สานพลังสังคมสุขภาวะ แก้ปัญหาสุขภาพ ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ สสส. สานพลัง ศสช. หาทางออกแก้ไขปัญหาสุขภาพ-บุคลากร เน้นย้ำไม่เพียงแต่การรักษาพยาบาล แต่ต้องควบคู่สร้างสุขภาพ-ป้องกันโรค ตอบโจทย์วิกฤต ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ สร้างคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
ในการประชุมวิชาการระดับชาติการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ ประจำปี 2567 National Health Professional Education Conference 2024 (NHPEC 2024) ภายใต้หัวข้อ: “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” จัดโดย มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย วัตถุประสงค์หลักคือ พัฒนาศักยภาพบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในระดับชาติ และระดับสากล เพื่อให้สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 17 ประเด็นพลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 (พ.ศ.2561 – 2570) กล่าวว่า ระบบสุขภาพในปัจจุบันเผชิญกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ สิงแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องพัฒนากำลังคน สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อให้เกิดกลไกหนุนเสริมระบบที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคมากกว่าการรักษาผู้ป่วย โดย สสส. มีส่วนสำคัญที่เข้าไปหนุนเสริมให้กลไกสุขภาพให้เกิดขึ้นในหลายมิติ เช่น สนับสนุนให้เกิดงานวิจัย องค์ความรู้สุขภาพที่ตอบโจทย์การลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เชื่อมภาคีเครือข่ายบูรณาการให้เกิดการขับเคลื่อนงาน คาดหวังว่าการพัฒนากำลังคน จะตอบโจทย์วิกฤตสุขภาพในปัจจุบัน และอนาคต ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
“กำลังคนมีส่วนสำคัญในการจัดการวิกฤตสุขภาพ ไม่เพียงแต่รักษาพยาบาลเพียงเท่านั้น แต่ต้องดูแลสุขภาพ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ส่งเสริมให้เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ส่งต่อไปยังครอบครัวและชุมชน ให้เกิดสุขภาพแบบองค์รวม หากประชาชนมีสุขภาพดีก็จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต งานบริการสุขภาพมีส่วนสำคัญช่วยเสริมเกราะคุ้มกันทางสังคมด้วยการดูแลความเสี่ยงด้านโรคภัยไข้เจ็บ ความพิการ สังคมสูงวัย รวมถึงขับเคลื่อนนวัตกรรม นำมาสู่การขับเคลื่อนพัฒนา และการเติบโตทางเศรษฐกิจ การแพทย์ และสาธารณสุข รวมถึงความก้าวหน้าในเทคโนโลยี การขยายอุตสาหกรรมยา อุปกรณ์และบริการทางการแพทย์” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี สังคม หรือสุ ภัยพิบัติต่าง ๆ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ นำมาซึ่งความเสี่ยงทางสุขภาพ ในขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังเผชิญกับสังคมสูงอายุและการป่วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) นอกจากนี้ประชาชนรุ่นใหม่ ก็นับว่ามีความเสี่ยงต่อภัยสุขภาพผ่านช่องทางการตลาดแบบดิจิทัล เช่น บุหรี่ไฟฟ้า หรือภัยออนไลน์ต่าง ๆ สังคมสุขภาวะถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนไทย สสส. มีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับบุคคล ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ การพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง และยั่งยืน
“ระบบสุขภาพที่มั่นคงจำเป็นต้องอาศัยกำลังคน ที่เห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง สสส. หนุนเสริมการพัฒนาผ่านโครงการขับเคลื่อนเครือข่ายพัฒนาการศึกษาวิชาชีพสุขภาพภายใต้แนวคิดการพัฒนาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 เช่น เพิ่มพูนทักษะ สร้างความตระหนักรู้ สนับสนุนองค์ความรู้ใหม่ ๆ ปัจจุบันมีบุคลากรเข้าร่วม 9 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย สัตวแพทย์ และบุคลากรอื่น ๆ ในระบบฯ รวมไปถึงอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในอนาคตเตรียมขยายไปยังวิชาชีพอื่น ๆ และเครือข่ายภาคประชาชน ให้มีความเข้าใจในบริบทของชุมชน สังคม และวัฒนธรรม ตอบโจทย์วิกฤตทางสุขภาพ และสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ความเปลี่ยนแปลงของโลก และนำพาสังคมไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคต” นพ.เฉวตสรร กล่าว
ดังนั้น การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ จึงไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อการยกระดับระบบสุขภาพของประเทศ แต่ยังช่วยสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาวอย่างยั่งยืน