‘สาวพักตับ’ พลังสาวช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจาก สสส.
ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 15 ปี ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริม สุขภาพ (สสส.) ร่วมด้วยภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานงดเหล้าเข้าพรรษา จัดโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา และเกิดวันงดดื่มสุราในปี 2551 โดยจำนวนผู้สนใจเลิกดื่มสุราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุดในช่วงเข้าพรรษาปี 2561 มีประชาชนโทรปรึกษาการลด ละ เลิกดื่มสุราผ่านสายด่วนเลิกเหล้า 1413 สูงถึง 20,256 ราย มากกว่าปี 2560 ที่มีผู้ศึกษาอยู่ที่ 7,084 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า
ในงาน "ฉลองชัยเชิดชูเกียรติคนหัวใจหิน เหล็ก เพชร ปี 2561" นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการ สสส. กล่าวว่า คนเราทำกิจวัตรแบบเดิมซ้ำๆ จนเป็นนิสัยได้ต้องใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ร่างกายสมองจะเริ่มปรับตัว การถือโอกาสงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาเป็นวาระที่เหมาะสม แต่การเลิกเหล้าต้องการพลังทางใจ พลังที่ยิ่งใหญ่รอบตัวจะมีส่วนช่วยให้คนที่อยากเลิกเหล้าทำสำเร็จ "การจัดระเบียบสังคมสิ่งแวดล้อม เช่น การออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีส่วนสำคัญ แต่แรงจูงใจให้เลิกเหล้าอาจไม่สำคัญเท่ากำลังใจที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งกระบวนการคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้จำนวนผู้ดื่มสุราลดลง"
ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง พื้นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่สีแดงของจำนวนผู้ติดสุราและขึ้นชื่อว่ามีภาษีสรรพสามิตมากที่สุดสู่ต้นแบบตำบลปลอดเหล้าเข้าพรรษา ตำบลแห่งนี้มีขบวนการแก้ปัญหาอย่างน่าสนใจ โดยผู้แทนแกนนำ "นางพะยอม หมูนุ่ม" เล่าขบวนการในพื้นที่ว่า ด้วยมองว่าพลังสตรีเข้าถึงคนในครอบครัวได้ จึงชักชวน อสม.ราว 110 คน ชวนคนในบ้านเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ เริ่มจากผู้หญิงชวนสามี ชวนลูกหลานเข้าร่วม เป็นที่มาของชื่อขบวนการ "สาวพักตับ ช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า" ระยะแรกมีแต่คนต่อต้าน และมีผู้เข้าร่วมเพียง 10 คน แต่เธอใช้โอกาสที่ชาวบ้านรวมตัวกันในวาระต่างๆ เช่น ประชุมหมู่บ้าน พูดถึงการรณรงค์เลิกเหล้าเป็นเรื่องเสริม
"พยายามชวนให้เขาคิดทบทวนผลเสียที่เคยเกิดขึ้นที่เขาอาจมองข้าม เช่น การเจ็บป่วย ความสัมพันธ์ ปัญหาหนี้สินในครอบครัว เมื่อเขาเห็นข้อเสียเราก็ช่วยกันหาทางออก พอเริ่มเป็นผล มีครอบครัวต้นแบบเป็นแรงบันดาลใจให้ครอบครัวอื่นๆ เมื่อสร้างแกนนำได้ก็เป็นคนชวนคนในพื้นที่ ดึงคนเข้ามาร่วมกิจกรรม จากภาพที่ไม่มีหมู่บ้านไหนไม่ดื่มเหล้า ปัจจุบันลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไม่มีคนดื่มร้านค้า ก็ไม่รู้จะขายใคร" นางพะยอม เล่า
ขณะที่ "นางญาณี สงสุวรรณ์" ผู้เข้าร่วมโครงการ "คู่รักพักตับ" จ.ตรัง เล่าว่า ก่อนหน้านี้สามีติดเหล้าหนักและทะเลาะกันบ่อยครั้ง จนกระทั่งตนถูกชักชวนให้เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งตนเห็นว่าดีจึงเข้ามาร่วม แต่ปัญหาคือไปชวนใครก็ไม่มีใครเข้าโครงการงดเหล้า จึงคิดว่าหากจะเริ่มก็ต้องเริ่มจากที่บ้านเราก่อน จึงจะสร้างความน่าเชื่อถือได้
"แรกๆ ที่ชวนสามีเขาก็ปฏิเสธ ไม่ยอมเข้าร่วม แต่จากการพาเขาไปลงพื้นที่กับเรา ไปดูว่าเราทำงานอย่างไร วันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมโครงการในปี 2559 หักดิบเลิกดื่มจริงจัง ตอนนี้สามีก็เลิกเหล้ามาได้ต่อเนื่อง 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันนั้นที่ตัดสินใจ เขาก็ไม่แตะอีกเลย ซึ่งตอนนี้เขาได้รางวัลคนหัวใจเหล็กมาแล้ว เขาตั้งเป้าว่าจะเลิกให้ได้ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ครอบครัว ซึ่งปีหน้าอาจจะได้รางวัลคนหัวใจเพชรก็ได้" นางญาณี กล่าว
ไม่เพียงมีคู่รักสามีภรรยาที่เข้าร่วมโครงการคู่รักพักตับ แต่คู่รักอย่างแม่และลูกชายก็เป็นอีกหนึ่งความสัมพันธ์ที่เริ่มจากครอบครัว "นางใยนาถ ทองเรืองรักษ์" คุณแม่ลูกสามผู้เข้าร่วมโครงการ "คู่รักพักตับ" เล่าว่า โชคดีที่เธอสนิทกับลูกชายและเพื่อนๆ ลูกด้วยจึงเข้าใจลูกวัยรุ่นดีว่าธรรมชาติของวัยนี้อยากรู้อยากลอง "ลูกชายคนเล็กอายุ 17 กำลังเป็นวัยรุ่น แม่เห็นเวลาเขารวมกลุ่มกับเพื่อนทำการบ้าน สิ่งที่พบในวงทำงานด้วยแทบทุกครั้งก็คือเหล้าเบียร์ แม่อยู่กลุ่ม อสม.อยู่แล้วเลยชวนลูกและเพื่อนๆ เข้าโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา น้องสัญญากับแม่ว่าจะเลิกเหล้าเพื่อแม่เราก็ภูมิใจแล้ว"
ณัฐวัฒน์ ทองเรืองรักษ์ หรือ น้องทอยลูกชายของคุณแม่ใยนาถ บอกว่า เมื่อก่อนคิดว่าเรื่องการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นเมื่อรวมกลุ่มกับเพื่อนจึงดื่มสังสรรค์ตลอด พอแม่ชวนเข้าโครงการเลิกเหล้าเลยชวนเพื่อนๆ เข้าร่วม เพราะกำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย
ทั้งสองครอบครัวที่เรายกตัวอย่างคงฝ่าฟันเอาชนะเหล้าได้ยากลำบากหากขาดพลังใจ "ช่วย ชม เชียร์" จึงเป็นกำลังใจสำคัญที่ สสส. และภาคีเครือข่าย ช่วยผลักดันทำให้เกิดคนหัวใจหิน เหล็ก เพชร ทั่วประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น