สานพลังสร้าง “พลเมืองดิจิทัล” รู้ทันสื่อออนไลน์ หยุดปัญหา Child Grooming

                   ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

                   ภาพประกอบจาก สสส.

แฟ้มภาพ

                    เด็กถูกจีบในโลกออนไลน์ ภัยคุกคามที่ต้องระวัง! สสส. – มูลนิธิอินเทอร์เน็ต – พม. – ภาคีเครือข่าย สานพลังสร้าง “พลเมืองดิจิทัล” รู้ทันสื่อออนไลน์ ตั้งทีมสหวิชาชีพคุ้มครอง แก้กฎหมายเอาผิด หยุดปัญหา Child Grooming เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ   

                    เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2565 ที่ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ่ กรุงเทพฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และภาคีเครือข่าย แถลงผลสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ 2565 และเวทีเสวนาพอกันทีกรูมมิ่ง : Child Grooming ล่อลวงเด็กออนไลน์ ภัยร้ายที่ต้องจบ

                    นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนใช้สมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ขณะที่ครอบครัวและสังคม ยังไม่มีเครื่องมือหรือกลไกช่วยผู้ปกครองดูแลและสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ต้องมีคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ จัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) ทำหน้าที่เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยออนไลน์ ทำงานร่วมกับฝ่ายนโยบาย หน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กและเยาวชนที่ต้องใช้โลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

                    “การส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เชื่อว่าจะรับมือกับภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ที่กำลังคุกคามเด็กและเยาวชนได้ ฉะนั้น ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ทำงานคุ้มครองเด็ก ยังเป็นประเด็นเร่งด่วน ที่จะต้องเสริมกำลัง พัฒนาศักยภาพสหวิชาชีพ สู่การทำงานป้องกันเชิงรุก” นายอนุกูล กล่าว

                    นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชน เสนอให้ปรับปรุงกฎหมายโดยแทรกบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยฐานความผิด grooming, sexting, sextortion, cyber stalking และ cyber bullying รวมถึงจัดทำเอกสารสื่อความรู้ข้อมูลเรื่องผลกระทบจากการใช้สื่อออนไลน์ จัดอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ปี 2546 และทีมสหวิชาชีพ เช่น ครูในสถานศึกษา ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาและสถานการณ์ปัจจุบันของการใช้สื่อออนไลน์ มีการจัดกิจกรรมรณรงค์เสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ให้กับเครือข่ายเด็ก เยาวชน และบุคคลแวดล้อม กรมยังมีบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 แห่ง เป็นหน่วยงานแรกรับให้ความช่วยเหลือ คุ้มครอง สามารถแจ้งเหตุได้ที่ สายด่วน 1300 หรือแอปพลิเคชัน“คุ้มครองเด็ก”

                    นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าว ปัจจุบันเด็กและเยาวชนเผชิญกับภัยและความเสี่ยงจากการใช้สื่อออนไลน์หลากหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันกลไกกำกับดูแลความปลอดภัยในระบบสื่อ ยังก้าวไม่ทันตามความเปลี่ยนแปลงภายใต้สื่อยุคดิจิทัล โดยข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ปี 2564 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า เด็กและเยาวชน กลุ่มเจน Z อายุ 10 – 25 ปี ใช้เวลากับสื่อออนไลน์ 35 ชม./วัน ทั้งที่ปกติไม่ควรเกิน 16 ชม./วัน สสส. จึงสานพลังกับภาคีเครือข่าย พัฒนา “คน” ทุกช่วงวัยให้เป็นพลเมืองดิจิทัล รู้เท่าทันสื่อ และสร้าง “ปัจจัยแวดล้อม” ระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามออนไลน์ เช่น  การกลั่นแกล้งรังแก การติดตาม ถูกคุกคาม ถูกล่อลวง ล่วงละเมิดทางเพศ เสพติดเกม เล่นพนัน และเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตราย เพื่อป้องกันพฤติกรรมออนไลน์ที่เข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ (Grooming)

                    “สสส. มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ดีและสมดุล โดยเด็กและเยาวชนคือกลุ่มเป้าหมาย ที่เราต้องการทำให้ปลอดภัยจากสื่อออนไลน์ การสานพลังกับภาคีเครือข่าย จะเป็นกุญแจสำคัญ ทำให้เกิดกฎหมายทันสถานการณ์ในยุคโลกผันผวน หรือ VUCA World ที่ทั้งสื่อและโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดย สสส. จะร่วมผลักดันให้เกิดกลไกคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ ให้สอดคล้องกับสื่อยุคดิจิทัลรวมถึงร่วมพัฒนาเครือข่ายสหวิชาชีพขับเคลื่อนจังหวัดนำร่องรู้เท่าทันสื่อ จัดทำหลักสูตร E-Learning ขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อให้สังคมเท่าทันสื่อ ตระหนักรู้เรื่องการป้องกันภัยออนไลน์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่กำลังเติบโต มีชีวิตปลอดภัยในระบบนิเวศสื่อที่ดี” นางญาณี กล่าว

                    ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 ระหว่างเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี 31,965 คน พบว่า เด็ก 81% มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน 85% ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวัน โดยการมีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเองและใช้สื่อโซเชียลมีเดียหรือเล่นเกมอย่างหนักหน่วง อาจเพิ่มความเสี่ยงภัยออนไลน์มากขึ้นถึง 40% ตามที่ DQ Institute ระบุไว้ใน COSI report 2020 มีข้อมูลน่าตกใจว่า เด็ก 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม คนร้ายอาจพยายามทำให้เด็กเชื่อว่าตกหลุมรัก อยากคบหาเป็นแฟน ขอภาพลับ นัดพบ ละเมิดทางเพศ และถ่ายรูปข่มขู่แบล็กเมล ซึ่งเข้าข่ายเป็นพฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ (Grooming) ที่ผู้ปกครองและทุกฝ่ายต้องระวัง การสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่า เด็กประถมปลายอายุประมาณ 10 ขวบ ถูกกรูม (groom) ถึง 12 %

                    เด็ก 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร และในจำนวนนี้ 60% เป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก เด็ก 7% เซฟเก็บไว้ ซึ่งเพศชายทำมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เด็ก 4% ยังระบุว่าเคยถ่ายภาพ หรือ live โชว์ลามกอนาจารอีกด้วย

                    เด็ก 11% ถูกคุกคามทางเพศ เช่น โดนคอมเม้นท์เรื่องรูปร่างหน้าตา ขนาดของหน้าอกหรืออวัยวะเพศ ถูกขอให้พูดคุยเรื่องเพศ รับ-ส่งภาพหน้าอกหรืออวัยวะเพศ เด็ก 15% เคยทำ sex video call ซึ่งเด็กป.4-6 จำนวน 4% ระบุเคยถูกคุกคามทางเพศ และ 7% เคยแลกกล้องโชว์สยิว จึงเป็นที่น่าห่วงใยว่าเด็กอาจถูกอัดคลิปแล้วนำไปแบล็กเมลรีดทรัพย์หรือนัดพบละเมิดเพิ่มเติม จนนำไปสู่ปัญหาซึมเศร้าและอาจถึงฆ่าตัวตายในที่สุด

                    การสำรวจนี้ยังพบเด็ก 26% ถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ (cyber bullying) 11% เคยเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมาย/อันตราย 7% เล่นพนันออนไลน์ 18% จ่ายเงินเพื่อซื้อกล่องสุ่มในเกม (Loot Box, Gift Box, Lucky Box) ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการพนัน และมี 5% เคยลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เด็กยังประสบปัญหาภัยออนไลน์อื่น ๆ ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เช่น เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกติดตามคุกคาม หลอกให้ลงทุนผลตอบแทนสูง หรือโดนโกงซื้อสินค้า ฯลฯ ซึ่งมูลนิธิอินเทอร์เน็ตฯ ได้รวบรวมสถิติข้อมูลและคำแนะนำไว้ในเอกสาร “แนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ 2565” เผยแพร่ทั้งในรูปแบบของสิ่งพิมพ์และดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ต

                    ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า คนไข้จำนวนมากต้องทุกข์กับความทรงจำเลวร้ายที่รบกวนจิตใจไปตลอดชีวิต ส่งผลต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์ บางคนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตาย บางคนมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ เช่น โมโหร้าย ก้าวร้าว สืบทอดความรุนแรงให้กับคนอื่น ๆ ต่อไป หลายคนพยายามจัดการกับปัญหาด้วยการใช้ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท สุรา และยาเสพติด จนนำไปสู่ปัญหาการเสพติด และพบว่าคนไข้หลายคนแม้เข้าสู่วัยสูงอายุ แต่ยังทุกข์จากการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ หากคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียต่อสังคมคือมหาศาล แม้ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) ที่บำบัดรักษาผู้ป่วย จะมีเกินหมื่นแห่งทั่วประเทศ เชื่อว่าไม่ทำให้ปัญหาลดลง จึงเสนอให้ทำกฎหมายรองรับช่วยดำเนินคดีกับผู้ที่เริ่มมีพฤติกรรมการล่อลวงเด็กด้วยวัตถุประสงค์ทางเพศ (grooming) โดยไม่ต้องรอจนเกิดการ “ลงมือ” หรือ “ล่วงละเมิดทางเพศ”  โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหายเพราะจะสายเกินไป

                    พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า การแอบถ่ายคลิปโป๊เปลือยกิจกรรมทางเพศแล้วนำไปข่มขู่กรรโชกทางเพศ หรือที่เรียกว่า เซ็กซ์ทอชั่น (sextortion) บางทีทำโดยแฟนเก่า หรือเด็กสาวที่หลงกลเพื่อนใหม่ออนไลน์ที่แท้จริงเป็นพวกล่อลวงเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ คนร้ายมักเริ่มต้นด้วยการเข้ามาขอเป็นเพื่อนผ่านช่องทางต่าง ๆ และชวนทำกิจกรรมทางเพศผ่านทางออนไลน์ ประกอบด้วยการแลกกล้อง โชว์หวิว เธอเปิดกล้องของเธอ ฉันเปิดกล้องของฉัน คนร้ายมักเป็นฝ่ายเริ่มโชว์ก่อนเพื่อให้เหยื่อหลงกลและตกลงทำตามโดยง่าย เมื่อเหยื่อทำตาม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยเนื้อตัว อวัยวะปกปิด การเต้นยั่วยวน โชว์วาบหวิว หรือการสำเร็จความใคร่ โดยมีกล้องอยู่ด้านหน้า ทำหน้าที่ถ่ายทอดสดทั้งภาพและเสียงไปยังอีกฝั่งหนึ่ง คนร้ายจะบันทึกภาพวิดีโอ แล้วนำมาขู่ว่าจะเผยแพร่คลิป แลกกับการส่งคลิปใหม่ ๆ หรือการเรียกโอนเงินค่าไถ่ หลายครั้งที่เหยื่อกลัวเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงยอมทำตาม แต่การขู่กรรโชกมักไม่จบสิ้น คนร้ายมักจะเรียกร้องที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ขอให้ส่งภาพไปให้อีก ขอสนุกกันผ่านทางหน้ากล้องอีก ไปจนถึงการนัดพบและบังคับให้เหยื่อยอมมีอะไรด้วย

                    แน่นอนว่าหากเหยื่อหลงเชื่อก็จะนำไปสู่การสูญเสียที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพหลุดมากขึ้น เสียชื่อเสียง เสียเงิน เสียตัว เพราะไปนัดพบ ซ้ำร้ายอาจถูกอัดคลิปโดนข่มขืนกระทำชำเราหรืออะไรที่ร้ายแรงกว่าเดิม และเกิดความเสียหายทางจิตใจ คือการที่เหยื่อรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ทำผิด ถูกประจาน เกิดความหวาดระแวง และเกิดบาดแผลขึ้นในจิตใจ

                    “การป้องกันการกรูมมิ่งและการขู่กรรโชกทางเพศ ทำได้ตั้งแต่การพิจารณาเลือกรับเพื่อนออนไลน์เข้ามาในชีวิต ให้ระมัดระวังการถูกหลอกลวง แม้บางครั้งจะเป็นเพื่อนของเพื่อน ก็ควรตรวจสอบดูให้แน่ชัดเสียก่อนว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ และเป็นเพื่อนจริง ๆ หรือไม่ เมื่อรับเพื่อนแปลกหน้าแล้ว การพูดคุยและส่งรูปอะไรก็ตามควรคิดให้รอบคอบเ จำไว้ว่าไม่ควรส่งภาพส่วนตัวไปให้ใครดูทางออนไลน์ เพราะต่อให้เป็นเพื่อนรักหรือคนรักกัน วันหนึ่งเมื่อเลิกราหรือทะเลาะกัน คลิปหรือรูปภาพส่วนตัวก็อาจถูกนำมาแฉได้ทุกเมื่อแม้ว่าเพื่อนหรือคนรักเราจะไม่ได้เป็นมิจฉาชีพก็ตาม” พล.ต.ต.นิเวศน์ กล่าว

                    ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีค้ามนุษย์และคดียาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ย้อนหลังไปกว่า 10 ปี การทราบว่ามีเหตุการณ์การละเมิดทางเพศเด็กหรือไม่นั้น ต้องใช้ข้อมูลจากการถามปากคำเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายเป็นหลัก ซึ่งข้อเท็จจริงที่ทราบจากตัวเด็กผู้เสียหายเอง สอดคล้องไปในทางเดียวกันคือ ก่อนถูกละเมิดทางเพศ จะมีการพฤติกรรมสร้างความเป็นมิตร เข้ามาตีสนิทให้เด็กตายใจ หรือที่เรียกว่า Grooming ก่อนเสมอ เพื่อล่วงละเมิดทางเพศในภายหลัง โดยอาจมีเทคนิคแตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ละเมิดทางเพศเด็ก เพราะปัจจุบันอาชญากรใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารล่อลวงเด็ก ประกอบกับเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายมักไม่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือบุคคลใกล้ชิดฟัง กว่าจะรู้ก็เกิดความเสียหายอันตรายถึงชีวิต เหมือนในข่าวหลายกรณีที่เด็กฆ่าตัวตายเพื่อยุติปัญหา

                    “บุคลากรที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน จึงมีจุดเปลี่ยนในการเริ่มเปิดคดี จากเดิมใช้ข้อมูลจากการถามปากคำเด็กเป็นหลัก ปัจจุบันเป็นพยานหลักฐานจากการใช้สื่อออนไลน์ แต่ปัญหาใหญ่คือ ประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายที่บัญญัติว่าการกรูมมิ่งเป็นความผิด จึงไม่สามารถนำกฎหมายมาใช้บังคับเพื่อการป้องกันได้ การที่ต้องรอให้คนร้ายลงมือกับเหยื่อเสียก่อนจึงจะเข้าไปจับกุม ทั้ง ที่มีหลักฐานว่าคนร้ายกำลังพยายามติดต่อล่อลวงเพื่อละเมิดทางเพศเด็ก จึงถือเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ประเทศไทยควรจะต้องเร่งออกกฎหมายลงโทษคนที่ล่อลวงเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ หรือ กรูมมิ่ง (grooming) ซึ่งหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ หรือ ฟิลิปปินส์ ก็มีกฎหมายที่ล้ำสมัยในลักษณะนี้แล้ว” ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code