สานพลังเยาวชน หนุนต้นกล้ารุ่นใหม่ รู้ทันปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งานเสวนา “เยาวชน ร่วมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสุขภาพดี สังคมดี เริ่มที่ตัวเราเอง” วันที่ 21 ตุลาคม 2566
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
สังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อาจทำให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรปัจจัยเสี่ยงง่าย โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ สารเสพติด รวมถึงการตกเป็นเครื่องมือทางการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากค่านิยมการดื่ม สูบ และเริ่มมีการใช้กัญชาเพื่อกิจกรรมนันทนาการสังสรรค์ หากไม่ตระหนักรู้ทันอาจนำมาสู่ความรุนแรง และการก้าวพลาดของเยาวชน
“…สื่อโฆษณาออนไลน์ จาก Influencer โฆษณาตามกิจกรรมต่าง ๆ กีฬา เทศกาลดนตรี ซีรีย์ คือ ปัจจัยสำคัญ มีผลต่อกระบวนการตอบสนองของผู้บริโภค ที่ทำให้เกิดการดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น…”
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ระบุว่า มีนักดื่มหน้าใหม่เป็นเด็กและเยาวชนอายุ 15-19 ปี และ 20-24 ปี มากถึงร้อยละ 30.8 และร้อยละ 53.3 ตามลำดับ โดยเกิดจากสื่อโฆษณาที่ควบคุมได้ยาก อันเกิดขึ้นเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ และเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้องต่อมา
นายพิทยา จินาวัฒน์ คณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. กล่าวในช่วงพิธีเปิดงาน YSDN Open House 2023 เทศกาลสร้างสุข สร้างสรรค์สังคม Festival of Happiness and Social Creativity ณ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน
จากการมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังภาคีเครือข่ายฯ จัดงาน “YSDN Open House 2023 เทศกาลสร้างสุข สร้างสรรค์สังคม Festival of Happiness and Social Creativity” เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน
ต้องยอมรับว่า ขณะที่ความเจริญด้านเทคโนโลยีพัฒนาแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การเข้าถึงสื่อโฆษณาก็มีช่องทางมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ทำให้สื่อโฆษณาแอลกอฮอล์ เข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่ายกว่าเดิม ไม่เพียงแค่นั้นยังมีนักดื่มผู้หญิงรวมอยู่จำนวนมิใช่น้อย
จึงนำมาซึ่งงานเทศกาลสร้างสุข สร้างสรรค์สังคม YSDN Open House 2023 ของบรรดาแกนนำเครือข่ายเยาวชนรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงจากทั่วประเทศจำนวน 300 คน เดินทางเข้ามาร่วมทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ร่วมกับ สสส.เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรม นำไปสู่การป้องกันการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ และเพื่อการสร้างสุขภาวะดี 4 มิติ ให้กับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต่อไป
สอดรับกับ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกย้ำว่า การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค NCDs คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และกลุ่มโรคมะเร็ง ที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดอีกด้วย
ขณะเดียวกันด้านสุขภาพจิต ยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคซึมเศร้าอีกด้วย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในปัจจุบันที่ทางกระทรวงสาธารณสุขมุ่งมั่นหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้
“การปรับเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรมลดปัจจัยเสี่ยง ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมออกแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อสังคมของเด็กและเยาวชน การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ทำให้เยาวชนมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ช่วยลดความเครียด เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง จนนำไปสู่การลดละเลิกปัจจัยเสี่ยง ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ได้อีกด้วย” นายวิชาญ กล่าว พร้อมขอฝาก สสส. ซึ่งมีองค์ความรู้ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงให้ความคิดอ่านในการรณรงค์ เป็นผู้ให้การสนับสนุนเครือข่ายที่เข้มแข็งในอนาคตได้ ต่อไป…
ภายในงาน ยังมีมีเวทีเสวนา “สุขภาพดี สังคมดี เริ่มที่ตัวเรา” เต็มไปด้วยบุคคลสร้างแรงบันดาลใจมากมาย อาทิ หยก อชิรญาภรณ์ กำใจบุญ นักกีฬาวอลเล่ย์บอลหญิง เยาวชน ทีมชาติไทย, แอนน่า กลึคส์ – บอส ชนกันต์ พูนศิริวงศ์ ดารานักแสดงช่อง 7 และ นายธันวา พานิช แกนนำเยาวชนเครือข่าย YSDN ขึ้นมาพูดสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงให้กำลังใจทุกคน อย่าหลุดจากเป้าหมายแห่งจากความฝันความตั้งใจของตัวเอง
และบอกตรงกันว่า อยากให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์แบบ YSDN Open House 2023 ให้มาก ๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ ลดปัจจัยเสี่ยงได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนของแกนนำเยาวชนที่ทำงานของเครือข่าย YSDN ในแต่ละภูมิภาค บอกเล่าถึงกิจกรรมที่ทำในพื้นที่อย่างน่าสนใจ อาทิ
น้องแบงค์ จากกลุ่มวิถีศิลป์ถิ่นใต้ เครือข่าย YSDN ภาคใต้ เล่าว่า “ในพื้นที่ภาคใต้ มีปัญหาหลักเป็นเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในทุกพื้นที่ มีการแก้ปัญหาด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงดเหล้าเข้าพรรษา หรือรณรงค์ด้วยการทำป้าย สื่อต่าง ๆ ซึ่งก็ได้ผลดี เพราะบางชุมชนก็ไม่ขายเหล้า และพัฒนาเป็นชุมชนปลอดเหล้าได้เลย บางที่มีการเลิกเหล้า 100%
น้องไบรท์ จากกลุ่มบอกรักตัวเอง เครือข่าย YSDN ภาคตะวันออก เล่าว่า “ในพื้นที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากนัก แต่ตัวเองสมัครใจทำเพื่อสนับสนุนเครือข่ายองค์กรงดเหล้า โดยเฉพาะกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพที่มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ ร้องเพลง เต้น Cover Dance สามารถดึงเยาวชนในพื้นที่ให้ออกมาร่วมกิจกรรมจำนวนมากและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อาจพัฒนาไปสู่อาชีพได้ ถือว่าได้ผลที่ดีเลยทีเดียว
น้องอาร์ม ตัวแทนจากกลุ่มภาพถ่ายกาลครั้งหนึ่ง เครือข่าย YSDN ภาคตะวันตก เล่าว่า “สำหรับพื้นที่ภาคตะวันตก ปัจจัยเสี่ยงหลักจะมองไปที่กลุ่มยาวชนที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยอุดมศึกษา เราจะมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่จัดทำขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งน้องอาร์มเองเลือกอยู่ในกิจกรรมภาพถ่ายกาลครั้งหนึ่ง บนพื้นฐานของความเชื่อภาพถ่ายสามารถเก็บความทรงจำได้ หากเราย้อนกลับมาดูภาพถ่ายของเรา เราจะระลึกถึงว่า ในช่วงเวลานั้น เราทำอะไร และรู้สึกอย่างไร โดยกิจกรรมต่าง ๆ ยังได้รับความสนใจจากเยาวชนในพื้นที่เป็นอย่างดี
สสส. ให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงทุกประเภท ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กไทยวันนี้ โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี และมีคุณภาพในอนาคต พร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไป