สานต่อเป้าหมาย พ.ร.บ.สุขภาพฯ เน้นแนวทาง ‘สร้างนำซ่อม’

ที่มา : คมชัดลึก


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


สานต่อเป้าหมาย พ.ร.บ.สุขภาพฯ เน้นแนวทาง 'สร้างนำซ่อม'  thaihealth


สานต่อภารกิจ-เป้าหมายตาม พ.ร.บ.สุขภาพฯ เน้นแนวทาง 'สร้างนำซ่อม' สนับสนุนสังคมไทย


พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า "ปัจจุบันทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการสร้างสุขภาวะและตื่นตัวเรื่องสุขภาพอย่างกว้างขวาง ในฐานะที่ผมเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติคนใหม่ ผมพร้อมสานต่อภารกิจและเป้าหมายตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่มุ่งเน้นแนวทาง "สร้างนำซ่อม" และสนับสนุนให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะอย่างแท้จริง ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยังได้ชื่นชมความสำเร็จของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิด "10 ปี พ.ร.บ.สุขภาพ แห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ" ซึ่งมีภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงานถึง 2,600 คน โดยสมัชชาสุขภาพได้มีฉันทมติใน 4 ประเด็นข้อเสนอนโยบายสำคัญ คือ 1) การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น 2) การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา 3) ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติด และ 4) การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน


"หัวใจสำคัญต่อจากนี้ คือการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะมีการเตรียมการทำงานเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละมติ ก่อนจะนำมาเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบประเด็นนโยบายทั้ง 4 เรื่อง ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัด พื้นที่ และภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป"


ทั้งนี้ รูปธรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญ คือ การประกาศใช้ "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560" เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการปฏิบัติเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพระสงฆ์ทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นผลจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 โดยคณะกรรมการเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับแรก ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพพระสงฆ์ที่มีมานานมีความเป็นไปได้และจริงจังมากขึ้น


พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยังได้รับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนแนวปฏิบัติสิทธิสุขภาพด้านข้อมูลสุขภาพของบุคคล ตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่กำหนดไว้เพื่อป้องกัน ไม่ให้มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือ เปิดเผยข้อมูลการรักษาผู้ป่วยจนทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ออกประกาศเรื่อง "แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ" เพื่อให้หน่วยงานและสถานพยาบาลทั่วประเทศปรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการใช้โซเชียลมีเดีย และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แจ้งประกาศดังกล่าว ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 2,000 แห่ง พร้อมทั้งผลิตสื่อออนไลน์เผยแพร่ทางหน้าเว็บไซต์ สช.ด้วย และขณะนี้ สช.ร่วมกับ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกร่าง "แนวปฏิบัติตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550" เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล เช่นเรื่องเวชระเบียน โดยจะเปิดรับฟังความเห็น จากหน่วยงานต่างๆ เป็นครั้งที่สอง ก่อนปรับปรุงร่างแนวปฏิบัติเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติออกเป็นประกาศต่อไป


ส่วนเรื่อง "ระบบรองรับสังคมสูงวัยด้านสุขภาพ" คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้รับทราบการดำเนินงานของคณะกรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัยที่ สช. แต่งตั้งโดยมี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธาน ซึ่งกำลังเตรียมการรับฟังข้อมูลความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัยใน 4 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคมซึ่งกำหนดแล้วเสร็จภายในกันยายน 2561 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป


พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่ออีกว่า "ปัจจุบันประเทศไทยมีกลไกการทำงานรองรับสังคมสูงวัยหลายกลไก ทั้งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และภาคส่วนต่างๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน ประชาสังคม สสส. สปสช. สช. ดังนั้น ต้องให้ ทุกหน่วยงานมาร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบการทำงานตั้งแต่ต้น เพื่อปรับยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมีแผนการดำเนินงานที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันด้วย"


ท้ายที่สุด คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้รับทราบผลการดำเนินงาน "โครงการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนภาคีเครือข่ายพลเมืองอาสาประชารัฐเสริมสร้างสังคมสุขภาวะ พ.ศ.2561-2562" เฟสแรก ในปี 2560 ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐใน 76 จังหวัด กว่า 8,500 เครือข่าย และเครือข่ายได้ช่วยเหลือผู้ได้รับความยากลำบากและถูกทอดทิ้งเกือบ 70,000 คน อาทิคนไร้บ้าน ผู้ป่วยเรื้อรัง ติดบ้าน ติดเตียง พิการ ซ้ำซ้อน รวมถึงผู้สูงอายุไร้ญาติหรือถูกทอดทิ้งคนไร้สัญชาติ และพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ เป็นต้น โดยในวันนี้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบโครงการจิตอาสาประชารัฐ เฟส 2 เพื่อเป็นการเตรียมการ หากรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้

Shares:
QR Code :
QR Code