สานพลังภาคี แสดงพลังแก้ปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม-สุขภาพประชาชน หลังพบเมืองกรุงสร้างขยะมากถึง 18% ของทั้งประเทศ

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    สสส.-กทม. สานพลังภาคีกว่า 100 องค์กร แสดงพลังแก้ปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน เน้นจัดการขยะที่ต้นทาง ผ่านเครือข่าย BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม-สุขภาพประชาชน นำร่องเขตปทุมวัน พญาไท หนองแขม หลังพบเมืองกรุงสร้างขยะมากถึง 18% ของทั้งประเทศ

 

                    เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2566 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 (เสาชิงช้า) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แผนงานคนไทย 4.0 และสมาคมโรงแรมไทย จัดกิจกรรม “BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม” เพื่อแสดงพลังองค์กรภาคีทุกภาคส่วน กว่า 100 องค์กร ที่ต้องการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการขยะที่ต้นทาง ส่งเสริมให้องค์กร/หน่วยงานและสาธารณชนตระหนักถึงปัญหาขยะและมีส่วนร่วมลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทางโดยเรียนรู้ผ่านองค์กรต้นแบบ

                    นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แต่ละปี กทม. ต้องใช้งบประมาณจัดเก็บขยะถึง 8,000 ล้านบาท มากกว่างบด้านจัดการศึกษาถึง 2 เท่า หากจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพจะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้มากขึ้น ซึ่ง กทม.ไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง เป็นเรื่องดีที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดงาน BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญ “ไม่เทรวม” แสดงถึงพลังขององค์กรต่างๆ ที่สามารถจัดการขยะโดยลด คัดแยกขยะที่ต้นทาง และนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายวิธี ทั้งขยะรีไซเคิลและขยะเศษอาหาร ซึ่งจะช่วยลดขยะที่นำไปกำจัดได้ โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดโดยองค์กรหลักของสังคม ได้แก่ โรงเรียน วัด ชุมชน อาคารสำนักงาน และโรงแรม และจะได้ขยายไปยังห้างสรรพสินค้า ตลาด ร้านสะดวกซื้อ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ต่อไป

                  ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาเรื้อรังของไทยมายาวนาน ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะช่วงระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ขยะติดเชื้อและขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและสุขอนามัยประชาชน ตลอดจนมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก สารพิษในสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของน้ำชะขยะสู่แหล่งดิน แหล่งน้ำ และย้อนกลับมาก่อปัญหาสุขภาพของประชาชน จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปี 2564 ไทยมีขยะมูลฝอยรวมกว่า 24.98 ล้านตัน และกรุงเทพมหานคร สร้างขยะมูลฝอยสูงถึง 12,214 ตันต่อวัน คิดเป็น 18% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งประเทศ สสส. จึงสานพลังกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะมูลฝอย สร้างพื้นที่ต้นแบบคัดแยกขยะ ต่อยอดการคัดแยกให้สมบูรณ์ครบวงจร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งเสริมให้แหล่งกำเนิดในพื้นที่นำร่องมีระบบลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพราะสิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน

                    “สิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 7 ประเด็นหลักที่ สสส.ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานในทศวรรษนี้ มุ่งเน้นเป็นตัวกลางสานพลังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ ท้องถิ่น การเข้ามาร่วมขับเคลื่อนจัดการปัญหาขยะของ กทม. ซึ่งสร้างขยะมากที่สุดในประเทศ จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างต้นแบบ 3 เขตนำร่อง แล้วขยายต่อให้ครอบคลุมทุกเขตของ กทม. ก่อนเคลื่อนต่อในเทศบาลใหญ่ๆ ทั่วประเทศต่อไป” ดร.สุปรีดา กล่าว

                    รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ร่วมโครงการจัดการขยะที่ต้นทาง กับกรุงเทพมหานคร และ สสส. พัฒนาเขตนำร่องจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืน 3 เขต คือ ปทุมวัน พญาไท และหนองแขม มีเป้าหมายพัฒนาระบบการเก็บขยะแบบแยกประเภทร่วมกับสำนักงานเขต มีระบบฐานข้อมูลกลาง ส่งเสริมให้แหล่งกำเนิด อาทิ โรงเรียน วัด ชุมชน โรงแรม อาคารสำนักงาน รวม 84 องค์กรในเขตปทุมวันและหนองแขม ลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะในพื้นที่ นอกจากนี้ โครงการฯ ได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนสวนต้องก้าว และบริษัท เจเนซิส เอ๊กซ์ จำกัด พัฒนาต้นแบบจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ หรือ Black Soldier Fly (BSF) ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กทม. โดยคาดหวังว่าโครงการนี้ จะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ดำเนินการลดขยะที่ต้นทางมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระในการจัดการขยะที่ปลายทางของกรุงเทพมหานครและส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

                    ภายในงาน มีการเสวนา “มหานครปลอดขยะ เป็นจริงได้อย่างไร” การเรียนรู้ประสบการณ์จัดการขยะที่ต้นทางจากองค์กรต้นแบบ ทั้งโรงเรียน โรงแรม ชุมชน วัด และอาคารสำนักงาน พร้อมมอบป้าย “BKK Zero Waste ไม่เทรวม” ให้กับองค์กรทั้ง 5 กลุ่ม ก่อนร่วมกันแสดงเจตจำนงขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code