สัมผัสคลอรีนระหว่างท้องเสี่ยงต่อทารก
วิจัยพบทำให้ลูกในครรภ์เสี่ยงโรคหัวใจ เพดาโหว่ สมองพิการ 2 เท่า
หนังสือพิมพ์เดอะเดลี่เทเลกราฟฉบับออนไลน์ของอังกฤษรายงานว่ามีผลการวิจัยอันใหม่ออกมาว่าทารกที่เกิดในย่านที่มีการใช้สารคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคมาก ๆ มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เพดาโหว่ และสมองพิการมากกว่าปกติ 2 เท่าตัว
ทั้งนี้นักวิจัยระบุว่าคนที่กำลังตั้งครรภ์ที่ถูกสัมผัสกับคลอรีน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำก๊อก หรือว่ายน้ำในสระที่ผสมคลอรีน หรืออาบน้ำผสมคลอรีน หรือแม้แต่สูดดมไอน้ำเดือดที่มีส่วนผสมของคลอรีนขณะต้มมาก ๆ ทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคดังกล่าวนี้สูงกว่าปกติ
โดยนักวิจัยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์จากข้อมูลของทารกจำนวนทั้งสิ้น 400,000 คน และได้ผลการวิจัยซึ่งถือว่าเป็นการวิจัยแรกที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างของเสียที่เกิดการทำความสะอาดน้ำด้วยสารคลอรีน ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำให้เกิดสาร ไตรฮาโลมีเธนส์ (trihalomethanes) หรือ ทีเอชเอ็ม กับความพิการทางสมองแต่กำเนิด 3 ชนิดด้วย
นักวิจัยอธิบายว่าการถูกสัมผัสกับน้ำผสมคลอรีนมาก ๆ ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดรูโหว่ในหัวใจ เพดานในปาก และใน อเนนเซ็ปฟาลัส (anencephalus) ซึ่งทำให้ส่วนของสมองสำคัญบางส่วนหายไป โดยพบว่าการถูกสัมผัสกับสารทีเอชเอ็มในปริมาณมากกว่า 20 ส่วนล้านกรัมต่อลิตร ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวข้างต้นเพิ่มขึ้นระหว่าง 50 – 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับระดับความเข้มข้นที่ 5 ส่วนล้านกรัมต่อลิตร
ศาสตราจารย์ จูนิ จาคโคลา นักวิจัยจากสถาบันเวชศาสตร์อาชีวะและสิ่งแวดล้อม ของ มหาวิทยาลัยแห่งเบอร์มิงแฮมกล่าวว่าทีมนักวิจัยพบว่าจำนวนครัวเรือน 1 ใน 6 ในประเทศอังกฤษหรือประมาณ 4 ล้านหลัง มีระดับสารทีเอชเอ็มในน้ำในปริมาณที่อยู่ในระดับอันตราย
ศาสตราจารย์จาคโคลา กล่าวด้วยว่าสำหรับการทำให้น้ำสะอาดด้วยการใช้สารคลอรีนนั้นนับเป็นความสำเร็จด้านสาธารณสุขที่สำคัญเพราะสามารถช่วยกำจัดโรคที่เกิดจากน้ำได้หลายชนิด แต่การวิจัยสมัยโน้นอาจจะมองไม่เห็นถึงผลข้างเคียงอันตรายต่อความพิการแต่กำเนิดชนิดต่าง ๆ ดังกล่าวนี้
“ในขณะที่ประโยชน์ของการใช้สารคลอรีทำความสะอาดน้ำนั้นเป็นที่ประจักษ์ดีอยู่แล้วก็จริง แต่ตอนนี้จำเป็นอย่างมากที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงผลข้างเคียงอันตรายเหล่านี้อย่างละเอียด” เขากล่าว
ด้านหน่วยงานด้านน้ำประปาของประเทศอังกฤษกล่าวว่าน้ำประปาในสหราชอาณาจักรอังกฤษนั้นถือว่าได้มาตรฐานความปลอดภัยของน้ำดื่มตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก อีกทั้งถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะใช้น้ำประปาที่ผ่านการทำความสะอาดด้วยสารคลอรีนก็ตามแต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับปริมาณสารทีเอชเอ็มในปริมาณที่เท่ากันหมด
ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 05-06-51