สานพลังขับเคลื่อน “กิจกรรมทางกาย” เสริมสุขภาวะประชากรโลก
ที่มา: สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
สสส. – สธ. -กทม. สานพลังขับเคลื่อน “กิจกรรมทางกาย” เสริมสุขภาวะประชากรโลก ตั้งเป้าเพิ่มกิจกรรมทางกาย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายใน 5 ปี ลดความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs ปัญหาสุขภาพอันดับ 1 เผยปี 2557 คนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs รวม 5 แสนราย
เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาสาธารณะการขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายสู่ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) และนโยบายสาธารณะ เนื่องในการโอกาสที่ สสส. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th ISPAH Congress; International Congress on Physical Activity and Public Health – ISPAH)
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ปัญหาการขาดกิจกรรมทางกาย เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ประชากรโลกเกิดความเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Noncommunicable diseases, NCDs) โดยในปี 2557 มีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรค NCDs มากถึง 36 ล้านคน หรือร้อยละ 63 ของการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มโรค NCDs มีปัจจัยเสี่ยงมาจาก เหล้า บุหรี่ อาหาร และขาดกิจกรรมทางกาย ซึ่งเป็นพันธกิจหลักสำคัญที่ สสส. เร่งผลักดันและรณรงค์ให้คนไทยปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพเหล่านี้ จากการสำรวจกิจกรรมทางกายของคนไทย ปี 2558 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลและ สสส. พบว่า คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 66.3 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 71.6 ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7
“สสส. โดยแผนกิจกรรมทางกาย มียุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญคือ ผลักดันให้คนไทยมีกิจกรรม ทางกายที่เพียงพอ โดยตั้งเป้าภายในปี 2564 คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ต้องมีกิจกรรมทางกายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และภายในปี 2562 ลดความชุกของภาวะน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยมุ่งส่งเสริมการสร้างพื้นที่สุขภาวะหรือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมทุกช่วงวัย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง สนับสนุนและสื่อสารรณรงค์การมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติได้ง่ายให้เป็นค่านิยมและวิถีชีวิต รวมถึงพัฒนางานวิชาการ/งานวิจัยกิจกรรมทางกายสู่เวทีนานาชาติ” ผจก. สสส. กล่าว
ด้าน นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า โรคNCDs เป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศ โดย 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตของคนไทยมาจากกลุ่มโรคนี้ โดยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยมากถึง 5 แสนราย ในปี 2557 และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย ทั้งในแง่ภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล และการขาดงาน เป็นต้น โดยในปี 2552 โรคNCDs ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมเกือบ 2 แสนล้านบาท
“เพื่อให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ อันจะนำไปสู่การลดการเจ็บป่วยด้วยโรค NCDs กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติ เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยทุกกลุ่มวัย ผ่านมิติต่างๆ ทั้งระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบคมนาคม ระบบผังเมือง สถานประกอบการ ชุมชน การกีฬามวลชน การสื่อสารรณรงค์ ระบบฐานข้อมูลและการวิจัย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในเร็วๆ นี้” นพ.ณัฐพร กล่าว
ด้าน นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า กทม. มีนโยบายมหานครแห่งความสุข มหานครแห่งความปลอดภัย ที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกับ สสส. และกระทรวงสาธารณสุข ผ่านการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ การบริการสาธารณสุข และจัดกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพและกิจกรรมทางกายต่างๆ อย่างทั่วถึง รวมทั้งเตรียมต่อยอดโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดีที่ร่วมดำเนินการกับสสส. รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ให้เอื้อต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของชุมชนอย่างยั่งยืน
ด้าน ศ.ฟิโอน่า บูล ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ กล่าวว่าคาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะส่งผลดังนี้ 1. ด้านการวิจัย จะช่วยเพิ่มศักยภาพการวิจัย โดยเชื่อมโยงการทำงาน และขยายงานวิจัยสู่ระดับนานาชาติ มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นระบบ และมีการจัดการฐานข้อมูลกิจกรรมทางกายเพื่อให้เกิดการนำการวิจัยไปใช้ประโยชน์ 2. การประกาศวาระด้านการทำงานกิจกรรมทางกายของประเทศไทย และดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย 9 ปี ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของ สสส. 3. เป็นโอกาสสำคัญของการสร้างพันธมิตรการทำงานในระดับนานาชาติ ขณะเดียวกันก็เห็นถึงศักยภาพ การดำเนินงานของสสส. ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมาจะพบว่า จุดเริ่มต้นการทำงานกิจกรรมทางกายในระดับนานาชาติที่สำเร็จนั้น เริ่มต้นที่ สสส. ดังนั้น การที่เลือก สสส. เป็นเจ้าภาพการประชุม ISPAH เป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย เพราะมองเห็นศักยภาพการทำงานของสสส.ในระดับชุมชน ทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อกิจกรรมทางกาย การผลักดันในระดับนโยบายที่ชัดเจน และการสื่อสารงานส่งเสริมสุขภาพที่นำมาใช้เพื่อการสื่อสารกิจกรรมทางกาย ซึ่งสามารถทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหา ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ และสร้างแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้าน ดร.ทิม อาร์มสตรอง ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายและการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จากองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า สสส.ถือเป็นภาคีร่วมกับองค์การอนามัยโลกเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นจึงมีความเชื่อมั่นในการร่วมมือกันทำงาน ส่วนตัวรู้สึกชื่นชมการทำงานสสส. ที่มีผู้เชี่ยวชาญ และองค์ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งการการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และโอกาสที่ สสส. เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม IPASH ครั้งที่ 6 นี้ ถือเป็นประโยชน์ที่จะสื่อสารเรื่องกิจกรรมทางกายให้คนทั่วไปได้ตระหนักทั้งในประเทศไทย ระดับเอเชีย และระดับนานาชาติ ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ การขยายงาน และสร้างความเข้าใจการส่งเสริมการเคลื่อนไหว และกิจกรรมทางกายออกไปกว้างขวางในอนาคตต่อไป สอดคล้องกับการทำงานขององค์การอนามัยโลกที่เดินหน้างานกิจกรรมทางกายในระดับนานาชาติ และผลักดันกิจกรรมทางกายในแต่ละประเทศให้เป็นรูปธรรม ดังที่องค์การอนามัยโลก ตั้งเป้าภายใน 9 ปีต่อจากนี้ จะเห็นภาพชัดเจนในเชิงการปฏิบัติมากกว่านโยบายเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ สสส. ในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุม The 6th ISPAH ในระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย. 2559 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เป็นประธานคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติฯ และมีกระทรวงสาธารณสุข และกทม.เป็นเจ้าภาพร่วม ภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจมากมาย มีการนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง Report Card ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดสถานการณ์กิจกรรมทางกายของเด็กเปรียบเทียบกับ 40 ประเทศทั่วโลก มีการจัดทำร่างปฏิญญาสากล(Bangkok Declaration) ที่จะนำไปสู่การผลักดันนโยบายสุขภาพโลก ขับเคลื่อนนโยบายระดับสากลด้านส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยที่ประเทศไทยได้แสดงบทบาทในการผลักดันนโยบายผ่านกลไกสมัชชาอนามัยโลกดำเนินการการจัดการประชุมคู่ขนาน (side meeting) เรื่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 69 ในเดือน พ.ค. 2559 และผลักดันการอภิบาลสุขภาพโลก (Global Health Governance) ว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ปี 2560