สานสันติภาพยิ้ม..ริมน้ำสาละวิน
ใจกลางหมู่บ้านเล็กๆ ของคนปกากะญอ ติดชายแดนไทย-พม่า เมล็ดพันธุ์ของพื้นที่สร้างสรรค์งอกงามขึ้นผ่านงาน “สานสันติภาพยิ้ม…ริมน้ำสาละวิน” ซึ่งจัดขึ้นที่ “บ้านท่าตาฝั่ง” อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อไม่นานมานี้ นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในโครงการพื้นที่นี้…ดีจัง ที่มุ่งหวังขยายพื้นที่สร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย
โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเด็กๆ ตกในสภาวะวิกฤติหรือยากลำบาก ตามแนวคิดของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ซึ่งสอดรับกับการผลักดันให้เกิด “1 ชุมชน 1 พื้นที่สร้างสรรค์” อย่างเป็นรูปธรรม ตามเป้าหมายที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งไว้
“เนื่องจากบ้านท่าตาฝั่งเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า แกนนำชุมชนบ้านท่าตาฝั่งเห็นว่าควรให้เยาวชนในพื้นที่ได้มามีส่วนร่วมในการนำเสนอเรื่องราวของหมู่บ้าน โดยเฉพาะสถานการณ์เรื่องเขื่อน จึงเกิดเป็นค่ายเยาวชนสานสันติภาพขึ้น ขณะเดียวกัน ผมมองว่าการใช้ศิลปวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ที่เป็นรากเหง้าของเขาเป็นสิ่งที่จะเข้าถึงเยาวชนได้เป็นอย่างดีให้เขาได้ซึมซับเรื่องความรักความหวงแหนในแผ่นดิน สร้างความภาคภูมิใจ ความมั่นใจให้เด็กๆ ได้อยู่กับวัฒนธรรมของตัวเอง เป็นที่มาของชื่อโครงการว่าปกากะญอมีดี”
“ชิ” สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาวปกากะญอ ผู้ประสานงานโครงการปกากะญอมีดี เล่าถึงที่มาของงาน “สานสันติภาพยิ้ม…ริมน้ำสาละวิน”
กิจกรรมเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า โดยปราชญ์ชาวบ้านและเด็กๆ จากโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นเยาวชนอาสาสมัครจาก 8 ประเทศ ในนามโรงเรียนแม่โขงสคูล เดินเท้าไปเรียนรู้สัมผัสความอุดมสมบูรณ์ในป่า ทั้งผัก ผลไม้ และสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาโรคต่างๆ
กิจกรรมที่ทุกคนสนุกสนานและมีส่วนร่วมมากที่สุด เห็นจะเป็นภูมิปัญญาการจับปลาของชาวปกากะญอ ที่นำหินก้อนใหญ่ ดินริมลำธาร หรือหญ้าต่างๆ มาทำแนวกั้นน้ำเพื่อให้น้ำแห้ง
ก่อนจะใช้มือเปล่าจับปลาที่แอบอยู่ตามโขดหิน หรือใช้แหเล็กๆ คลุมหิน ก่อนที่จะขยับหินไปมาเพื่อให้ปลาว่ายน้ำออกมาติดแห ซึ่งเด็กๆ ในหมู่บ้านต่างรู้วิธีการจับปลาในลักษณะนี้เป็นอย่างดี เพราะตามพ่อแม่มาหาปลาตั้งแต่ยังเล็ก ชาวบ้านบอกด้วยว่า เมื่อจับปลาได้พอที่ต้องการแล้ว ก็จะพังแนวกั้นน้ำออกเพื่อให้น้ำในลำธารไหลตามเดิม และให้ปลาตัวอื่นๆ ได้เติบโตในลำธารสายนี้ต่อไป
ในช่วงบ่ายปราชญ์ชาวบ้านหลายคนมาช่วยกันสอนเด็กๆ และผู้ร่วมงานสานไม้ไผ่ให้เป็นสัญลักษณ์สันติภาพ 99 อัน เพื่อใช้ในพิธีช่วงค่ำ โดยดัดแปลงมาจากสัญลักษณ์ของชาวปกากะญอดั้งเดิมที่เรียกว่า “ตาแหลว” ซึ่งมีลักษณะเป็นไม้สามง่ามสานจากไม้ไผ่
“ชุมชนพยายามใช้สัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรม เมื่อผู้นำชุมชนตั้งคำถามว่า หากจะมีสัญลักษณ์ที่สื่อสัญลักษณ์ของคนลุ่มน้ำสาละวิน เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำของคนสาละวิน ควรจะเป็นสัญลักษณ์อะไร ทำให้นึกถึงคนปกากะญอสมัยก่อนที่ใช้ตาแหลวป้องกันไม่ให้ความชั่วร้ายเข้ามาในหมู่บ้าน และไม่ให้สิ่งดีๆ ออกไปจากหมู่บ้าน จึงมีการปรึกษากันว่าถ้าประยุกต์ความหมายของตาแหลวตามความเชื่อดั้งเดิมของปกากะญอ ผสมผสานกับความหมายของไม้กางเขนของศาสนาคริสต์ซึ่งชาวบ้านนับถือ และความหมายของสันติภาพ นำทั้งสามอย่างมารวมกัน ออกมาเป็นรูปร่างที่ตีความหมายได้ทั้งสามประการ น่าจะถือเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อสันติภาพ สันติสุขของคนปกากะญอที่อยู่ที่นี่” ชิ สุวิชาน เล่าถึงที่มาของสัญลักษณ์สันติภาพที่ทั้งเด็กๆ ผู้ใหญ่กำลังช่วยกันสานไม้ไผ่อย่างตั้งใจ
ใกล้ค่ำบริเวณโบสถ์ใจกลางของหมู่บ้านท่าตาฝั่ง กิจกรรมภาคเวทีของงาน “สานสันติภาพยิ้ม…ริมน้ำสาละวิน” เริ่มขึ้นโดยเด็กๆ ชาวปกากะญอทั้งชายหญิง ได้ร่วมกันแสดงระบำเกลียวเชือกสามัคคี ซึ่งถือเป็นการแสดงที่หาดูยาก นับเป็นต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมสำคัญที่เด็กๆ ได้เรียนรู้และอนุรักษ์ไว้ ก่อนจะปิดเวทีด้วยพิธีจุดเทียน โดยเชิญตัวแทนชาวบ้านและตัวแทนนักเรียนแม่โขงสคูลจากทั้ง 8 ประเทศ ขึ้นมากล่าวคำว่าสันติภาพในภาษาของตัวเอง
ก่อนนำสัญลักษณ์สันติภาพที่ช่วยกันสานในช่วงบ่ายมาแขวนร่วมกันบริเวณโบสถ์ ซึ่งหลังจากนี้ ชาวบ้านจะช่วยกันนำสัญลักษณ์สันติภาพเหล่านี้ไปติดตั้งตามแนวริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน เพื่อแสดงออกว่าคนในชุมชนบ้านท่าตาฝั่งอยากอยู่อย่างสันติและไม่ต้องการเขื่อน
“เราเริ่มจากการสร้างความเข้าใจในชุมชน พูดถึงประเด็นการอยู่ร่วมกับป่า ดูแลธรรมชาติ ความผูกพันกับแม่น้ำสาละวิน งานสานสันติภาพยิ้ม…ริมน้ำสาละวินครั้งนี้ เกิดจากเราต้องการสันติภาพ เชื่อมโยงสันติภาพส่งต่อจากเราไปหาคนอื่น กิจกรรมในวันนี้เป็นการแสดงออกทางความเชื่อ พิธีกรรม ภูมิปัญญาว่าเรายังต้องการให้แม่น้ำสาละวินไหลอย่างอิสระ ไม่มีการสร้างเขื่อนใดๆ มาขวางกั้น” ไพโรจน์ พนาไพรสกุล ชาวบ้านท่าตาฝั่งและอาสาสมัครทำงานด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวทางการสร้างพลังชุมชนผ่านงานศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวปกากะญอ
บรรยากาศของพื้นที่สร้างสรรค์กลางหมู่บ้านเล็กๆ ที่ห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทั้งป่าใหญ่และสายน้ำอิสระอย่างสาละวิน ภาพผู้ใหญ่จูงเด็กที่ใส่ชุดประจำเผ่ามาชมการแสดงและร่วมแสดง ภาพผู้เฒ่าผู้แก่ชาวปกากะญอเดินถือไม้เท้าเข้าร่วมงาน แสงเทียนสว่างและเสียงเอื้อนเอ่ยคำว่าสันติภาพภาษาปกากะญอในคืนนี้ บ่งบอกถึงความนุ่มนวล รักสงบ ทว่าเข้มแข็งในการปกป้องและรักษาวิถีของตนเองไว้ได้เป็นอย่างดี
“ในแม่น้ำสาละวินมีปลาเป็นร้อยชนิด ถ้ามีเขื่อนกั้นไว้ ปลาก็จะหายไป การขนส่งสินค้าในหมู่บ้านก็ต้องเปลี่ยนไป กระทบทั้งเรื่องอาหาร ทั้งเรื่องสัญจร ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งชาวบ้านก็บอกว่าไม่อยากได้เขื่อน เพราะวิถีชีวิตที่เป็นอยู่จะเปลี่ยนไปการอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง หรือแบบพี่แบบน้อง ก็จะไม่มีชุมชนที่เคยอยู่อย่างสงบ วิถีชีวิต ประเพณี ที่สงบ ก็จะไม่สงบแล้ว คนในชุมชนก็ต้องย้ายออก อยู่ไม่ได้ก็ต้องเป็นลูกจ้างเขา ถ้าไม่ไหวก็ต้องย้ายไปที่อื่นเพื่อให้อยู่ได้” พ่อหลวงทรงศักดิ์ จงแกล้วกล้า ผู้ใหญ่บ้านท่าตาฝั่ง เล่าถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับหมู่บ้าน หากเกิดการสร้างเขื่อนขึ้นจริงๆ
ชาวปกากะญอมักใช้ชีวิตอย่างสงบและสันโดษ มีวิถีที่พึ่งพิงธรรมชาติ เมื่อความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับการพัฒนาขนาดใหญ่ก้าวเท้ามาเยือนชาวปกากะญอถึงที่ เขาไม่มีอาวุธใดๆ ในมือ มีเพียงศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ถ่ายทอดส่งต่อสู่เยาวชน ให้เป็นเหมือนเครื่องมือในการเพาะเมล็ดพันธุ์ความรักถิ่นฐานบ้านเกิด การเคารพในตนเอง เพื่อเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ สื่อสารเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วมและแบ่งปัน ให้อยู่คู่สันติภาพและสันติสุขเช่นนี้ต่อไป.
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต