สานพลังสร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย ตั้งเป้า ลดสูญเสียจากอุบัติเหตุ 50% ในปี 2573
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
“อนุทิน” เปิด สัมมนาวิชาการชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 “สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย” ตั้งเป้าลดตายจากอุบัติเหตุลง 50% ในปี 73 ศปถ.-มหาดไทย-คมนาคม-สาธารณสุข-รัฐสภา-สสส.-ภาคีเครือข่าย สานพลังสร้างระบบ-เชื่อมโยงเครือข่ายแก้ไขปัญหาทุกภาคส่วน ผลักดันติดตามประเมินผล-ควบคู่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2567 ที่ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เป็นประธานการเปิดงาน สัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 “สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย” Road Safety Stronger Together พร้อมด้วย กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ร่วมการจัดงานในครั้งนี้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ปาฐกถา “ทิศทางของประเทศไทยในการสร้างความปลอดภัย” ว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญ และสวัสดิภาพในการเดินทางของประชาชนไทย จึงร่วมกับรัฐบาลทั่วโลก ประกาศทศวรรษที่สองแห่งความปลอดภัยทางถนนปี 2021 – 2030 กำหนดเป้าหมายชัดเจน เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บอย่างน้อย 50% โดยไทยได้กำหนดเป้าหมายลดอัตราผู้เสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อประชากร 1 แสนคน ภายในปี 2570 ตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 ข้อมูลจากดัชนีประเมินภาระทางสุขภาพของประชากรไทย ปี พ.ศ. 2566 พบว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในกลุ่มเด็ก และเยาวชนสูงถึง 59.52% และวัยทำงาน 28.23% ส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มรถจักรยานยนต์ และ 1 ใน 5 ของค่ารักษาพยาบาลจากผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนอยู่ในกลุ่มรถจักรยานยนต์ ส่งผลต่อตัวเลขมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 5 ปี จากอุบัติเหตุทางถนนช่วงปี 2561 -2565 กรณีการเสียชีวิตสูงถึง 613,346 ล้านบาท
“ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสานพลัง ระดมศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยทุกฝ่ายต้องมุ่งเน้น “สร้างระบบแห่งความปลอดภัย (Safe System Approach)” นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ปรับเปลี่ยนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทั้งด้านกายภาพ ด้านสังคม ด้านกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนนำผลงานวิจัย ผลงานวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนนสนับสนุนผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงาน ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดทักษะพื้นฐานด้านความปลอดภัย ควบคู่กับการสร้างกลไกด่านหน้าที่เข้มแข็ง สร้างพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชน บูรณาการการทำงาน ยกระดับการสร้างสวัสดิภาพการเดินทางที่ปลอดภัย สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และครอบคลุมมาสู่ระดับชุมชนท้องถิ่น ลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” นายอนุทิน กล่าว
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน กล่าวปาฐกถา“กลไกรัฐสภาหนุนเสริมพลังความปลอดภัยทางถนน” ว่า การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ และสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ถือเป็นวาระแห่งชาติและรัฐสภาไทยที่ต้องมีบทบาทในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาจะต้องร่วมขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยทางถนนผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ โดยเฉพาะเรื่องการออกกฎหมายที่สำคัญ และติดตามผลการดำเนินการของรัฐบาล ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีความต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยทางถนนของไทยให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และสอดคล้องตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2565 – 2570
“รัฐสภาไทยถือเป็นรัฐสภาแห่งที่ 3 ของโลกที่ขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นทางการ ต่อจากประเทศอังกฤษ และประเทศออสเตรเลีย โดยมีคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกัน และลดอุบัติเหตุ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ครอบคลุมหลายด้าน ได้แก่ คน รถ และถนน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ คณะกรรมการฯ มีความมุ่งมั่นที่จะลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทย โดยเน้นความสำคัญของการปรับปรุงกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัยในรถสาธารณะ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอุบัติเหตุในไทยได้อย่างครอบคลุม” นายพิเชษฐ์ กล่าว
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผลสำรวจอายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 ของ www.worldometers.info พบว่า ประเทศไทยมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่อันดับที่ 78 ของโลก โดยภาพรวมอายุคาดเฉลี่ย 76.56 ปี ซึ่งผู้ชายจะมีอายุสั้นกว่าผู้หญิงเกือบ 9 ปี ข้อมูลจำนวนการตายจำแนกเพศ และกลุ่มอายุ ในช่วงปี 2565 จากฐานข้อมูลการตาย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 164,720 ราย แบ่งเป็น ผู้ชาย 115,161 ราย และผู้หญิง 49,559 ราย ซึ่งอุบัติเหตุทางถนนเป็น 1 ใน 3 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทย โดยผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มอายุ 5-44 ปี มากถึง 9,009 คน ถึงเวลาที่ไทยจำเป็นต้องทบทวนกระบวนการ ค้นหาเทคนิค และเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงค้นวิธีการจัดการปัญหาให้ลึกถึงรากของปัญหา เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
“สสส. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานหลัก 1 ใน 15 แผนเป็นเรื่องการจัดการความปลอดภัยทางถนน กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ รวมพลังในการทำงาน ความรู้ พลังสังคม และ พลังนโยบาย ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ในทศวรรษที่ 3 ของ สสส. คือ มุ่งลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เกิดระบบแห่งความปลอดภัย (Safe System Approach) โดย เน้นในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ กลุ่มเยาวชน และวัยทำงาน ผ่านการสนับสนุนส่งเสริมการจัดการข้อมูล เทคโนโลยี และในระยะเวลา 2 ปีที่เหลือ ภายใต้แผนแม่บทฉบับที่ 5 สสส. จะร่วมผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางสำหรับเด็กและยาวชน บูรณาการการทำงานในพื้นที่เสี่ยงร่วมกับทั้ง กปถ. ววน. และเครือข่าย พร้อมเปิดโอกาสทุกภาคส่วนสังคมร่วมขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกัน (Synergy) เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ถึงเป้าหมายในอนาคตอันใกล้” นพ.ไพโรจน์ กล่าว