‘สานพลัง สร้างเครือข่าย’ สู่ชุมชนสุขภาวะยั่งยืน
ที่มา : ข่าวสด
แฟ้มภาพ
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพ นับว่าเป็นเรื่องสำคัญในการต่อยอดการเรียนรู้ รวมไปถึงการขับเคลื่อนงานของภาคีด้าน สุขภาวะ เพื่อร่วมกันสานงานและเสริมพลังเครือข่าย จนมาไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน
จัดการประชุมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 แล้ว สำหรับการประชุมวิชาการประจำปี 2561 "สร้างคน สร้างงาน สร้างสุข สานพลังที่ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน" และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายความร่วมมือและพัฒนานโยบายสาธารณะในระดับพื้นที่ เพื่อกำหนดทิศทางและกลไกการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะในพื้นที่ภาคใต้ โดยเป็นความร่วมมือของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรอ.ม.อ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการกองทุน สสส. ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะว่า ต้องคำนึงถึงการจัดการเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่ช่วงอยู่ในครรภ์ เกิด วัยรุ่น/วัยทำงาน จนถึงวัย ผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน
"งานที่ สสส.สปสช.สจรอ.ม.อ. และภาคีเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนในครั้งนี้ ตรงกับภารกิจของทางรัฐบาลที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ให้ประชาชนเข้าถึงงานบริการของทางภาครัฐอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นการพัฒนาสู่การมีสุขภาวะที่ดี จะต้องคำนึงถึงอย่างน้อย 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การทำงานแบบ 2 มิติ โดยต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการวางแผนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน 2. คำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นหลัก 3. บูรณาการหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อการทำงานที่ประสบความสำเร็จ 4. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมกันอุดช่องว่างและข้อจำกัดที่เกิดขึ้น 5. มองที่ผลสัมฤทธิ์ 6.สร้างการรับรู้ร่วมกับสื่อมวลชน และสื่อต่างๆ การจัดงานวิชาการที่มีเรื่องการขับเคลื่อนสังคมเป็นหลัก นับเป็นเรื่องดีที่ทำให้เกิดการสานพลัง ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน" รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการกองทุน สสส. กล่าว
ด้าน นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตร์ รองประธานกรรมการกองทุน สสส. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคใต้ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพอย่าง ต่อเนื่อง จนเกิดองค์กร กลุ่มและภาคีความร่วมมือต่างๆ จนนำมาสู่การจัดเวทีสานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ โดยขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะของภาคใต้ในเชิงพื้นที่และเชิงนโยบาย
"เพื่อการสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะภาคใต้ให้มีความต่อเนื่อง สสส. สจรอ. ม.อ. และองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ ภาคใต้ จึงร่วมกันดำเนินงานจัดงานสร้างสุขภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา โดยมีแกนนำภาคีเครือข่ายกว่า 1,500 คน เข้าร่วมการประชุมวิชาการในครั้งนี้" นพ.วีระพันธ์กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับการประชุมวิชาการ ฯ มีการนำเสนอผลการดำเนินงานขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ 4 ประเด็นหลัก คือ 1. ความมั่นคงทางมนุษย์ 2. ความมั่นคงทางสุขภาพ 3. ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4. ความมั่นคงทางอาหาร โดยมีการนำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายระดับพื้นที่ของ 8 ประเด็นย่อย นำไปสู่การขับเคลื่อนระดับนโยบายต่อไป ได้แก่ 1. สันติสุขภาวะชายแดนใต้ และการแพทย์พหุวัฒนธรรม 2. ความมั่นคงทางสุขภาพและเขตสุขภาพ 3. เกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืน 4. การจัดการภัยพิบัติ 5. สุขภาวะเด็ก เยาวชน ครอบครัว 6.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว 7. ความมั่นคงของมนุษย์ การจัดการปัจจัยเสี่ยง 8. ชุมชนน่าอยู่ นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมนำเสนอผลงานวิชาการ การจัดแสดงนิทรรศการ และลานเสวนา รวมถึงการถ่ายทอดสดของทีมสื่อชุมชนภาคใต้อีกด้วย
ในส่วนของประเด็นย่อยเรื่องการจัดการปัจจัยสี่ยง เพิ่มทักษะศักยภาพในชุมชน เพื่อสามารถจัดการตนเองได้ เรื่องการลดปัจจัยเสี่ยงด้านท้องไม่พร้อมในเยาวชน โดยระบบสุขภาพกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล นำเสนอโดย กลุ่มแกนนำสตรีบ้านทุ่งมะขาม ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา พบว่า จากการเก็บข้อมูลบ้านทุ่งมะขาม ในตำบลคูหาใต้ มีความเสี่ยงด้านท้องไม่พร้อมในเยาวชนเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ กลุ่มแกนนำสตรีบ้านทุ่งมะขาม ตระหนักและห่วงใยปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริม ตำบลทุ่งมะขาม จัดทำเรื่องป้องกันการท้องไม่พร้อมในกลุ่มเด็ก เยาวชน รวมทั้งแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูกลุ่มที่ตั้งครรภ์หรือคลอดแล้ว ฝึกอบรมให้ความรู้แก่เยาวชนเรื่องท้องไม่พร้อม สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทของหญิงและชาย การคุมกำเนิดที่ถูกวิธี และการให้คำแนะนำเพื่อป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม จากการดำเนินงาน ทำให้เยาวชนมีทัศนคติ ภูมิคุ้มกันที่ดีเกิดกลไกให้ความช่วยเหลือแนะนำ เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ และเกิดแกนนำ ใจเกินร้อยในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน
ขณะที่เรื่องการลดปัจจัยเสี่ยงด้านการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ นำเสนอโดย คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอสวี จ.ชุมพร จากการสำรวจสถานการณ์ปัญหาการ ดื่มเหล้าของประชาชนในพื้นที่ พบว่า ประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่เป็นวัยทำงานที่ดื่มแอลกอฮอล์ จึงเกิดผลกระทบทางสุขภาพเป็นหลัก นอกจากนี้ มีแนวโน้มของผู้ติดสุราเป็นกลุ่มวัยเรียน วัยรุ่น ส่งผลให้เกิดการขาดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ สมองเสื่อม รวมถึงปัญหาทางศีลธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จึงรณรงค์และจัดกิจกรรม เพื่อลดจำนวนการดื่มเหล้าของประชาชน โดยเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และคนชุมชนต้องมีส่วนร่วมกันปฏิบัติ ในรูปแบบชุมพรโมเดล (3 ส. 5 ช.) ประกอบด้วย 1. ส่วนหนุนเสริมเติมเต็ม เพื่อสร้างนโยบายที่เอื้อต่อการดำเนินงาน ผลักดันในระดับจังหวัด 2. ส่วนสนับสนุน เชื่อมประสานทั้งแนวดิ่งและแนวราบ บังคับใช้กฎหมายและพัฒนาชุมชน 3. ส่วนปฏิบัติการ สำรวจวิเคราะห์ ทำฐานข้อมูลในชุมชน สร้างการมีส่วนร่วม โดยมีหัวใจหลักของระบบทำงานคือ คนทั้ง 5 ช. ประกอบด้วย ชู ชง ช่วย เชียร์ ชิม
สำหรับเป้าหมายในระยะ 3 ปีของเครือข่ายด้านการลดปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ภาคใต้ คือ ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบในชุมชนให้เหลือ ร้อยละ 20 เกิดกลไกการขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และสร้าง เครือข่ายด้านการลดปัจจัยเสี่ยง 14 จังหวัดภาใต้ให้เข้มแข็งสามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพได้ ด้านข้อเสนอประเด็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่ทางเครือข่ายฯ เสนอต่อ สสส. คือ ให้กำหนดโครงสร้างหรือกลไกการทำงานระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่าง สสส. กับภาคีเครือข่ายได้ง่ายและสะดวกขึ้น ส่วนด้านการติดตามประเมินผลให้เน้นการใช้กระบวนการที่เหมาะสมกับชุมชน
การทำงานขับเคลื่อนประเด็นสังคมและชุมชน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งฝ่ายบริหารรวมไปถึงคนในชุมชน เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีรอบด้านให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน