สามแพร่ง Facestreet ศิลปะพัฒนาเยาวชน
กลายเป็นกระแส “สามแพร่ง face street” ฟีเวอร์ไปในบัดดล เมื่อไม่นานมานี้ผู้คนหลั่งไหลไปร่วมงาน พื้นที่นี้…ดีจัง ณ ย่านเมืองเก่า เห็นพ่อแม่หอบลูกจูงหลาน พาปู่ ย่า ตา ยาย อากง อาม่า ไปเที่ยวงาน เห็นวัยรุ่นทั้งสายเดี่ยว ไปเป็นคู่ และยกพวกไปเป็นกลุ่ม ไปเดินเล่น ไปถ่ายรูป ไปร่วมทำกิจกรรมศิลปะนานาสารพันแล้ว ทำให้เห็นถึงศักยภาพของ “พื้นที่สร้างสรรค์” เป็นรูปธรรมชัดเจน สมดังที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ให้เกิด “1 ชุมชน 1 พื้นที่สร้างสรรค์”
เข็มพร วิรุฬราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการผลักดันย่านเมืองเก่าให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ว่า ทำอย่างไรให้ชุมชนเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นชุมชนสุขภาวะที่ดีสำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว เราเห็นว่าย่านเมืองเก่า โดยเฉพาะที่สามแพร่ง มีต้นทุนของวิถีชุมชนที่มีรากเหง้าเก่าแก่มายาวนาน มีต้นทุนทางภูมิทัศน์ที่มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม
ที่สำคัญยังเป็นชุมชนที่มีชีวิต มีการทำมาค้าขาย มีอาหารอร่อยขึ้นชื่อ สิ่งเหล่านี้ถ้าเรามีกระบวนการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีเยาวชนอาสาเข้าไปทำกิจกรรมกับชุมชน จะสามารถเกิดเป็นพื้นที่สุขภาวะ สร้างสังคมแห่งการอยู่ร่วมและแบ่งปัน ซึ่งเป็นทิศทางหลักในการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ โดยตัวชุมชนเองจึงเป็นเหมือนสื่อสร้างสรรค์ที่มีชีวิตที่สามารถเข้าถึงผู้คน เข้าถึงสังคม ให้หันมาใส่ใจให้ความสำคัญการมีสิ่งแวดล้อมที่สร้างสุขภาวะดีสำหรับทุกเพศทุกวัยต่อไป”
ภาพถนนร่มลอยฟ้า ซึ่งกลายเป็นมุมมหาชนที่ทุกคนมาแล้วต้องถ่ายรูปกลับไปโพสต์ในสื่ออินเทอร์เน็ต โคมไฟสีสวยที่ประดับในงาน คละเคล้าบรรยากาศไปกับตึกเก่าแสนคลาสสิก ขณะที่ซุ้มศิลปะนานาประเภทเนืองแน่นไปด้วยเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่กลายเป็นเด็กอีกครั้งเมื่อได้มาเดินบนถนนแพร่งนรา ที่ถูกเนรมิตให้เป็นถนนสร้างสรรค์ พากันนั่งวาดรูป ระบายสีเสื้อ ปั้นนกหวีดดิน มัดเพนต์ผ้าเป็นลายสวยด้วยมือตัวเอง ทำให้เห็นถึงพลังของศิลปะ ในฐานะหนึ่งในกระบวนการสร้างสรรค์เพื่อสานสัมพันธ์ครอบครัว สร้างสุขได้ทุกวัย
“ศิลปะเป็นสื่อที่สามารถพัฒนาด้านต่างๆ ของมนุษย์ อย่างเช่น ในกรณีที่สามแพร่งนี้ เราใช้ศิลปะในการพัฒนาครอบครัว ทำให้ครอบครัวกลับมาพูดคุย เพราะชีวิตประจำวันทุกคนต้องทำงาน ต่างคนต่างมีภารกิจของตัวเอง ไม่ค่อยได้มีโอกาสที่จะมาร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว งานเหล่านี้ที่เข้าไปจัดในชุมชน ในพื้นที่ ก็จะทำให้ครอบครัวได้มีโอกาสอยู่ร่วมกัน โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อที่จะนั่งพูดคุยกัน รวมทั้งยังส่งเสริมรสนิยมอันดีงามของผู้คนให้รู้จักศิลปะ และศิลปวัฒนธรรม คุณค่าของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ หรือจะเป็นสิ่งที่ตัวเองเข้าไปเสพ หรือเข้าไปดู” ชลิต นาคพะวัน หนึ่งในศิลปินเจ้าของซุ้มวาดภาพสองรูปบนเฟรมเดียวกัน หรือที่เรียกว่า เฟรมสองหน้า ได้รับความนิยมท่วมทันจากผู้มาร่วมงานสามแพร่ง face street ให้ความเห็นต่อไปว่า
“ขณะเดียวกันศิลปะก็ได้พัฒนาชุมชน พัฒนาสังคมให้น่าอยู่ ให้กลับมามีชีวิตชีวา ให้กลับมาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักเมตตากัน รู้จักให้ รู้จักช่วยกันดูแลกัน รู้จักที่จะทำนุบำรุงกัน ช่วยกันรักษาสถานที่ที่เป็นมรดกตกทอด เป็นโบราณสถาน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่เราควรจะต้องรักษาไว้ เพื่อเป็นกรณีศึกษาหรือเป็นการต่อยอดวัฒนธรรม ถ้าเรายิ่งทำกันบ่อยให้กลายเป็นเรื่องปกติ จะทำให้บ้านเมืองเรายังคงความงาม มีเรื่องราวที่บ่งบอกอดีตถึงปัจจุบัน เชื่อมต่อถึงศิลปะ ตั้งแต่เก่ายันใหม่มาเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน”
นอกจากมุมศิลปะมากมายบนถนนแพร่งนรา ยังมีการแสดงดนตรี ละครข้างถนน ถึงสามมุม สามเวที เรียกว่าเดินกันไป ฟังดนตรีไป ดูการแสดงไป ไม่มีเบื่อ ซึ่งการแสดงข้างถนนล้อมวงดู หรือที่เรียกว่า street performance นี้ มีเสน่ห์ตรงที่ผู้แสดง ผู้เล่น กับผู้ชม ใกล้ชิดกัน สามารถสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดความสนุกสนานได้อย่างเต็มที่ ดังจะเห็นจากการแสดงนิทานคิดแจ่มของภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่นักแสดงกับเด็กๆ ผู้ชมกลมเกลียวกันจนแยกไม่ออกว่าใครแสดงใครดูกันแน่
เช่นเดียวการเล่านิทานประกอบหุ่นมือ บุฟเฟต์หนังสือทำมือ โน้ตบุ๊กแอนด์เมด รวมไปถึงโครงการปล่อยหนังสือ หรือหนังสือ 0 บาท ได้รับความสนใจชนิดมุงกันแน่นขนัด เป็นส่วนหนึ่งการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่ สสส.เองเน้นความสำคัญให้มีอยู่ในทุกกิจกรรมที่จัดสำหรับเด็กและครอบครัว
ข้ามมายังแพร่งภูธร จุดกำเนิดหรือต้นฉบับของงานสามแพร่ง มีกำแพงอมยิ้มใส่ไฟสีสวยรอต้อนรับผู้มาเยือนอยู่ตรงหน้า ในลานกลางแจ้งประกอบไปด้วยซุ้มกิจกรรมศิลปะแบบมีส่วนร่วมจากชุมชนต่างๆ ในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดน่าจะเป็น มุมกระปุกหมูออมรัก จากย่านกะดีจีน ที่นำหมูกระดาษมาให้เด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่หัวใจเด็กนั่งระบายสีแล้วเอากลับบ้านไปหยอดกระปุกเองได้เลย
เด็กๆ ยังได้สนุกกับการทำขนมปั้นสิบแบบไทยๆ กับครัวบ้านแม่จวบ ทำเอง ชิมเอง แล้วแบ่งกันกินกับเพื่อนๆ ที่มาร่วมปั้นด้วยกัน ได้เพื่อนใหม่ไปด้วยในตัว แถมอร่อยกว่าขนมถุงกรุบกรอบที่ไม่ดีต่อสุขภาพหลายเท่าทีเดียว
ซุ้มพับกระดาษโอริกามิรับมือเด็กๆ ตลอดเวลาไม่เคยว่าง จินตนาการมากมายจากกระดาษแค่แผ่นเดียว ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เด็กๆ มีสมาธิในการทำงานฝีมือที่ตนเองอยากทำ ถัดไปหน่อยก็เป็นการสอนตัดกระดาษจีน ทำหน้ากากงิ้ว และนิทรรศการบ้านเก่าเล่าเรื่องของชุมชนตรอกเจริญไชย ชุมชนเก่าแก่แถวเยาวราช ใต้โคมจีนลูกกลมใหญ่แขวนไว้เหนือซุ้มสร้างบรรยากาศย่านจีนบางกอกได้ดีนัก
ที่ฮิตติดอันดับอีกซุ้มคือ ทำหน้ากากจากถุงกระดาษ เด็กๆ ทำแล้วใส่เดินกันถ้วนทั่ว ระหว่างทำก็จะได้ยินเสียงตีบาตรดังคลุกเคล้ากันไป เพราะเป็นมุมกิจกรรมที่มาจากชุมชนบ้านบาตรนั่นเอง
“แพร่งภูธร ถือว่าเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เด็กๆ ได้มาแสดงออก ได้เสนอแนวคิด ได้เรียนรู้จากกิจกรรมศิลปะ ส่งเสริมจิตนาการเด็ก เด็กได้มีพื้นที่ มีความต่อเนื่อง เริ่มมีแฟนคลับ คนมาปีแรก ปีสองก็ตามมา ปีนี้คนยิ่งเยอะกว่าสองปีที่ผ่านมาอีก เสียงตอบรับจากชาวบ้านก็ชอบ บอกว่าดี เป็นงานเด็กๆ เยาวชน เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์ มีแต่ชุมชนได้ประโยชน์ ได้ทั้งประชาสัมพันธ์แพร่ง ได้สร้างสรรค์เยาวชน คนจัดมีใจ ชุมชนให้ใจ คนมาเที่ยวก็ต้องมีใจ เหมือนจิ๊กซอว์ที่ลงตัวพอดี” นายธีรพล คชาชีวะ ประธานชุมชนแพร่งภูธร ให้ความเห็น
เวทีการแสดงและดนตรีจากศิลปินซึ่งผูกพันกับสามแพร่งมาตลอด อย่าง ธีร์ ไชยเดช และเจี๊ยบ วรรธนา ปีนี้ย้ายมาจัดในสวนหย่อมกลางลานแพร่งภูธร ให้บรรยากาศสีเขียวที่อบอุ่นใกล้ชิดมากกว่าทุกปี ชาวแพร่งภูธรจะช่วยกันดูแลพื้นที่สีเขียวไว้รอต้อนรับผู้มาเยือนในปีหน้าอย่างใจจดใจจ่อ
สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนของชุมชน เราจะเห็นชาวบ้านสามแพร่งยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับผู้มาเยือน เด็กๆ เอาของออกมาขายเล่นๆ แต่เก็บสตางค์จริงๆ ที่หน้าบ้านตัวเอง ที่เคยปิดประตูบ้านตั้งแต่เย็น ก็เปิดบ้านมาดูงานไปจนเลิก
“เท่าที่ได้คุยกับชาวชุมชน ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าชอบงานนี้มาก งานสวยมาก มีแต่คนชม ไม่คิดว่าคนจะมาเยอะขนาดนี้ เห็นพวกเรา เด็กๆ อาสาสมัครทำงานกันแล้ว ชาวบ้านเขารู้สึกชื่นชม เพราะเป็นงานของเยาวชนจริงๆ ชุมชนเขาชอบที่มีการปิดถนนให้คนเดิน เด็กๆ ได้เดินเล่นสบายใจ มีความสุข เด็กๆ ชอบงานนี้มาก ได้ทำกิจกรรมเยอะแยะ ได้นั่งทำบนถนน ได้ดูละคร พ่อค้าแม่ขายบอกว่าขายของดี ชุมชนได้ประโยชน์ทั้งเรื่องค้าขายและมีคนมารู้จักชุมชน รู้สึกว่าทุกคนมีความสุขกับงานที่เกิดขึ้น อยากให้จัดงานดีๆ แบบนี้อีกเป็นประจำทุกปี สุดท้ายชาวบ้านเขาก็ฝากให้กำลังใจพวกเรามาให้ทำงานดีๆ แบบนี้ต่อไป” สืบสาย พูลมี อาสาสมัครฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ เล่าจากปากคำชาวบ้านให้ฟัง
พื้นที่นี้…ดีจัง ณ ย่านเมืองเก่า “สามแพร่ง face street” ได้จุดประกายให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสรับรู้และเห็นคุณค่าของการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นทุกชุมชน เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคน
หลังจากนี้ไป โครงการเมืองยิ้ม 3d ของกลุ่มรักยิ้ม คงได้ตระเวนสัญจรพา “ยิ้ม” ไปเยือนยังชุมชนอื่นๆ ให้เกิดเป็นเส้นทางเชื่อมร้อยย่านเมืองเก่าสู่ความเป็น “เมืองสุขภาวะ” ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบโดย แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)