สานพลังภาคีสุขภาพสงฆ์ ดันนวัตกรรม “เณรกล้า โภชนาดี” บรรจุหลักสูตร ร.ร.พระปริยัติธรรม 407 แห่ง ส่งต่อความรู้ปรับพฤติกรรมตรงจุด
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
วันเด็กแห่งชาติ ปี 66 สสส. ห่วงเณรน้อย พบอ้วน 21% สูงกว่าเด็กวัยเดียวกันเท่าตัว เหตุ ฉันน้ำหวานเกิน-ผักน้อย-กิจกรรมทางกายต่ำ เร่งสานพลังภาคีสุขภาพสงฆ์ ดันนวัตกรรม “เณรกล้า โภชนาดี” บรรจุหลักสูตร ร.ร.พระปริยัติธรรม 407 แห่ง มุ่งส่งต่อความรู้ปรับพฤติกรรมตรงจุด
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 ที่วัดอาวุธวิกสิตาราม กรุงเทพฯ พระธรรมวชิรสุธี เจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม กล่าวว่า วันเด็กแห่งชาติ ปี 2566 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม ส่วนหนึ่งมีความว่า “การกระทำตนให้ห่างพ้นจากภยันตรายที่อาจบั่นทอนสุขภาวะเป็นหน้าที่สำคัญของเด็กๆ ทุกคน รวมทั้งผู้ใหญ่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อเด็กก็ต้องบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยต่อสุขภาวะของเด็ก” วัดอาวุธวิกสิตาราม สานพลัง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย 6 องค์กร จัดงานมหกรรมการสร้างสุขภาวะแก่สามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างความร่วมมือขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กว่า 407 โรงทั่วประเทศ พร้อมมอบมอบเกียรติบัตรสามเณรต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพ 14 รูป
นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาโชนาการเกินเด็กไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสามเณร พบว่าในปี 2565 สามเณรมีภาวะโภชนาการเกิน (เริ่มอ้วน และอ้วน) 21.5% มากกว่าเด็กไทยที่เริ่มอ้วนและอ้วนอยู่ที่ 10% เนื่องจากเลือกฉันน้ำปานะที่มีน้ำตาลปริมาณสูง 1.5 แก้ว/วัน ฉันผักเพียง 3 ช้อนโต๊ะ/วัน ที่สำคัญพบว่ามีกิจกรรมทางกาย 36 นาที/วัน (WHO แนะนำ 60 นาที/วัน) สะท้อนแนวโน้มปัญหาสุขภาพในระยะยาว ขณะนี้ สสส. ร่วมกับ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรม “เณรกล้า โภชนาดี” สื่อองค์ความรู้ แนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการฉันอาหารของสามเณร เพิ่มการมีกิจกรรมทางกายเสริมสร้างสุขภาพที่ดี นำร่องใน 5 โรงเรียน มีสามเณรเข้าร่วมกว่า 157 รูป
“นวัตกรรม “เณรกล้า โภชนาดี” มีพระพี่เลี้ยงคอยเป็นโค้ชเสริมการเรียนรู้ ทำให้ผลลัพธ์เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มสามเณรเป็นรูปธรรมในระยะเวลา 8 สัปดาห์ เกิดผลการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ ทั้งเลือกฉันน้ำปานะที่มีน้ำตาลปริมาณสูงเป็น 0 ฉันผักเพิ่มเป็น 9 ช้อนโต๊ะ/วัน ที่สำคัญยังทำให้เพิ่มการมีกิจกรรมทางกายถึง 51.7 นาที/วัน ผลประเมินความพึงพอใจใช้ประโยชน์และปฏิบัติได้จริงเกิน 80% สะท้อนแนวโน้มความสำเร็จในการสร้างความรอบรู้สุขภาพกลุ่มสามเณร มุ่งเป้าใช้ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่มีสามเณรศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษากว่า 34,634 รูป ภายในปี 66 เสริมการทำงานภาคปฏิบัติการในระดับพื้นที่ สนับสนุนองค์ความรู้สุขภาวะที่ดีส่งเสริมศาสนทายาทต่อไป ติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.sonkthaiglairok.com” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว