“สัมมนาสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ 4 จ.ภาคใต้”
เร่งหาทางแก้ไข
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแรงงานข้ามชาติกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ร่วมกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที ร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแรงงานข้ามชาติกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ดึงหลายองค์กรที่ทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ 4 จังหวัด หารือเรื่องสถานการณ์แรงงานข้ามชาติด้านปลัดอำเภอระนองเสนอให้มีการจดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติแบบเสรี ขณะที่จัดหางานจังหวัดระนองแฉ ขรก.ในพื้นที่หากินกับแรงงานข้ามชาติ เตรียมใช้กฎหมายเล่นงานอย่างเต็มรูปแบบ ด้านสธ.อำเภอย้ำดูแลแรงงานข้ามชาติให้ดีเทียบเท่าคนไทยโดยไม่แบ่งเชื้อชาติ
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 28 เม.ย. 2553 ที่โรงแรมทิดีนี จังหวัดระนอง โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแรงงานข้ามชาติกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ร่วมกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมสัมมนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฏร์ธานี จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต
นายวิน ดวงแข จัดหางานจังหวัดระนอง กล่าวรายงานสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดระนองว่า เนื่องจากอาณาเขตในทิศตะวันตกของจังหวัดระนองติดกับประเทศพม่า โดยมีเส้นแบ่งเขตเป็นแม่น้ำกระบุรีและทะเลอันดามัน จึงทำให้เอื้อต่อการเดินทางเข้ามาของแรงงานข้ามชาติทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย หน้าที่ของเราคือต้องทำให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายให้ได้ แต่ปัญหาเรื่องการลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุและปัจจัยหลัก ดังนี้ 1. สภาพที่ตั้งเอื้ออำนวย เช่น ทางน้ำมีเกาะ 62 เกาะ และมีอาณาเขตทางน้ำ 91 กิโลเมตร ที่ ยากต่อการตรวจสอบ 2. ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและปัจจัยภายใน ประเทศพม่า 3. ปัจจัยการขาดแคลนแรงงาน ความต้องการของนายจ้าง ห้าหมื่นเศษ แรงงานของจังหวัดระนองมีไม่พอ และเป็นแรงงานใน ระดับล่างที่คนไม่อยากทำ และปัจจัยที่ 4 เป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ 4.ปัจจัยจากกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ ที่สร้างรายได้ให้นายหน้าเป็นกอบเป็นกำจึงทำให้หลายคนผันตัวมาเป็นนายหน้าค้ามนุษย์เสียเอง
จัดหางานจังหวัดระนอง กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ช่องทางที่แรงงานข้ามชาติมักใช้ในการหลบหนีเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย ได้แก่ ช่องทางจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งช่องทางนี้จะมีแรงงานที่หลบหนีเข้ามานั้นจะถูกนำมาพักอยู่ระนอง เพื่อรอคนนำพาไปสู่จังหวัดอื่นๆ และช่องทางท่าข้ามตามท่าเรือต่างๆ ซึ่งจุดประสงค์ในการหลบหนีเข้าเมืองก็เพื่อเข้ามาทำงานในพื้นที่ของจังหวัดระนอง หรือบางรายเมื่อขึ้นทะเบียนที่จัดหวัดระนองแล้วก็จะโยกย้ายไปทำงานที่จังหวัดอื่น หรือประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย และเมื่อแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นนี้จึงทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา ทั้งปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ปัญหาโรคติดต่อร้ายแรง ปัญหาความมั่นคงและปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติ
นายวิน กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 ให้ขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติให้อยู่ในประเทศไทยต่อไปได้นั้น ทางเราก็ได้มีการดำเนินการหลายส่วนเพื่อรองรับมติ ครม.ครั้งนี้ ซึ่งจากตัวเลขของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเรามี จำนวน 45,601 คน เป็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 42,154 คน ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 3,447 คน
ต่อมาเป็นการอภิปรายในหัวข้อ แนวทางการพัฒนาชีวิตกับแรงงานข้ามชาติ โดยนายมนัส พิศุทธกฤตยา ตัวแทนจากกลุ่มความมั่นคงจังหวัดระนอง กล่าวว่า การทำงานของเราจะครอบคลุมทั้งหมดในเรื่องของความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้หลบหนีเข้าเมือง ยาเสพติด การประท้วง และอีกหลายๆ เรื่องที่ เกี่ยวข้องของปัญหาในจังหวัดที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาระดับหนึ่งของจังหวัด ปัญหาเหล่านี้เป็นที่สนใจทั้งระดับประเทศ และระดับองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างไม่ถูกต้องนั้นมาได้ทุกทางทั้งพื้นดิน ลำน้ำ น่านน้ำ คนหลบหนีเข้ามามีทุกวัน จับได้ทุกวัน ซึ่งหากถามตนว่าเรื่องของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้องนั้นเมื่อไหร่จะหมด ตนก็ตอบได้เพียงว่าเรื่องปัญหาของเรื่องนี้นั้นเป็นเรื่องที่คงคงหมดยาก เว้นแต่ประเทศพม่าจะหมดคน
ตัวแทนจากกลุ่มความมั่นคงจังหวัดระนอง กล่าวอีกว่า ปัญหานี้ต้องอาศัยการเมืองระดับประเทศที่จะต้องพัฒนาให้ประเทศพม่าให้ใกล้เคียงกับประเทศไทย และทำให้ทั้งสองประเทศอยู่ด้วยกันได้ด้วยความสงบสุข และทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่ต้องอพยพเข้าไปในกรุงเทพฯ ซึ่งจากข้อมูลนั้นแรงงานที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายแรงงานเหล่านี้พยายามเข้าไปจังหวัดอื่นโดยใช้ จ.ระนองเป็นจังหวัดผ่าน ซึ่งด่านที่จะสกัดแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ก็มีที่จังหวัดระนองเท่านั้น ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งประโยชน์ที่มหาศาลเพราะแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาทำงานในบ้านเราได้แต่ละคนต้องเสียค่าใช้เฉลี่ยแล้ว 5,000 บาท บางครั้งคนที่เป็นข้าราชการก็ซุกซ่อนแรงงานข้ามชาติได้ 2 คน ก็รับเงินไป 10,000 บาท
“เรื่องนี้เราก็กำลังดำเนินตามกฎหมาย เป้าหมายของเราคือให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาโดยถูกต้องทำงานโดยถูกต้อง การเข้ามาโดยถูกต้องคือ เอาคนเถื่อนมาทำให้ถูก และจะวนไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าต้องทำระหว่างรัฐบาลและรัฐบาล เช่น รัฐบาลต้องการ 50,000 คน รัฐบาลพม่าก็ส่งมา 50,000 คน อย่างนี้ก็จะไม่มีแรงงานเถื่อน สิ่งที่ตามมาคือ มาดูแลสวัสดิการต่างๆ โดยถูกต้อง ปัจจุบันนี้ คือมีแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องและจ้างไม่ถูกต้อง และจะต้องถูกดำเนินคดี”นายมนัสกล่าว
นายธีรยุทธ คงคล้าย ปลัดอำเภอเมืองระนอง กล่าวว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดในเรื่องแรงงานข้ามชาติในขณะนี้ คือ เด็กที่เกิดขึ้นจากแรงงานข้ามชาติ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน เด็กที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแล้วไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ก็จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เด็กที่เกิดที่ประเทศไทยก็จะมีความผูกพันกับแผ่นดินที่เกิด สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำอย่างเร่งด่วนคือทำอย่างไรเด็กๆ เหล่านี้และแรงงานข้ามชาติต่าง ๆ ได้มาอยู่รวมกันอย่างมีความสุข เรื่องของบุคคลเป็นเรื่องของสิทธิพื้นฐานที่เราจะต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อไปให้ได้
นายธีรยุทธ กล่าวว่า สิ่งที่เราจะต้องเร่งมือทำในอันดับแรกคือเปิดเสรีในเรื่องการจดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติ เมื่อถูกก็ให้เข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ยกตัวอย่างหากฝ่ายทะเบียน เก็บเงินแรงงานข้ามชาติ 80 บาท สาธารณสุขเก็บ 1,900 บาท จัดหางานจังหวัดเก็บเงินอีก 1,900 บาท เราจะนำเงินเหล่านี้ให้เข้าสู่กระบวนการอย่างไร รัฐจะอุดหนุนหรือจะขายบัตรสุขภาพเท่าไรจึงจะเหมาะสม ทุกคนมีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ซื้อบัตรได้หรือเราจะต้องกำหนดไปเลยหรือไม่ การวางแผนครอบครัวในพื้นที่ ต้องให้ความรู้ปัญหาด้านสาธารณสุข การตรวจสุขภาพ ซึ่งจะต้องมีองค์กรในพื้นที่รณรงค์ในเรื่องเหล่านี้ต่อไป
นายปฏิเวธ เพชรทะนันท์ สาธารณสุขอำเภอเมืองระนอง กล่าวว่า บทบาทก็หนีไม่พ้นเรื่องสุขภาพ สธ. ดูแลเรื่องสุขภาพ ซึ่งเรามีหลักในการทำงานทั้งในส่วนของคนไทยและแรงงานข้ามชาติ เป็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่ทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ต้องสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติและวงศ์ตระกูล เราพยายามมุ่งเน้นให้แรงงานข้ามชาติหรือคนไทยที่อยู่ในละแวกเดียวกันในส่วนของสาธารณสุขอำเภอหลายแห่ง ให้เกิดองค์กรขึ้น มาดูแลเรื่องของแรงงานข้ามชาติ
“ ที่ผมดูแลอยู่คือ ศูนย์ ศสมช.เมือเราร่วมกันอยู่อย่างแยกกันไม่ออก จึงมีการปรับเปลี่ยนให้มีการจัดการศูนย์ ศสมช.ไทย – พม่า ในการเข้าถึงยา และเข้าถึงขบวนการในการส่งต่อผู้ป่วย และมีการจัดการส่งต่ออย่างเป็นระบบ ส่วนเรื่องการพื้นฟูสุขภาพนั้นเรา เน้นเรื่องความพิการตลอดจนการดูแล ถึงบ้านถึงชุมชน ในจังหวัดระนอง เรามีขุมกำลังสำคัญที่เราดูแล เช่น พสต.ในเครือข่ายของ พสต. ยังมี อสต.เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวมีบทบาทในการดูแลแรงงานข้ามชาติ มีส่วนในการดูแลแรงงานต่างด้าว” สาธารณสุขอำเภอเมืองระนอง กล่าว
ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Update: 30-04-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ภราดร เดชสาร