สานพลังภาคีฯ ช่วย “คนไทยไร้สิทธิ” เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ นำร่อง รพ.ราชพิพัฒน์ ตรวจ DNA มอบบัตรประชาชน

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    สสส.- สปสช.- มพศ. สานพลัง กทม. Kick off รพ.ราชพิพัฒน์ นำร่องหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ค้นหา-พิสูจน์-ยืนยันตัวตน ช่วย “คนไทยไร้สิทธิ” ใน กทม. ให้เข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

                    ​เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) Kick off รพ.ราชพิพัฒน์ เป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม (DNA) พัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะพื้นที่ กทม. หนุนเสริมความรู้ให้คนทำงาน ประสานหน่วยงาน ตามกรอบบันทึกความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน 9 หน่วยงาน ได้แก่ สปสช. สสส. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยมีการส่งมอบบัตรประชาชนให้กลุ่มคนไทยไร้สิทธิ ที่ได้เข้าสู่กระบวนการตรวจ DNA เพื่อเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ต่อไป

                    ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ร่วมดำเนินงานเพื่อพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ให้กับคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยบทบาทของการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้สำรวจข้อมูลและต้นทุนการใช้บริการสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ในสถานบริการสังกัดสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย พร้อมสนับสนุนแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ การพิสูจน์ตัวตนต้องดำเนินการตามภูมิลำเนาเดิม แต่ปัจจุบันกรมการปกครองให้ประชาชนสามารถพิสูจน์ตัวตนในพื้นที่ กทม. ผ่านหน่วยตรวจสารพันธุกรรม ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งเดินทางไปที่สถาบัน กับรูปแบบการลงพื้นที่หรือใช้เครือข่ายหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจส่งให้สถาบันฯ และตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

                    “โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ นำร่องหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นแห่งแรกใน กทม. เพิ่มช่องทาง ความสะดวกให้กับการพิสูจน์ตัวตน โดยเฉพาะประชาชนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนในโซนธนบุรี ซึ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้รับการพิสูจน์ตัวตน เพื่อให้ได้รับบัตรประชาชน และสามารถมีสิทธิเข้ารับบริการสุขภาพได้” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว

                    ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สิทธิบัตรทองถือเป็นกลไกของไทย ที่ดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่มีประชากรจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้ จากปัญหาสถานะทางทะเบียน เช่น ไม่ได้รับแจ้งเกิด เอกสารบุคคลสูญหาย ส่งผลให้ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ ปัญหาเรื่องสถานะ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนไร้สิทธิ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิ การร่วมมือทั้ง 9 หน่วยงาน ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ เพื่อแก้ปัญหาสิทธิของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน

                    นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และ รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียน ส่งผลต่อชีวิตอย่างการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ สิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับซึ่งยังมีคนประสบปัญหานี้มากกว่า 500,000คน สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผลักดันข้อเสนอ นโยบายการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพผ่าน คณะทำงาน ขับเคลื่อนประเด็นการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของคนไทยไร้สิทธิจนถึงปัจจุบัน สนับสนุนให้เกิดกลไกและความร่วมมือพัฒนาสิทธิสถานะและการเข้าถึงระบบหลักประกันทางสุขภาพของคนไทยไร้สิทธิใน 9 จังหวัด กทม. ปราจีนบุรี ตราด อุบลราชธานี ศรีษะเกษ กาญจนบุรี สงขลา ตาก และสระบุรี ภายใต้ความร่วมมือของภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ ส่งผลให้มีกลุ่มคนไทยไร้สิทธิ กว่า 1,346 คน ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ เพื่อการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

                    “สสส. สานพลังภาคีฯ พัฒนาต้นแบบและกลไกการทำงาน พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคีต่าง ๆ สร้างรูปธรรมการทำงานทั้งในระดับพื้นที่ และนโยบาย นำร่อง 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล ในปี 2564 สู่ 9 จังหวัด 14 โรงพยาบาล ในปี 2566 ในการค้นหา ประสานส่งต่อ ติดตามสิทธิ เพื่อลดเวลาพิสูจน์สิทธิให้เร็วขึ้น หวังว่าการพัฒนาเครือข่ายในระดับพื้นที่ กทม. จะสร้างผลสะท้อน นำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้คนไทยไร้สิทธิได้เข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสมทั้งสุขภาพ และสังคม” นางภรณี กล่าว

                    ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สถานการณ์คนไร้บ้านในกทม. กว่าร้อยละ 30 มีปัญหาตกหล่นทางสิทธิสถานะเพราะไม่สามายืนยันตัวตนได้ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กทม. ได้นำร่องเป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ไม่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน เป็นหน่วยบริการตรวจสารพันธุกรรมที่สามารถหาความสัมพันธ์ทางสายเลือดได้ และคุ้มครองสิทธิผู้มีสัญชาติไทย แต่ขาดเอกสารยืนยันตัวตน ให้ได้สิทธิสถานะทางกฎหมายคืนมาเพื่อได้รับสวัสดิการครบถ้วน

                    นางสาววรรณา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มีหน้าที่เชื่อมเครือข่าย เติมความรู้ให้กับคนทำงาน ประสานความร่วมมือหน่วยงาน เพื่ออุดช่องโหว่ของกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน พัฒนากลไกทำงานเพื่ออำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ สร้างความยั่งยืนของการทำงาน โดยคณะทำงานคนไทยไร้สิทธิ ติดตามการทำงาน และผลักดันข้อเสนอสำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไขปัญหาร่วมกัน และเปิดช่องทางการทำงานภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้กลุ่มผู้มีปัญหาทางทะเบียน เข้าถึงสิทธิรักษา สามารถยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อ ขอทำบัตรประชาชนด้วยตนเอง เพื่อการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอย่างทั่วถึง

Shares:
QR Code :
QR Code