“สามพราน โมเดล อะคาเดมี” ตอกย้ำสร้างวิถีอินทรีย์ยั่งยืนตัวจริง

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา 


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต



๐ ครบเครื่อง เรื่องออร์แกนิก เปิด "สามพรานโมเดลอะคาเดมี" ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และแบ่งปัน ดำนเกษตรอินทรีย์


๐ ก้าวครั้งสำคัญของสามพราน โมเดล เพื่อจะขยายฐานเกษตรวิถีอินทรีย์อย่างรวดเร็วไปทั่วไทย


๐ โชว์ตลาดสดออร์แกนิกแห่งแรก Go Green ของจริงที่ตลาดสุขใจ "ที่นี่เขางดใช้ถุงหูหิ้ว หลอดและภาชนะ พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง โดยเตรียมทางเลือกที่เชิญชวน รักษ์สิ่งแวดล้อมมารองรับ"


คนถามหาผลผลิตพืชผักและผลไม้เกษตรอินทรีย์ที่เชื่อมั่นได้ในคุณภาพ ความปลอดภัยบนเพจที่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ หรือ ออร์แกนิก โครงการ "สามพรานโมเดล" มักจะเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคกล่าวขานถึง จนทุกวันนี้ที่นี่คืออีกหนึ่งโมเดลต้นแบบของความร่วมมือระหว่างเอกชนกับภาครัฐ สอดคล้องกับแนวนโยบายประชารัฐ ประเทศไทย 4.0


ย้อนหลังราว 8 ปี สวนสามพรานเริ่มลงมือทำจากเล็กๆ ที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเองทั้งหมด แต่ด้วยการสร้างจุดแกร่งของโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนบนรากฐานของการค้าที่เป็นธรรม และยึดหลักปรัชญาหลักเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อโครงการเข้าสู่ปีที่ 3 หน่วยงานภาครัฐมองเห็นถึง ประโยชน์องค์รวมและผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เข้ามาสนับสนุนงบประมาณ โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย(สกว.) ปีละ 5-6 ล้านบาท นำไปใช้เป็นค่าบริหารจัดการต่างๆ เช่น ค่าอบรม ค่าการวิจัยและพัฒนาแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ การพัฒนามาตรฐานเข้าสู่ระบบ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movement) เป็นต้น


ปลุกปั้นวิถีเกษตรอินทรีย์สู่ความยั่งยืน


จวบปัจจุบันนี้ สามพรานโมเดล ไม่เพียงพิสูจน์แนวทางขับเคลื่อนที่ลงมือลงแรงทำอย่างจริงจัง ผ่านอุปสรรคขวากหนามและการ แก้ไขปัญหาโดยมีการลองผิดลองถูกมากมาย ล่าสุดเตรียมจัดงานสังคมสุขใจต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคมนี้ ณ สวน สามพราน จ.นครปฐม ด้วยคอนเซ็ปต์ "เท่นอกกรอบ..ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล" โดยร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดนครปฐม และกลุ่มภาคีเครือข่าย เช่น บริษัทน้ำตาลมิตรผล บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มโรงแรมในเครือ เดอะ สุโกศล รวมพลังปลุกคนไทย เพื่อร่วมกันสร้างระบบอาหารให้มั่นคง ยั่งยืน



อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสามพรานริเวอร์ไซด์ (สวนสามพราน) ผู้บุกเบิกโครงการ "สามพรานโมเดล" กล่าวว่า ขณะนี้การขับเคลื่อนสามพรานโมเดลได้พัฒนาสู่ Organic Tourism หรือการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ จึงจัดให้มีกิจกรรมอบรมเพื่อส่งเสริมความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ให้ภาคส่วนต่างๆ อยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจถึงห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ทั้งระบบ ก็เพื่อจะได้นำองค์ความรู้ไปปรับใช้และพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในมิติต่างๆ


"จากประสบการณ์ตรงในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่าการจะนำองค์ความรู้ไปปรับใช้และพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์หลายมิติสามพรานโมเดลจำเป็นต้องมีแหล่งเรียนรู้เป็นที่น่าเชื่อถือ มีข้อมูลให้ศึกษาและนำไปต่อยอดได้ ดังนั้นการมีสถาบันหรือ Academy เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้การสร้างระบบอาหารสมดุลทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงเป็นศูนย์รวมในการแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีซึ่งภายในงานสังคมสุขใจ ครั้งนี้เราจะเปิดตัวแนะนำ Sampran Model Academy"


เขาอธิบายถึงสามพราน โมเดล อะเคดิมี อีกว่า ช่วงที่ผ่านมา สามพรานโมเดล ได้มีการสร้างระบบอาหารสมดุล ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ "ต้นน้ำ" คือการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกส่วนกับผู้ผลิตก็คือการสร้างเกษตรกรวิถีอินทรีย์ หรือแม้แต่การสนับสนุนโรงเรียนในท้องถิ่น เพื่อให้เด็กนักเรียนทดลองทำเกษตรอินทรีย์ เรียนรู้และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ยังเล็ก "กลางน้ำ" เป็นเรื่องของการแปรรูป การหีบห่อ การจัดการหลังเก็บเกี่ยว


ส่วน "ปลายน้ำ" ก็คือการสร้างช่องทางการตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึง ซึ่งจะเห็นว่าเรามีตลาดสุขใจ จัดตลาดสุขใจสัญจรตลาดเสรีมาร์เก็ต กลุ่มโรงแรม เดอะ สุโกศล และโรงแรมชั้นนำเริ่มเข้ามาซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ รวมถึงมีเว็บไซต์ www.taladsookjai.com คอยให้ข้อมูลหรือแม้กระทั่งในตลาดสุขใจซึ่งเกษตรกรในภาคีเครือข่ายแต่ละกลุ่มมาขายสินค้า ก็แสดงให้ผู้บริโภค คนซื้อมองเห็นป้ายว่าผ่านมาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือ มาตรฐาน PGS


เขาย้ำถึงเจตนารมณ์ของสามพรานโมเดล คือ การสร้างความยั่งยืนให้กับภาคีเครือข่าย "การทำโครงการใดๆ ก็ตาม หากจะให้ยั่งยืนต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะถ้าภาครัฐทำเป็นโครงการเหมือนทั่วไป เมื่อหมดเงินโครงการต่างๆ ก็ต้องยุติลงไป ส่วนจะให้ภาคเอกชนทำเองทั้งหมดถือเป็นภาระที่ยากจะแบกรับไหว แต่หากเกิดความร่วมมือแล้วให้กลไกตลาดขับเคลื่อนไปได้ ทุกฝ่ายเกิดประโยชน์จะทำให้โครงการเกิดความยั่งยืน คงจะเห็นว่า สวนสามพรานได้รับประโยชน์โดยตรง คือการได้แหล่งวัตถุดิบคุณภาพดีต้นทุนต่ำ ส่วนนักวิชาการก็ได้เผยแพร่ความรู้และงานวิจัย ขณะที่เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม สุขภาพก็แข็งแรงเมื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ก็หมดเสี่ยงจากการใช้สารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ"


สวนสามพรานได้อะไร จากโมเดลนี้


"สามพรานโมเดล" แล้วทางสวนสามพรานที่เป็นเสมือนแม่งานขับเคลือนทุกด้าน แต่ใครก็มักจะถามเขาเสมอว่า "ทำไปแล้วสวนสามพรานได้อะไร ลงทุนลงแรงขนาดนี้คุ้มค่าหรือ?"


"อย่างที่กล่าว เราได้โดยตรง คือผลผลิตเกษตรอินทรีย์ราคาถูกที่มาใช้ในโรงแรม ซึ่งการรับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ทำให้เราลดต้นทุนไปมาก ส่วนทางอ้อม เราได้เรื่องการประชาสัมพันธ์องค์กร สร้างแบรนด์ของเราให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะศูนย์กลางของการทำเกษตรอินทรีย์ ทุกวันนี้เราได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ เข้ามาจัดสัมมนาและดูงานการทำโครงการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของเรา ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีลูกค้ากลุ่มนี้มาก่อน จนกระทั่งได้พันธมิตร ททท.เข้ามาร่วมต่อยอดพัฒนาสู่ Organic Tourism หรือการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ขณะที่ทางจังหวัดนครปฐมก็สนับสนุนให้ที่นี่เป็นตลาดเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของประเทศ"



"อีกสิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าสวนสามพรานได้มากที่สุดคือ การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ปลุกจิตสำนึกให้พนักงานในสวนสามพรานที่ปัจจุบันมีกว่า 400 คน มีทัศนคติเดียวกัน ในการทำองค์กรแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์เพื่อชุมชน เมื่อพนักงานออกไปช่วยชาวบ้านทำเรื่องเกษตรอินทรีย์แล้วเห็นผลสำเร็จจากสิ่งที่ทำก็เกิดความสุข และรู้ว่าองค์กรแห่งนี้มีทิศทางอย่างไรชัดเจน ตรงนี้แหละ เมื่อทุกคนมีจิตวิญญาณร่วมกัน เดินไปตรงกัน องค์กรก็จะขับเคลื่อนอย่างมีพลัง"


ความท้าทายของโครงการ"สามพรานโมเดล" ตลอดมาก็คือต้องรักษาคุณภาพของผลผลิตที่ออกมาให้ได้สม่ำเสมอ เพราะหากพลาด สินค้าที่ออกมาไม่เป็นที่ยอมรับ กระทบชื่อเสียงและความไว้วางใจ สุดท้ายอาจจะต้องล้มทั้งโครงการ


ส่วนความคาดหวัง เขาบอกว่า อยากให้โครงการลักษณะ "สามพรานโมเดล" กระจายไปสู่ทุกหนทุกแห่งในประเทศไทย ชุมชนหรือท้องถิ่นต่างๆ หันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างแพร่หลาย ช่วยให้ผู้บริโภคทั่วไปจะได้มีโอกาสเข้าถึงผักผลไม้สดปลอดภัยในราคาที่ถูกลง ขณะที่เกษตรกรผู้เพาะปลูกในแต่ละคนในชุมชนจะมีสุขภาพดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มจากการขายผลผลิตและการท่องเที่ยว ทั้งหมดจะส่งให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และต่อยอดสู่สังคมอันเป็นสุขอย่างยั่งยืน.


จุดเริ่มกับการต่อยอด "สามพรานโมเดล"


เจ้าของโครงการและผู้บุกเบิก เป็นทายาทธุรกิจสวนสามพรานอย่าง "อรุษ นวราช" หรือ "คุณโอ" กรรมการผู้จัดการสามพราน ริเวอร์ไซด์ (สวนสามพราน) ร่ำเรียนทางด้านวิศวกรรมเคมีจากประเทศอังกฤษ เขาเคยทำงานที่กรุงเทพฯ นับสิบปี ก่อนจะกลับมาสานธุรกิจครอบครัวต่อจากคุณแม่ (สุชาดา ยุวบูรณ์)


ผู้บริหารหนุ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นโครงการมาจากคุณแม่และตัวเขาเองใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพ เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วริเริ่มแบ่งพื้นที่ประมาณ 35 ไร่มาทำแปลงสาธิตปลูกผัก และสวนผลไม้ตามวิธีเกษตรอินทรีย์ เพื่อจะนำผลผลิตมาใช้ในห้องอาหารบริการลูกค้าโรงแรม


อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผลผลิตที่ปลูกในแปลงตัวเองไม่เพียงพอ จำเป็นต้องหาเพิ่มเติม หากจะซื้อจากตัวแทนหรือพ่อค้าคนกลางที่ไปรับผลผลิตจากเกษตรกรมาขายต่อ ราคาก็สูงมาก จึงเกิดแนวคิดลงไปสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่นให้ทำเกษตรอินทรีย์ แล้วรับซื้อวัตถุดิบดังกล่าวจากเกษตรกรในท้องถิ่นด้วย แต่ปัญหาที่พบกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ "สามพรานโมเดล" จวบจนปัจจุบัน


"ตอนนั้นที่เราเข้าไปหาเกษตรกรพบปัญหาว่า เกษตรกรในท้องถิ่นแทบทุกรายล้วนแต่ทำเกษตรโดยใช้สารเคมี เพราะต้นทุนถูก และมีตลาดรองรับแน่นอน รวมถึงเราพบว่าจริงๆ แล้วเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่อยากจะใช้สารเคมีหรอก เพราะมันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเขา แต่ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องทำ เพราะเกษตรอินทรีย์ทำยากและใช้เวลานาน ที่สำคัญที่สุด "ไม่มีตลาดรองรับ" ในขณะที่พวกเราคนเมืองอยากบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ แต่กลับเข้าถึงได้ยากเพราะราคาสูงเกินจะจ่ายไหว นี้ทำให้ผมเห็นว่าต้องพาเกษตรกรมาเชื่อมถึงผู้บริโภคโดยตรง ส่วนการส่งเสริมจะทำแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องทำให้ครบวงจร" คุณโอ ชี้แนวคิดหลัก



เบื้องต้นการลงไปถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านมาทำเกษตรอินทรีย์ ประสานขอวิทยากรจากสถาบันการศึกษา แล้วใช้พนักงานของสวนสามพรานเป็นทีมปฏิบัติการ ช่วงแรกชาวบ้านยังไม่เข้าใจ บางคนต่อต้าน กว่าจะสร้างการยอมรับและเข้าใจและเริ่มเห็นผลจริงจังใช้เวลากว่า 2 ปี


ขั้นต่อมา ถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ คือ การหาตลาดรองรับ เขาแจกแจงในส่วนนี้ว่า ด้านตลาดทำในหลายๆ ด้าน ได้แก่ ทางโรงแรมรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เข้าโครงการในราคารับประกัน ปัจจุบันรับซื้อข้าวประมาณ 2.5-3 ตันต่อเดือน ผลไม้ 4-5 ตันต่อเดือน และผัก 2-3 ตันต่อเดือน มูลค่ารวมกว่า 9 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเกษตรกรได้เงินกว่า 5-6 แสนบาท


เมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้วเปิดพื้นที่ 2 ไร่ในสวนสามพรานทำเป็น "ตลาดนัดสุขใจ" เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่อยู่ในโครงการมาออกร้านขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ฟรีๆ ในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ โดยที่ผ่านมาผลตอบรับจากผู้บริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆทุกปี ตอนนี้เฉลี่ยมีคนมาเที่ยววันละประมาณ 1,000 คน เกิดเงินหมุนเวียนในตลาดนัดสุขใจ เดือนละประมาณ 2 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่มาออกร้านรายละประมาณ 35,000 บาทต่อการขาย 8 วัน นอกจากนั้น ในรายที่พัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูปได้มาตรฐานสูง สามารถนำสินค้าไปวางขายในโรงแรมได้ฟรีอีกเช่นกัน


ช่วงต่อมาจัดโครงการ "ตลาดนัดสุขใจสัญจร" ด้วยการประสานไปยังหน่วยงานขนาดใหญ่หลายแห่ง ขอใช้สถานที่พาเกษตรกรในโครงการไปออกบูท เป็นการขยายช่องทางตลาดให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้การตอบรับจากองค์กรใหญ่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสำนักงานขนาดใหญ่ ธนาคาร โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า โดยเฉลี่ยการออกสัญจรมียอดขายประมาณ 20,000 บาทต่อวัน นอกจากนั้นยังทำเว็บไซต์เพื่อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านอีคอมเมิร์ซอีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code