‘สายสืบผักสด’ บริโภคอย่างปลอดภัย

          จากการที่เกษตรกรนิยมใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาใช้ในการเพาะปลูก โดยพบว่าปริมาณการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว อีกทั้งยังมีการใช้สารเคมีอันตรายที่มีพิษสูง ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกประกาศห้ามใช้แล้ว นอกจากเกิดผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังพบสารเคมีตกค้างในพืชผักปริมาณสูงจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

/data/content/23779/cms/bfglpruvx147.jpg

          ดังนั้น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) โดยกองกำกับการ 4 เล็งเห็นความสำคัญของปัญหา จึงได้จัดทำ “โครงการผักสดปลอดภัยส่งเสริมคนไทยสุขภาพดี ภายใต้ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” (สายสืบผักสดรีเทิร์น) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อร่วมกันตรวจสอบคุณภาพผักสด ซึ่งอาจปนเปื้อนสารเคมีตกค้างหรือยาฆ่าแมลงต่างๆ โดยลงพื้นที่ตามแหล่งจำหน่ายทั้งในตลาดสดและห้างสรรพสินค้า รวมทั้งแหล่งเพาะปลูกด้วยเช่นกัน ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

          ในช่วงระยะเวลาการดำเนินโครงการดังกล่าวตลอด 1 ปีที่ผ่านมา บก.ปคบ.พร้อมด้วยเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข สมาคมผู้ค้าปลีก กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมตลาดสดไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี เป็นต้น ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพผักสดในห้างสรรพสินค้า ตลาดค้าปลีกและตลาดค้าส่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง

/data/content/23779/cms/bfgouvxz1378.jpg

          ล่าสุด บก.ปคบ.ร่วมมือกับ สสส.จัดงานเสวนาเรื่อง “ก้าวต่อไปของตลาดผักปลอดภัย” เพื่อรายงานผลการสุ่มตรวจสอบผักสด และระดมความคิดเห็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาสถานที่จำหน่ายให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ ได้มาตรฐาน และกระตุ้นเกษตรกรผลิตผักสดโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค

          พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (รอง ผบก.ปคบ.) ประธานในพิธี กล่าวว่า “โครงการฯ เน้นให้ประชาชนได้มีบทบาทร่วมกันดูแลผักสดให้ปลอดภัย โดยการสมัครเข้าร่วมเป็นสายสืบผักสด เพื่อแจ้งข้อมูลแหล่งปลูกหรือขายผักสดที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการจัดอบรมให้สมาชิกสายสืบผักสดมีความรู้เกี่ยวกับการเลือกซื้อผักให้ปลอดภัย วิธีการล้างผัก ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการตรวจสอบปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในพืชผักด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (Test Kit) และผู้ที่ผ่านการอบรมยังสามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อบุคคลอื่นต่อไป

          พ.ต.อ.วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ ผกก.4 บก.ปคบ. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ เปิดเผยว่า จากการสุ่มตรวจสอบผักจากแหล่งจำหน่ายหลัก 3 ประเภท คือ ตลาดสด ตลาดค้าส่ง และห้างค้าปลีก รวม 16 แห่ง ในกลุ่มผัก 5 ชนิดที่คนไทยนิยมบริโภคสด ได้แก่ คะน้า กะเพรา พริกแดง ผักชี และถั่วฝักยาว หลังจากตรวจด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นแล้ว หากพบค่าสารปนเปื้อนหรือมีสารเคมีตกค้างในผักชนิดใด จะส่งตรวจสอบวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการกลางซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ทราบผลชัดเจนอย่างเป็นทางการ

/data/content/23779/cms/abdjknosx367.jpg

          “ผลการตรวจสอบพบว่า ในรอบแรกเก็บ 391 ตัวอย่าง ส่งห้องปฏิบัติการกลาง 23 ตัวอย่าง พบสารเคมีตกค้างในระดับที่ไม่ปลอดภัย 14 ตัวอย่าง รอบที่ 2 เก็บ 91 ตัวอย่าง ส่งห้องปฏิบัติการกลาง 10 ตัวอย่าง พบสารเคมีตกค้างในระดับที่ไม่ปลอดภัยทั้ง 10 ตัวอย่าง จึงได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบจนถึงแหล่งจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมายตามขั้นตอนของการตรวจสอบต่อไป” ผกก.4 บก.ปคบ.เผย

          สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบดังกล่าว เป็นสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หรือห้ามมีการใช้ จำหน่ายหรือครอบครอง จำนวน 2 ชนิด คือ เอ็นโดซัลแฟน และเมทามิโดฟอส และพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรงที่หลายภาคส่วนร่วมรณรงค์และผลักดันให้ยกเลิกการใช้ คือ คาร์โบฟูราน และเมโทมิล

          อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ผู้บริโภคควรทำความสะอาดผักสดก่อนรับประทาน โดยใช้เกลือ หรือน้ำส้มสายชูผสมน้ำ แช่ทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วล้างออกหรือล้างด้วยน้ำสะอาด ให้น้ำไหลผ่านนาน 2 นาที เพื่อลดปริมาณสารเคมีตกค้างให้น้อยลง และการเลือกซื้อผักสดจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการหลีกเลี่ยงจากผักสดที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคอีกด้วย ทั้งนี้สามารถแจ้งแหล่งผลิตผักสดที่ไม่ปลอดภัย ตลอดจนแหล่งผลิตและจำหน่ายสารเคมีที่ผิดกฎหมายได้ทางสายด่วน 1135, 0-2939-3435 และ www.cppd.go.th.

 

 

         ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

         ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code