สานพลังภาคีเครือข่าย สร้าง อ.เขื่องใน เมืองแห่งสุขภาวะ พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ มุ่งสร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วม สู่กลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
อ.เขื่องใน เมืองแห่งสุขภาวะ สสส. สานพลัง พชอ. พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ มุ่งสร้างการทำงานในพื้นที่แบบมีส่วนร่วม เกิดเครือข่าย พชอ.เข้มแข็งทั่วประเทศ สู่กลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ทำงานร่วมกับ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) สนับสนุนโครงการ ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับสุขภาวะประชาชนด้วยกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ 878 อำเภอทั่วประเทศ ขับเคลื่อนงานสุขภาพปฐมภูมิ หนุนศักยภาพตั้งแต่ระดับอำเภอ สามารถสื่อสารข้อมูลสุขภาพที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน เกิดการบูรณการการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน อสม. ท้องถิ่น และโรงพยาบาล สร้างกลไกพัฒนาคุณภาพชีวิต การเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง ถ้าชุมชนมีความสามัคคี มีผู้นำที่เข้มแข็ง หากมีปัญหา ทุกฝ่ายร่วมมือ สานพลังร่วมกัน จะสามารถผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เป็นหนึ่งในอำเภอที่ขับเคลื่อนสุขภาวะในระดับอำเภอ มีจุดเด่นคือ สามารถเชื่อมประสานแต่ละภาคส่วนที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองชิ้นเล็กๆ ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ “เขื่องในเมืองแห่งความสุข” ในช่วงโควิดที่ผ่านมา อ.เขื่องในเป็นศูนย์ของโรงพยาบาลสนาม และเป็นศูนย์กักตัวในท้องถิ่นของ จ.อุบลราชธานี ได้มีการจัดตั้งกลุ่มม้าเร็ว ทั้งระดับอำเภอและระดับตำบล เพื่อเข้าช่วยเหลือทุกคนได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อการรับมือโรคระบาด จนสามารถผ่านวิกฤติมาได้ด้วยดี โดยเน้นให้แต่ละชุมชนได้บริหารจัดการแก้ปัญหาร่วมกัน สอดรับกับทิศทางของ สสส. ต่อการพัฒนา พชอ. ในอนาคต คือการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานระหว่างชุมชน เห็นถึงการแก้ไขปัญหา และนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเอง เกิดเป็นเครือข่ายพชอ.ที่เข้มแข็งทั่วประเทศ มุ่งสร้างผลสัมฤทธิผลที่แท้จริงของการทำงาน พชอ.
นายสันติพงษ์ สมศรี นายอำเภอเขื่องใน จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า พชอ.เขื่องในเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ประกอบด้วย 18 ตำบล 183 หมู่บ้าน มีประชากรกว่า 130,000 คน การทำงาน พชอ. ในพื้นที่ยึดพื้นที่เป็นฐาน โดยประชาชนเป็นศูนย์กลาง เชื่อมประสานทุกภาคส่วนขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิต แบบมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เห็นถึงความถูกต้อง และแก้ไขปัญหาร่วมกันผ่านเวที พชอ. อาทิ ลดอุบัติเหตุ บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 หลังจากได้ประเด็นที่จะต้องทำงานร่วมกัน ทุกภาคส่วนก็จะขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัว นำไปสู่การทำงานชุมชนที่เข้มแข็ง สสส. เข้ามาสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกแบบบริหารคุณภาพวิถีชีวิต สร้างสังคมสุขภาวะ จัดการกันในชุมชนได้ด้วยตนเอง ขับเคลื่อนงานในรูปแบบครอบครัว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่ยั่งยืน สร้างความสุข สร้างความภูมิใจในตัวเองในการดูแลชุมชน สู่ อ.เขื่องในเมืองแห่งสุขภาวะในอนาคต