดวก และพื้นที่ในการรักษาค่อนข้างจำกัด ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการรักษา แต่ในอนาคตเมื่ออาคารศูนย์การ แพทย์โรงพยาบาลราชวิถีสร้างเสร็จ ก็จะสามารถเปิดรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น ลดระยะเวลาของการรอรับการรักษา ของผู้ป่วยได้