สานพลังภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นเมืองหลวง พัฒนานวัตกรรม EV Conversion เครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล PM2.5 Open Data BKK
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. สานพลัง กทม. ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นเมืองหลวง พัฒนานวัตกรรม EV Conversion เครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล PM2.5 Open Data BKK ด้าน ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ย้ำ 4 แนวทางสู่การแก้ปัญหาลด PM2.5 ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว KICK OFF โครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มุ่งสร้างกิจกรรมหรือพื้นที่ต้นแบบขยายผลสู่วงกว้าง เพื่อลดแหล่งกำเนิด PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า PM2.5 มี 4 เรื่องสำคัญสู่การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จต่อเนื่อง 1. สร้างความต่อเนื่อง เห็นความสำคัญของความจำเป็นเร่งด่วน มาตรการทางการเรียนการสอน ทางกฎหมาย 2. การวางแผนอย่าง long – term มีแนวร่วมจากคนทุกกลุ่ม 3. เทคโนโลยี เช่น เตือนภัยฝุ่น PM2.5 แอปพลิเคชันปลูกต้นไม้ลดฝุ่น 4. Collaboration ทุกหน่วยงานต้องสร้างความร่วมมือ เช่น ติดเซ็นเซอร์แก้ปัญหาควันดำรถ
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด โรคที่ทำให้หญิงไทยเสียชีวิตอันดับ 1 และชายไทยเสียชีวิต อันดับ 2 รองจากมะเร็งตับ สอดคล้องกับข้อมูลจาก Thaihealth Watch 1 ใน 7 ทิศทางสุขภาพของคนไทยที่น่าจับตามอง ปี 2566 พบว่าผู้คนบนโลกกว่า 99% กำลังสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าสู่ร่างกาย แหล่งที่มาของ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มาจากภาคการจราจรขนส่งเป็นปัจจัยหลัก การเผาในที่โล่งของภาคการเกษตรเป็นปัจจัยรอง ดังนั้น การสานพลังเพื่อขับเคลื่อนงานลดฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เร่งพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรม สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม หากคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีกว่า 10 ล้านคน ให้ความสำคัญ ตระหนักรู้ถึงปัญหา และให้ความร่วมมือในปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดฝุ่นจากต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม PM2.5 จะลดลงได้แน่นอน
ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ เน้นลดการเผาจากภาคเกษตรและภาคขนส่ง ผ่าน 7 กิจกรรมหลัก 1. พัฒนาศักยภาพบุคลากรของ กทม. ดัดแปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้า (EV Conversion) 2. พัฒนานวัตกรรมเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล 3. พัฒนาแพลตฟอร์ม PM2.5 Open Data BKK 4. พัฒนาการออกแบบและวางแผนการปลูกต้นไม้ เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับคาร์บอนและกรองฝุ่น PM2.5 5. ส่งเสริมการเดินทางลดฝุ่น 6. ส่งต่อองค์ความรู้ สานพลังแก้ไขปัญหา PM2.5 ผ่านแพลตฟอร์ม One Blue Sky 7. จัดประกวดผลงานนวัตกรรมลดฝุ่นจากนิสิต นักศึกษา ระหว่าง มิ.ย.-ส.ค. 66 ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหา PM2.5 ลงมือขับเคลื่อนกิจกรรมที่ได้ร่วมกันคิด ออกแบบ โดยมีเป้าประสงค์หลัก การสร้างกิจกรรมหรือพื้นที่ต้นแบบที่พร้อมจะนำไปขยายผล ให้เกิดเป็น Snowball Effect ต่อไปให้ได้ นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่ให้กับองค์กร หน่วยงาน หรือผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้มีส่วนขับเคลื่อนกิจกรรมในโครงการด้วย เพราะปัญหา PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อสุขภาพของทุกคนในสังคม ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จ