สานพลัง 189 อปท. ประกาศเจตนารมณ์ “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” สร้างมาตรการชุมชน เสริมกลไกพื้นที่ มุ่งเป้าลดเจ็บ-ตาย ภายในปี 2570
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
มุ่งลดเจ็บ-ลดตาย สสส. สานพลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 189 อปท. ร่วมประกาศเจตนารมณ์สร้างมาตรการ-เฝ้าระวังป้องกัน-ช่วยเหลือฉุกเฉิน-ฟื้นฟูดูแลต่อเนื่อง สร้างอำเภอขับขี่ปลอดภัย เกิดวิถีความปลอดภัยทางถนนระดับท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติเพื่อจัดทำแผนความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่นประจำปี 2567 และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” เพื่อการจัดการความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีเป้าหมายพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชน รวมถึงพัฒนานวัตกรรม และผลักดันนโยบายสาธารณะ ความปลอดภัยทางถนนถือเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 189 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 35 อำเภอ 20 จังหวัด ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ ได้นำ “นโยบายขับขี่ปลอดภัย” สู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เสริมศักยภาพกลไกระดับตำบลและอำเภอ ลดอุบัติเหตุ ลดบาดเจ็บ ลดความพิการ และลดการเสียชีวิต
“เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ขอประกาศเจตนารมณ์ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและมาตรการชุมชนท้องถิ่นจัดการความปลอดภัยทางถนน 1. กำหนด กฎ กติกา และข้อตกลง 2. แก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตราย ให้ปลอดภัย 3. รณรงค์การสวมหมวกนิรภัย 100% และดื่มไม่ขับ 4. จัดทำแผนจัดการของพื้นที่ครอบคลุม 3 ระยะ ได้แก่ เฝ้าระวังป้องกัน ช่วยเหลือฉุกเฉิน ฟื้นฟูดูแลต่อเนื่อง 5. เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือฉุกเฉิน 6. เสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน 7. เสริมศักยภาพเครือข่ายจิตอาสา 8. จัดให้มีด่านชุมชนหรือศูนย์บริการประชาชนตามปฏิทินเสี่ยงของพื้นที่ 9. สนับสนุนกองทุน จัดสวัสดิการเพื่อฟื้นฟูดูแลต่อเนื่อง ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่จะสานและเสริมพลังในการขับเคลื่อนให้เกิด “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” ด้วยการน้อมนำศาสตร์ของพระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ระเบิดจากข้างใน” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จนเกิดเป็นวิถีปฏิบัติที่คำนึงถึงความปลอดภัยทางถนนตลอด 365 วัน” นายสมพร กล่าว
นายศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นเป็นเครือข่ายที่มีความใกล้ชิดกับพื้นที่ ข้อมูลอัตราการบาดเจ็บ และเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ปี 2566 พบว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่ 56% เสียชีวิตไม่ไกลจากบ้าน และอยู่ในรัศมีไม่เกิน 5-10 กิโลเมตรจากที่พักอาศัย คนที่เกิดเหตุมักเป็นผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชน ท้องถิ่นมีถนนที่อยู่ในความดูแลทั่วประเทศ ประมาณ 6 แสนกิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนที่ท้องถิ่นสามารถดูแลและบริหารจัดการได้ สร้างถนนที่ปลอดภัยเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วยทรัพยากรจากพื้นที่ได้ หลังจากนี้จะขับเคลื่อนร่วมกับแผนสุขภาวะชุมชนตามเจตนารมณ์ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยทางถนน ที่มีเป้าหมายชัดเจน คือ ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้เหลือ ไม่เกิน 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี 2570
“การบูรณาการในครั้งนี้ มีจุดเน้นสนับสนุนท้องถิ่นสามารถจัดการที่ใกล้ชิดกับชุมชน โดยสนับสนุนท้องถิ่นชุมชน ให้รู้ถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยง วิเคราะห์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น นำมาหาแนวทางแก้ไข หาเจ้าภาพ สร้างเครือข่ายร่วมแก้ไขปัญหา นำแนวคิดใหม่ๆ และเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการทำงาน เช่น การสวมหมวกนิรภัย สามารถนำระบบ AI และ CCTV ใช้ร่วมกับกล้องทั่วไป ตรวจนับการสวมหมวกนิรภัยได้ ใช้เป็นข้อมูลให้ท้องถิ่นติดตามการทำงาน หนุนเสริมให้รางวัลพื้นที่ที่ทำได้ดี รวมถึงบทเรียนอื่นที่ช่วยสนับสนุนให้พื้นที่ลดอุบัติเหตุได้ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเรียนรู้จราจร งานอาสาจราจร/กองร้อยน้ำหวาน มาตรการลดอุบัติเหตุในชุมชน/มาตรการองค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยของคน” นายศรีสุวรรณ กล่าว
นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า เครือข่ายสุขภาวะชุมชน มีเครือข่ายกระจายทั่วประเทศและเป็นพลังสำคัญ มีความใกล้ชิดและเข้าถึงชุมชน หากหนุนเสริมองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนที่เข้มแข็ง จะทำให้แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี โดยจะเสริมพลัง 2 ส่วน 1. วิเคราะห์ความเสี่ยง-อุบัติเหตุ สู่การวางแผนแก้ไขปัญหาของพื้นที่ 2. เสริมเทคนิคแนวคิดใหม่ สร้างมาตรการลดอุบัติเหตุ ด้วยแนวคิดใช้พื้นที่เป็นฐาน รวมถึงเสริมองค์ความรู้ และเครื่องมือ การจัดการท้องถิ่นชุมชนถนนปลอดภัย 4 ขั้นตอน 1. ก่อตัว สร้างกลไกคนทำงานระดับพื้นที่ตัวจริง 2. หา และวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องโดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม 3. ลงมือทำนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในระดับพื้นที่ 4. ประเมินผลสะท้อนผลลัพธ์การทำงานนำไปสู่การพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น