‘สายสืบผักสด’ ป้องกันประชาชนบริโภค ‘สารพิษ’
ในยุคสมัยนี้การบริโภคอาหารที่ปลอดจากสารพิษกำลังได้รับกระแสความนิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่งผักและผลไม้ก็จัดอยู่ในหมวดของอาหารประเภทหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญของผู้รักสุขภาพ เนื่องจากผักและผลไม้ มีแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัสคาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และวิตามินต่างๆ รวมถึงเส้นใยของผักและผลไม้ยังช่วยทำให้ระบบการขับถ่ายของมนุษย์เกิดความปกติ
นอกจากสารอาหารต่างๆ ที่อยู่ในผักและผลไม้ที่จะได้รับจากการรับประทานแล้ว ผักและผลไม้บางชนิดยังมีประโยชน์มากกว่าการเป็นอาหาร มีสรรพคุณทางยา เช่น "บร็อกโคลี" โดยสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่าบร็อกโคลีเป็นพืชที่ช่วยต่อต้านโรคมะเร็ง "กะหล่ำปลี" ช่วยรักษาโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือดและต้านมะเร็ง "ผักกาดขาว" ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ แก้ไอและขับเสมหะ"มะเขือเปราะ"ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดขับปัสสาวะและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย "คะน้า" มีแคลเซียม สารต้านอนุมูลอิสระสูงป้องกันโรคกระดูกพรุนและมะเร็ง ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันผู้คนจึงหันมาบริโภคผักและผลไม้กันมากขึ้น เพราะต้องการดูแลบำรุงรักษาสุขภาพของให้แข็งแรง
"แต่ก็ยังมีข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องของสารพิษตกค้างจากการเพาะปลูก ดึงนั้นผู้บริโภคควรให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ หากเราซื้อผักและผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างมาบริโภคไม่ว่าจะมีปริมาณน้อยก็ตาม แต่หากบริโภคเป็นประจำอาจจะเกิดการสะสม ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งในเรื่องของประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหวบกพร่อง เกิดความผิดปกติทางกายภาพของต่อมไทรอยด์"
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารป้องกันกำจัดแมลงบางชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเช่นมะเร็งต่อมลูกหมากมะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม และมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจกันไป เพราะขณะนี้หลายหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ออกมาสำรวจ และมีการป้องกันแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างที่เกิดขึ้น มีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในเรื่องของการใช้สารป้องกันกำจัดแมลง โดยกำชับให้ใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น และต้องใช้ในอัตราและความถี่ที่ถูกต้อง รวมทั้งควรคำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเองด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมด กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ก็ถือว่าเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ต้องดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ โดย พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รองผบก.ปคบ. เปิดเผยกับ "ทีมข่าวอาชญากรรม" ว่า จากปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมายหรือปลอมจนทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร โดยเฉพาะสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงได้ริเริ่มโครงการ "สายสืบผักสด" ขึ้นโดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง แก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ ช่วยสอดส่อง แจ้งเบาะแสสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ หรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชผิดกฎหมายที่จำหน่ายตามท้องถิ่นทั่วประเทศ การเป็นสมาชิก"สายสืบผักสด"ต้องผ่านการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ และให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ชนิดและฉลากที่ถูกต้อง ตำรวจ บก.ปคบ. จึงจัดทำคู่มือ"สายสืบผักสด" เพื่อให้สมาชิกนำไปใช้ในการปฏิบัติ
พ.ต.อ.ไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า การจัดทำคู่มือเป็นการสร้างช่องทางในการแจ้งเบาะแส ผ่านสายด่วน 1135 ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สร้างความตระหนักถึงพิษภัยอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมายอีกทั้งทางโครงการยังช่วยให้ร้านจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกิดความตื่นตัวที่จะปรับปรุงแก้ไขจำหน่ายสารที่ถูกกฎหมายการแจ้งเบาะแสจากสายสืบจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ในการตามสืบ จับกุม ปรับ (ตามกฎหมาย) ดังผลงานในปีที่ผ่านมาเช่น ทลายแหล่งผลิต แหล่งจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรที่ผิดกฎหมาย สามารถจับกุมผู้กระทำผิดดำเนินคดีได้แล้วหลายรายสำหรับผู้ที่สนใจเข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย "สายสืบผักสด" การรับสมัครมีหลายช่องทาง อาทิ สมัครผ่านทาง facebook "สายสืบผักสด" หรือสมัครโดยตรงที่กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคารบี ชั้น 4 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0-2142-1049
"สำหรับโครงการ "สายสืบผักสด" มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการ ผู้จำหน่าย เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องเฝ้าระวังการใช้การจำหน่ายสารเคมีทางเกษตรที่ผิดกฎหมาย และขยายเครือข่าย สายสืบผักผลไม้ปลอดภัยและเครือข่ายพันธมิตรชุมชนผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้บริโภค ให้มีส่วนร่วมพร้อมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาผักและผลไม้ที่ไม่ปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มาเป็นเกษตรปลอดภัย หรือเกษตรอินทรีย์ พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้ในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคผักและผลไม้ที่ปลอดภัยเพิ่มยิ่งขึ้น"
พ.ต.อ.ไพฑูรย์ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนี้เรายังมีกิจกรรม "กล้า ท้า ลอง" ซึ่งมีทีมสายสืบผักสด เจ้าหน้าที่สำนักอาหารสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สุ่มตรวจร้านค้าขายผักและผลไม้ ลงไปตรวจสอบความปลอดภัยของผักและผลไม้ตามตลาดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบประกาศนียบัตรสำหรับร้านค้าที่ผ่านการตรวจสอบ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ ผู้จำหน่าย และประชาชนเป็นอย่างมาก ตลอดช่วงระยะเวลาการดำเนินโครงการที่ผ่านมา บก.ปคบ. พร้อมด้วยเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพผักและผลไม้ในห้างสรรพสินค้า ตลาดค้าปลีกและตลาดค้าส่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ เทสโก้โลตัสฟู้ดแลนด์ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดกลางบางใหญ่ เป็นต้นโดยในปีนี้ บก.ปคบ.ตั้งเป้าขยายความร่วมมือกับตลาดค้าปลีกและตลาดค้าส่ง รวมทั้งแหล่งเพาะปลูกผักและผลไม้ที่ส่งมาจำหน่ายในท้องตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมเดินหน้ากวาดล้างแหล่งผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมายทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และประชาชนสามารถแจ้งแหล่งผลิตผักและผลไม้ที่ไม่ปลอดภัยตลอดจนแหล่งผลิตและจำหน่ายสารเคมีที่ผิดกฎหมายได้ทางสายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือ 0-2142-1050 หรือ www.cppd.go.th
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต