สานพลัง บวร.ร. สู่ชุมชนสุขภาพดีไร้โรค NCDs

ที่มา : เดลินิวส์


สานพลัง บวร.ร. สู่ชุมชนสุขภาพดีไร้โรค NCDs thaihealth


แฟ้มภาพ


สานพลัง บวร.ร. (บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล) สู่ชุมชนสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ปลอดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปรับพฤติกรรมการบริโภคอย่างเหมาะสม ช่วยลดภาระการรักษาพยาบาลและรายจ่ายของประเทศ


ภก.วีระชัย นลวชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานเปิดงานสัมมนา เรื่อง สานพลัง บวร.ร. สู่ชุมชนสุขภาพดีอย่างยั่งยืน และให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า การดำเนินงานโครงการชุมชนสุขภาพดี Health For All ปี 2561 หรือ บวร.ร (บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล) นี้ มีสาเหตุมาจากสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ


โดยขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม มากเกินความต้องการของร่างกายเป็นระยะเวลานาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องการเห็นคนไทยทุกชุมชนมีสุขภาพดี จึงจัดทำโครงการชุมชนสุขภาพดี (Health For All) ขึ้น เพื่อมุ่งเน้นให้ความรู้แก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยนพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคแบบเชิงรุกให้เข้าถึงชุมชน


ทั้งนี้มีชุมชนนำร่องเข้าร่วมทั้งสิ้น 4 ชุมชน ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ชุมชนบ้านทุ่ม จ.ขอนแก่น ชุมชนนาก่วมเหนือ จ.ลำปาง ชุมชนโพหวาย จ.สุราษฎร์ธานี และชุมชนเปรมประชาคม หมู่ 2 ต.พระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยมีแกนนำของชุมชน (บวร.ร. – บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล) เป็นหลักในการรณรงค์ให้ความรู้ด้านการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีรสชาติ หวาน มัน เค็ม ในปริมาณที่เหมาะสม เน้นการอ่านและใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนฉลาก เช่น สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” หรือ Healthier Choice ในรูปแบบสื่อความรู้และวิดีโอตัวอย่างเกี่ยวกับการปรุงอาหารเมนูสุขภาพลด หวาน มัน เค็ม รวมทั้งอุปกรณ์เกมความรู้การบริโภคอาหารปลอดภัยมอบให้แก่ชุมชน จากนั้นแกนนำ บวร.ร. ของชุมชนก็ได้นำความรู้ไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมต่อบริบทชุมชนของตนเอง


จากการลงพื้นที่และติดตามผลการดำเนินงานใน 4 ชุมชนนำร่องดังกล่าว พบว่า คนในชุมชนมีการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารได้อย่างเหมาะสม ใส่ใจการอ่านฉลากก่อนบริโภค รวมทั้งเกิดความร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชน ร้านค้าต่าง ๆ วัด โรงเรียน และโรงพยาบาล รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อลดโรค NCDs และเพื่อให้การดำเนินโครงการสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น


อย.จึงได้ร่วมมือกับคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ในการติดตามและประเมินผล 4 ชุมชนในจังหวัดนำร่องดังกล่าว และพบว่า ประชาชนในชุมชนตระหนักถึงสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ความดัน ไขมัน เบาหวาน ฯลฯ และใส่ใจการบริโภคของตนเองมากขึ้น ลดอาหารรสจัด ลดการปรุงผงชูรส หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและขนมกรุบกรอบ เปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าบริโภค รวมทั้งเลือกซื้อสินค้าที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) มากกว่าสินค้าทั่วไป


นอกจากนี้ ยังพบว่ากลไก บวร.ร. อันประกอบด้วยเครือข่าย บ้าน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นแนวทางการดำเนินงานที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานในชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของการดำเนินโครงการภายในชุมชนในแบบของตนเอง ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ที่ต่างกัน โดยแต่ละจังหวัดมีกลยุทธ์การดำเนินงานในลักษณะต่าง ๆ ทั้งแทรกซึม พุ่งเป้า ดาวกระจาย แตกต่างกันไปตามบริบทชุมชน


ทั้งนี้ อย. จะยังคงดำเนินโครงการชุมชนสุขภาพดีนี้ ในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป เพื่อให้ครอบคลุมไปยังจังหวัดต่าง ๆ มากขึ้น ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีพฤติกรรมการบริโภคอย่างเหมาะสม ส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศในการรักษาพยาบาลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs ในระยะยาวได้อีกด้วย


อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงการชุมชนสุขภาพดีนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 อย.ยังคงให้มีการดำเนินงานของทีมจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง ได้มีการต่อยอดกิจกรรมจิตอาสาชุมชนด้วย โดยนำกลุ่มจิตอาสาชุมชนที่เคยได้รับรางวัลจาก อย. เมื่อปี 2560 เป็นจิตอาสาชุมชนดีเด่นมาทำงานขยายผลต่อจำนวน 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนหนองอีบุตร จ.กาฬสินธุ์ , ชุมชนกุดขอนแก่น จ.ขอนแก่น , ชุมชนวังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ , ชุมชนชอนสมบูรณ์ จ.ลพบุรี , ชุมชนโมคลาน จ.นครศรีธรรมราช และชุมชนกุดชุม จ.ยโสธร โดยมี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ และแกนนำชุมชนในพื้นที่ ช่วยขับเคลื่อนโครงการ ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีด้านการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน อีกทั้งเป็นการขยายผลจากชุมชนหนึ่งไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code