สานพลังแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เชิงรุก ชูต้นแบบรถไฟฟ้า EV ลดเผาไหม้ 30 พื้นที่ทั่วไทย

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    ปลายปี วิกฤตฝุ่น PM 2.5 พุ่ง! กระทบสุขภาพ พบป่วยแล้วกว่า 12 ล้านคน สสส. สานพลัง ทส. – ก.พ.ร. – BOI สร้างความร่วมมือเชิงรุกกับภาคเอกชน แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ผ่านสิทธิพิเศษทางภาษี มุ่งลดการเผาไหม้ 30 พื้นที่ทั่วประเทศ ชูต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง EV Conversion ลดฝุ่น เร่งดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดให้เป็นรูปธรรม สู่การบังคับใช้ได้จริง ภายในปี 68


                    วันที่ 31 ธ.ค. 2567 ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวในงานประชุมหารือการขับเคลื่อนข้อเสนอการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ว่า สสส. เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในระยะยาว จึงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ผ่านแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลาย เพื่อสร้างคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ลดผลกระทบต่อสุขภาพ และส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมที่มีคุณภาพอากาศและสุขภาพที่ดี โดยมุ่งเน้นลดการเผาไหม้ 30 พื้นที่ทั่วประเทศ เช่น พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่นาข้าว พื้นที่อ้อย และพื้นที่ไร่ข้าวโพด รวมถึงเน้นย้ำมาตรการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน และชุมชน ซึ่งแนวทางดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยลดมลพิษ แต่ยังส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย


                    ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า “ข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ ล่าสุด เดือน พ.ย. 2567 ของ Health Data Center (HDC) พบว่า ปี 2567 ทั้งประเทศมีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศกว่า 12 ล้านคน ที่ผ่านมา สสส. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน 4 ด้าน 1.เสนอนโยบายและสนับสนุนการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การแก้ปัญหาฝุ่นละอองอย่างเป็นระบบ 2.สร้างสรรค์งานวิชาการ ด้วยการพัฒนางานวิจัยและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ 3.หนุนเสริมภาคประชาสังคม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เชิงพื้นที่ 4.สื่อสารสังคมและรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในสังคมผ่านการเผยแพร่ข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีโครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง(หลวง) ที่ทำงานร่วมกับสภาลมหายใจและภาคีเครือข่ายจัดการปัญหาฝุ่นเชิงรุกในพื้นที่ พร้อมสร้างต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง EV Conversion ลดฝุ่น เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบบูรณาการ และช่วยลดผลกระทบทางสุขภาพประชาชนได้อย่างตรงจุด”

                    นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 68 มีสาระสำคัญครอบคลุมการลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาด และสนับสนุนการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ร่วมกับ สสส. และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมทุกมิติและเกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ โดยการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน และหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ปัจจุบัน BOI มีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ผ่านสิทธิพิเศษทางภาษี สำหรับผู้ลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน เช่น การสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อการจัดการไฟป่า หรือการสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นพื้นที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้เกิดผลจริง เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย


                    นายปรพล อดิเรกสาร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการที่ประชาชนในพื้นที่ หรือเรียกว่า ด่านหน้า เฝ้าระวังและจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยยกตัวอย่างความสำเร็จของเครือข่ายในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งกลุ่มไลน์ เพื่อสื่อสารข้อมูลและแจ้งเตือน ช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสนอให้มีการลงมือแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยไม่รอความสมบูรณ์แบบของนโยบายหรือมาตรการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ทันที และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5

 

Shares:
QR Code :
QR Code