สานพลังจัดงานวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ วางระบบควบคุมสื่อออนไลน์ เลี่ยงข้อมูลแฝงเจตนาร้าย สนับสนุนการใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยในประชากรทุกกลุ่ม
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข , ภาพประกอบจาก สสส.
ครั้งแรกในไทย ! วุฒิสภา – สสส. – กรมกิจการเด็กและเยาวชน สานพลัง ภาคีเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์ จัดงานวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ ก้าวสู่ระดับสากล ห่วงหากไม่วางระบบควบคุมสื่อออนไลน์ Safety by Design เสี่ยงข้อมูลแฝงเจตนาร้าย ทำลายบุคคล – องค์กร – ประเทศ เสียหายมหาศาล
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา และคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคีเครือข่าย จัดงานประกาศความร่วมมือเพื่อร่วมกำหนดวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ สำหรับประเทศไทย (Thailand Safer Internet Day) พร้อมแสดงพลังภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมสนับสนุนการใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยในประชากรทุกกลุ่ม
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา กล่าวว่า ทุกวันอังคาร สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสากล หรือ Safer Internet Day หลายประเทศทั่วโลกจะร่วมกันเฉลิมฉลอง ส่งเสริมให้เกิดการใช้สื่อออนไลน์ปลอดภัย Safer Internet Day เกิดขึ้นครั้งแรกในสหภาพยุโรป เมื่อปี ค.ศ.2004 และขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 ประเทศ/เขตปกครอง เว็บไซต์ของ Safer Internet Day ที่ https://www.saferinternetday.org เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ แนวปฏิบัติ กิจกรรม และเหตุการณ์เฉลิมฉลองวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก เด็ก เยาวชน ครอบครัว โรงเรียน หน่วยงานของรัฐ เอกชน ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วน จะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สื่อสารสาธารณะ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้เป็นไปอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ เกิดประโยชน์สูงสุด
“เป็นครั้งแรกที่ไทยจัดกิจกรรมวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ Thailand Safer Internet Day ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เพื่อยกระดับและพัฒนามาตรฐานด้านความปลอดภัยออนไลน์ ส่งเสียงเรียกร้องไปยังทุกภาคส่วน ให้ร่วมมือกันสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัย สร้างการรู้เท่าทันสื่อให้กว้างขวางยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทยยังไม่มีคณะกรรมการจัดงานวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยเข้าร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน Safer Internet Day ในระดับสากลอย่างเป็นทางการเหมือนกับหลาย ๆ ประเทศ จึงเป็นโอกาสดีที่ปีนี้เราจะได้ร่วมเฉลิมฉลอง Safer Internet Day เพื่อให้การทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองผู้ใช้สื่ออินเทอร์เน็ตได้ก้าวสู่ระดับสากล” นายวัลลภ กล่าว
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การทำให้คนทุกช่วงวัย เป็นพลเมืองดิจิทัล รู้เท่าทันสื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามทางออนไลน์ คือเจตนารมณ์ของ สสส. ที่ต้องการสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ดีและสมดุล โดยเฉพาะภัยคุกคามที่เกิดกับเด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบาง ขณะที่ผลสำรวจ Thaihealth Watch จับตาสถานการณ์สุขภาพคนไทย ปี 2565 พบสื่อออนไลน์มีอิทธิพลกับประชาชน ทำให้เกิดข่าวลวง (Fake News) 3 ประเภท 1.ข้อมูลที่ผิด (misinformation) ข้อมูลปลอมเป็นเท็จ แต่บุคคลที่เผยแพร่เชื่อว่าเป็นความจริง 2.ข้อมูลบิดเบือน (disinformation) ข้อมูลไม่ถูกต้อง บุคคลที่เผยแพร่รู้ว่าผิด แต่มีเจตนาโกหก ต้องการหลอกกลุ่มคนที่เชื่อหรือถูกหลอกง่าย 3.ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (malinformation) ข้อมูลที่มีพื้นฐานความจริง แต่ถูกนำไปทำร้ายบุคคล องค์กร ประเทศ หากทุกหน่วยงานร่วมกันทำให้เกิดกลไกคุ้มครองที่รัดกุมได้ จะเป็นพื้นฐานที่ดีในการสร้างสังคมสุขภาวะ
“สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย ยกระดับและสร้างระบบคุ้มครองความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ตให้ทุกคนในสังคม เนื่องในวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ และยืนยันว่าจะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดระบบนิเวศสื่อที่ดีกับคนทุกช่วงวัย ทุกพื้นที่ ผ่านการจุดประกายให้เกิดเครือข่ายสหวิชาชีพตามจังหวัดต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารสุขภาวะ พัฒนาระบบ E-Learning ให้ความรู้เรื่องการเท่าทันสื่อกับคนทุกช่วงวัย สร้างสังคมที่ปลอดภัยจากการใช้สื่อทุกประเภท” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
ด้าน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภัยออนไลน์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ไม่หวังดีหรือมิจฉาชีพ มักคิดวิธีล่อลวง แสวงหาประโยชน์รูปแบบใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้เด็กและเยาวชนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับอินเทอร์เน็ต ต้องเผชิญปัญหาไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เช่น ถูกละเมิดทางเพศ ถูกคุกคาม ถูกหลอกให้ลงทุน เข้าถึงสื่อลามกอนาจาร การพนัน และความรุนแรง สร้างความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันสร้างสรรค์อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย โดยวางระบบคัดกรอง ป้องกัน เฝ้าระวัง เตือนภัย ไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงข้อมูลที่ผิดกฎหมายหรือคอนเทนต์ที่เป็นอันตราย จัดระบบคุ้มครองช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคนในสังคมรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลให้ได้มากที่สุด
“วันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ จะเป็นวันสำคัญที่ทุกภาคส่วนได้มาทบทวนร่วมกันว่าเราได้จัดระบบที่ดีที่สุดในการคุ้มครองป้องกันเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์แล้วหรือไม่ กฎหมายของเราเหมาะสมกับยุคสมัย เท่าทันกับสถานการณ์หรือไม่ เรามีตำรวจไซเบอร์ที่มีทักษะความชำนาญในการทำคดีออนไลน์และมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอ พ่อแม่มีทักษะเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล กลุ่มธุรกิจผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตและคอนเท้นท์ได้ออกแบบสินค้าและบริการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นอันดับแรก (Safety by Design) แล้วหรือไม่ ฯลฯ การจัดสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการมอนิเตอร์ติดตาม แล้วนำมาสื่อสารพูดคุยกันในวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัย เพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งในทุก ๆ ปี ” ดร.ศรีดา กล่าว